นายกฯ ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินคุมโควิด-19 เริ่มใช้ 26 มีนาคมนี้ หวังระงับการระบาด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อแก้ปัญหาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 ระบาดหนัก โดยจะบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสที่ 26 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป สาระสำคัญของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีทั้งหมด 19 มาตรา โดยมาตรา 4 ในพระราชกำหนดนี้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน ซึ่งเมื่อประกาศใช้แล้วจะจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบ เช่นเดียวกับข้อบังคับใช้หรือมาตรการเพิ่มเติม ก็จะประกาศให้ทราบต่อไป สิ่งที่รัฐบาลจะทำหลังประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้แก่ – ตั้งสำนักงานบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน – ยกระดับการป้องกันให้สูงขึ้น – ตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญมาดูแล – มีมาตรการขอความร่วมมือหรือบังคับในบางอย่าง – เตรียมตั้งด่านจุดสกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชน – มีการเร่งรัดทำงบจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ – เตรียมเงินเพื่อเยียวยาทั้งกลุ่มประกันสังคม และผู้ใช้แรงงาน – ดูแลควบคุมไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้า