category คู่มือสำหรับคนธรรมดา ในการชมการแข่งขัน Dota 2 ให้เข้าใจและสนุกมากยิ่งขึ้น

Writer : Nokkaew

: 8 สิงหาคม 2560

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-featured

มาให้ติดตามกันแล้วกับ The International 2017 การแข่งขัน Dota 2 ครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ที่ตอนนี้มีเงินรางวัลสูงถึง 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านบาทไทย!! เป็นการแข่งขันที่เรียกว่ามีเงินรางวัลสูงที่สุดในวงการ eSports เลยก็ว่าได้

สำหรับสายการแข่งขันรอบ Groupstage ที่ทาง VALVE ประกาศก็ตามภาพด้านบนเลย โดยสามารถดูอย่างละเอียดพร้อมตารางคะแนนได้ที่ http://wiki.teamliquid.net/dota2/The_International/2017/Group_Stage

การแข่งขันจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เราก็สามารถชมถ่ายทอดได้จากบ้านเราเอง โดยในปีนี้คุณแบงค์ CyberClasher ได้ไปพากย์ไทยสดๆ ที่ขอบสนาม สามารถติดตามชมได้ที่ MineskiTV_TH เลยครับ

Watch live video from MineskiTV_TH on www.twitch.tv

ใครที่อยากลองชมสุดยอดการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ว่าไม่เคยเล่น Dota 2 มาก่อน รับรองว่างงกันชิบหายแน่นอน ไม่รู้ว่าเค้าทำอะไรกันอยู่ ลองมารู้จักกับการเล่น Dota 2 เบื้องต้นจากบทความนี้กัน จะช่วยให้ท่านดูการแข่งขันรู้เรื่องขึ้น พร้อมคุยเมาท์กับเพื่อนพอได้แน่นอน (แต่ถ้ามีเวลาก็ลองโหลดมาจิ้มๆ กับบอทก็ได้นะ)

 

รู้จักกับ Dota 2

Dota มีการอ่านที่นิยมอยู่สองแบบคือ โดต้า และบ้านเรามักจะอ่านออกเสียงว่า ดอทเอ แต่ไม่ว่าจะอ่านว่าอย่างไร ก็รู้กันว่ามันคือเกม Dota 2 นั่นเองอย่าไปซีเรียสมาก

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-1

เกม Dota 2 เป็นที่นิยมมาก ทั้งในบ้านเราและทั่วโลก ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจาก DotA ภาคแรกที่เป็นแผนเสริมที่ในเกม Warcraft III ในภาคนี้เกมมีการพัฒนาขึ้นทุกด้าน ตั้งแต่ความสมดุล กราฟฟิก การตลาด และอีกมากมาย โดยยังคงความสนุกของเกม Dota เอาไว้อยู่

และเนื่องจาก Dota เป็นเกมที่มีอายุมากกว่า 10 ปี แล้ว ทำให้มีจำนวนตัวละครในเกมเยอะมาก (100+) มีสกิลที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตัว ไอเทมสำหรับเกมแต่ละรูปแบบ มีการเล่นผสมผลานที่หลากหลาย รวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากยุ่บยับ

ซึ่งนี่แหละเป็นเหตุผลที่ถึงแม้ Dota จะเป็นเกมที่ยอดฮิต แต่มี Learning Curve สูง และถ้าไม่เคยเล่นเกมมาก่อนจะดูการแข่งขันไม่เข้าใจ

 

Dota 2 เป็นเกมรูปแบบ MOBA (Multiplayer Online Battle Arena)

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-2

Dota 2 เป็นเกมที่เล่นบนการแข่งขัน เกมจะจบเมื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในเกมประกอบไปด้วยตัวละครมากมาย โดยผู้เล่นหนึ่งคนจะบังคับตัวละครหนึ่งตัว

ตัวละครในเกมจะได้เงินแบบ Passive Income อยู่ต่อเนื่อง (ได้น้อยและช้ามาก), จะได้รับเงินและประสบการณ์จากการฆ่าตัวละครที่เป็นบอทในแผนที่, ได้รับเงินและประสบการณ์มากขึ้นไปอีก ถ้าฆ่าตัวละครของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และเมื่อทำลายสิ่งก่อสร้าง (ป้อม) ของอีกฝ่ายลงได้ ผู้เล่นทุกคนในฝ่ายเราจะได้รับเงินเพิ่ม

ถ้าเคยเล่นเกม RPG อย่าง Diablo หรือ Touch Light มาก่อนแล้ว ถือว่าคุณมีไอเดียพอที่จะรู้จักรูปแบบการเล่นแล้วแหละ แต่คราวนี้เป็นผู้เล่นสองฝ่ายบวกกันเอง

 

Dota 2 เล่นบนแผนที่เดิมในทุกเกม

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-3

ถ้าพูดถึงสนามการแข่งขันที่เป็นมาตรฐาน ลองนึกถึงกีฬาอย่างฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอลที่ใช้สนามแบบเดียวกันทุกเกม Dota 2 ก็เช่นกัน

แผนที่จะถูกแบ่งเป็นสองฝั่งเขตแดนของฝ่ายเราและฝ่ายศัตรู โดยมีแม่น้ำอยู่ตรงกลางเป็นสิ่งที่แบ่งเขตแดน ฝั่งซ้ายล่างของแผนที่เรียกว่า “The Radiant” แผนที่จะมีความสดใสสวยงาม และฝั่งด้านบนขวาเรียกว่า “The Dire” เป็นสถานที่ที่มืดมน คล้ายเป็นดินแดนแห่งความตาย ซึ่งทั้ง The Radiant และ The Dire เป็นการแบ่งฝั่งตามเนื้อเรื่องของเกม และให้ผู้ชมดูง่ายเท่านั้น ไม่มีผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบเท่าไหร่นัก

ในเกมจะมีระบบกลางวัน/กลางคืน ส่วนนี้จะมีผลกับการมองเห็นของตัวละครด้วย บางตัวเห็นขอบเขตแผนที่ได้น้อยในเวลากลางคืน เหมือนเพลง แพ้กลางคืน ของ Potato  และมีตัวละครบางตัวที่เมื่อถึงเวลากลางคืนประสิทธิภาพของสกิลจะเพิ่มขึ้นสูง คือจะออกล่าในเวลากลางคืน

 

แผนที่ในเกม Dota 2 มีทางเดินหลักสามทาง เรียกว่า “Lane”

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-4

ทางเดินหลักของแผนที่ของทั้งสองฝ่ายจะมีสามเส้นทางหลักๆ คือ

  • บน (top) วิ่งไปตามทางซ้ายบนของแผนที่
  • กลาง (mid) วิ่งไปตามเส้นทแยงมุมจากซ้ายล่างไปขวาบนของแผนที่
  • ล่าง(bot) วิ่งไปตามด้านล่างของแผนที่แล้วขึ้นไปทางขวา

ในระหว่างเลนนอกเหนือจากเส้นทางหลัก จะมีแผนที่ที่เราเรียกว่า “ป่า” เป็นที่อยู่อาศัยของมอนสเตอร์ที่จะโจมตีตัวละครเมื่อเข้าไปใกล้ๆ เมื่อผู้เล่นฆ่ามอนสเตอร์ได้จะได้รับเงินและประสบการณ์เพิ่ม ในช่วงแรกตัวละครบางตัวจะเข้าไปสิงอยู่ในป่า เพื่อหลีกเลี่ยงฮีโร่ของฝ่ายตรงข้าม เก็บเงินและค่าประสบการณ์

 

แต่ละเลนจะได้รับการป้องกันจาก Towers (ป้อม)

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-5

ทั้งสามเลนในฝั่งซ้ายจะถูกป้องกันโดย Radiant towers และเช่นกันในด้านขวาจะถูกป้องกันโดย Dire towers ในแต่ละเลนจะมีป้อมทั้งหมด 3 จุด ป้อมจะโจมตีตัวละครของอีกฝ่าย ทั้งครีป และฮีโร่ ซึ่งพี่แกยิงค่อนข้างแรง เวลาโจมตีเราจึงให้ครีปยืนชน แล้วฮีโร่จึงค่อยเข้าโจมตี

ป้อมสามารถถูกทำลายได้ และเมื่อถูกทำลายทั้งครบสามจุดในเลนนั้นๆ อีกฝ่ายหนึ่งจะสามารถเข้าโจมตี Barrack ได้ทันที และเมื่อ Barrack พังลง ครีปของอีกฝ่ายที่ทำลายได้จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

เมื่อ Barrack ทั้งสามถูกทำลายลง ครีปของอีกฝ่ายจะกลายร่างเป็นโคตรแข็งแกร่ง เรียกว่า “Mega Creeps” เป็นครีปพิเศษที่เก่งน้องๆ ฮีโร่เลยทีเดียว  และมีโอกาสสูงที่ Ancient จะถูกทำลายเป็นรายต่อไป

 

ทั้งสองฝ่ายจะมีสิ่งก่อสร้างหลัก ที่เรียกว่า “Ancient”

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-6

ฝั่ง The Radiant และ The Dire จะมีสิ่งก่อสร้างหลักอยู่ที่ด้านล่างซ้ายสุด และขวาบนสุดของแผนที่ เป้าหมายของการเล่นคือทำลาย Ancient ของอีกฝ่าย ฝ่ายไหนทำลายได้จะเป็นผู้ชนะ และเกมจะจบลงทันที

 

การแข่งขัน Dota 2 ไม่มีการกำจัดเวลา

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-9

เกมจะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่า Ancient ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกทำลายลง หรือยอมแพ้ด้วยการพิมพ์ “GG” ลงในแชทของเกม โดยส่วนใหญ่แล้วเกมจะจบลงภายในเวลาประมาณ 30-45 นาที

 

ทั้งสองฝ่ายจะปล่อย “Creeps” ออกมาจากฐาน โดยอัตโนมัติ

ภายในอณาเขตของแต่ละฝ่าย จะมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “Barracks” คอยสร้าง unit ของฝ่ายเราออกมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราเรียกมันว่า “Creep” (ครีป) โดยครีปจะลาลูกลาเมีย เดินออกมาเพื่อมุ่งหน้าสู่ฐานของศัตรู และโจมตีตัวละครของอีกฝ่ายที่อยู่ใกล้

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-8

เมื่อครีปของอีกฝ่ายถูกฆ่า ตัวละครหลักของเราจะได้ประสบการณ์จำนวนหนึ่งหลังจากที่ครีปตายลง และตัวละครอยู่ในบริเวณใกล้กับครีป และถ้าตัวละครของเราเป็นคนที่ฆ่าครีปเราจะได้เงินเพิ่มส่วนหนึ่ง เรียกการกระทำนี้ว่า last-hitting หรือบ้านเราเรียก ลาสช็อต เราคงเคยได้ยินคำที่ผู้เล่นสบถว่า อย่ามาแย่งลาสครีปกูววววว อะไรทำนองนั้น

นอกจากนี้ เรายังสามารถโจมตีครีปฝ่ายตัวเองได้ เมื่อพลังชีวิตของครีปเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ตัวละครฝ่ายตรงข้ามไม่ได้รับเงิน และได้ค่าประสบการณ์น้อยลง เราเรียกการฆ่าครีปตัวเองว่า “Deny” และผู้ที่ Deny จะได้รับค่าประสบการณ์เล็กน้อย

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-7

ซึ่งการฆ่าครีปทั้งของฝ่ายเราและฝ่ายตรงข้ามนั้น มีผลกับการดำเนินเกมอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครทั้งสองฝ่ายเกิดความแตกต่างทั้งใน level และ item ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ฮีโร่

ปัจจุบันเกม Dota 2 มีฮีโร่หรือตัวละครทั้งหมด 113 ตัวซึ่งแต่ละตัวก็จะมีความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ฮีโร่จะมีสกิลหลักๆ อยู่ทั้งหมด 4 สกิล เป็นสกิลทั่วไป 3 สกิล และสกิลพิเศษหรือท่าไม้ตาย ที่เรียกว่า Ultimate Skill (บ้านเราเรียกสั้นๆ ว่า อัลติ)

อัลติ นั้นสามารถปลดล็อคได้ครั้งแรกเมื่อฮีโร่มีเลเวลถึง 6 เท่านั้น เป็นสกิลที่สำคัญมาก เพราะทำให้ฮีโร่มีความสามารถเพิ่มขึ้นจากสกิลนั้นและมีผลกับเกมค่อนข้างมาก

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-10

ในเกมไม่สามารถเลือกฮีโร่ซ้ำกันได้ ผู้เล่นจะได้รับหนึ่งแต้มสำหรับปลดล็อคสกิล เมื่อปลดล็อคแล้วใช้แต้มพัฒนาต่อไปอีกจะทำให้สกิลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต้มดังกล่าวจะได้มาตอนเริ่มเกม 1 แต้ม และเมื่อฮีโร่ได้รับค่าประสบการณ์จนเลเวลอัพ ก็จะได้แต้มเพิ่มมาอีกหนึ่งแต้ม เลเวลสูงสุดของฮีโร่อยู่ที่ เลเวล 25

 

ไอเทม

dota2-item

ความสามารถของฮีโร่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่สกิลและค่าพลังเท่านั้น ยังสามารถซื้อไอเทมเพื่อเพิ่มความสามารถได้ใน Shops ไอเทมบางอย่างสามารถนำมาผสมกันเพื่อเกิดเป็นไอเทมชิ้นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ โดยประเภทของไอเทมแบ่งง่ายๆ สามประเภทดังนี้ :

  • ไอเทมที่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้ เช่น น้ำยาเพิ่มเลือด/มานา, คัมภีร์สำหรับวาร์ปกลับบ้าน เป็นต้น
  • ไอเทมที่เพิ่มค่าสถานะของตัวละคร ทำให้ฮีโร่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
  • ไอเทมที่สามารถกดใช้ได้ เช่น วาร์ป, ผลักฮีโร่, เพิ่มเลือด และอีกมากมาย คล้ายกับมีสกิลเสริมเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสกิล

ไอเทมเรียกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการแข่งขันเลยทีเดียว เพราะทำให้ความสามารถของฮีโร่สูงขึ้นจนมีความเหนือชั้นกับฝ่ายตรงข้าม

 

ตำแหน่งของผู้เล่น

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-15

เกม Dota 2 มีความหลากหลายในการเลือกใช้กลยุทธ์มาก เนื่องจากทั้งฮีโร่ ไอเทม มีความหลากหลายและยืดหยุ่นสูง ซึ่งในเกมได้มีการนิยามการเลือกตำแหน่งของฮีโร่แบบกว้างๆ ตามจุดเด่นของตัวละครเอาไว้ด้วย เป็นหน้าที่ที่ตัวละครนั้นๆ ต้องรับผิดชอบในเกม คล้ายกับตำแหน่งการยืนของกีฬาฟุตบอล โดยแบ่งได้ดังนี้

Support players

ฮีโร่สายซัพพอร์ต จะคอยสนับสนุนผู้เล่นคนอื่นๆ ด้วยการซื้ออุปกรณ์ที่ทำให้ฝ่ายเราเล่นง่ายขึ้นอย่างไอเทม Ward ที่ทำให้ทั้งทีมสามารถมองเห็นพื้นที่นั้นๆ ได้เมื่อปักลงไป สายซัพพอร์ตจะนำเงินที่หยอดกระปุกแบ่งเอาไว้ใช้เพื่อทีม ในขณะที่คนอื่นๆ จะนำเงินไปซื้อไอเทมที่ทำให้ตัวเองแกร่งขึ้น เรียกว่าเป็นสายที่เสียสละโดยแท้

ฮีโร่ฝ่ายสนับสนุนจะมีเวทมนตร์ที่สร้างความเสียหายได้มากในช่วงต้นเกม ก่อนที่อีกฝ่ายจะซื้อไอเทมเพื่อเสริมความแข็งแกร่งจนยิงไม่ค่อยเข้าในช่วงท้ายเกม ซึ่งตัวละครสายนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในช่วงต้นเกม ถ้าเล่นดีจะทำให้ทีมได้เปรียบและมีโอกาสชนะสูงในช่วงท้ายเกมได้

Offlane

ฮีโร่สาย Offlane จะยืนอยู่ในเลนล่างของฝ่าย Dire และอยู่บนเลนบนของฝ่าย Radiant ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายในแผนที่ บทบาทของ Offlane มักจะเป็นตัวเปิดเพื่อเข้าโจมตีอีกฝ่าย สายนี้จะเป็นตัวหลักในช่วงต้นเกมถึงกลางเกม

Midlane

เป็นฮีโร่ยืนอยู่ในเลนกลางสามารถเก็บครีปได้อย่างรวดเร็ว เพราะในส่วนของเลนกลางจะเป็นเลนที่สั้นที่สุดในแผนที่ของ Dota 2 ครีปของทั้งสองฝ่ายจะออกมาบรรจบกันเร็ว ทำให้ฮีโร่ที่ยืนอยู่ในตำแหน่งนี้ได้รับเงินและค่าประสบการณ์เร็ว ฮีโร่ในเลนนี้จะขึ้นเลเวล 6 เป็นตัวแรกๆ ของเกม ซึ่งเมื่อได้รับเงินสำหรับซื้อไอเทม และมีเลเวลสูงจะทำให้เกมค่อนข้างได้เปรียบ

เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่มีผลกระทบต่อทีมมากตั้งแต่ต้นเกมยันจบเกม

Carry

เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างสำคัญ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือ Carry คือตำแหน่งแบกทีมนั่นเอง เป็นฮีโร่ที่จะต้องมีไอเทมและเลเวลสูงๆ ในเกม ในเกม ฮีโร่ Carry ฝ่ายเราจะต้องเก็บเงินและเลเวลแข่งกับ Carry ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับทีม

ดังนั้น Carry จะตกเป็นเป้าหมายของอีกฝ่ายตอนต้นเกม ต้องคอยขัดแข้งขัดขาไม่ให้ Carry ของอีกฝ่ายตีครีปสะสมเงินและเลเวลจนเก่ง เพราะไม่อย่างนั้นทีมจะชิบหายเอาได้

ผู้เล่น Carry จะเป็นคนที่ทำให้เกมมีความสนุกและตื่นเต้นมากที่สุด ในเกมการแข่งขันจะเป็นที่จับตามอง และถ้าเป็นผู้เล่นที่มีฝีมือดีล่ะก็ จะเป็นที่ชื่นชอบของกองเชียร์และมีแฟนคลับติดตามเลยทีเดียว

 

Roshan มอนสเตอร์สุดโหด

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-13

Roshan เป็นมอนสเตอร์ตัวยักษ์ๆ ที่แข็งแกร่งที่สุดในแผนที่ และเป็นส่วนชี้เป็นชี้ตายของเกมด้วย

เมื่อฮีโร่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มแข็งแกร่ง เค้าจะยกพวกไปรุมตี Roshan เมื่อฆ่า Roshan ลงได้ ทั้งทีมจะได้รับเงินและค่าประสบการณ์สูง และเป้าหมายหลักของการฆ่า Roshan คือ ไอเทมที่มีชื่อว่า “Aegis of the Immortal” ซึ่งจะดรอปจากการฆ่า Roshan

เมื่อผู้เล่นที่เก็บ Aegis ไว้ถูกฆ่า ผู้เล่นคนนั้นจะเกิดใหม่ ณ จุดที่ตายในไม่กี่วินาที พร้อมทั้งเลือดและมานาเต็มหลอด (เมื่อเกิดใหม่แล้ว Aegis จะหายไป) ซึ่งตรงนี้มีผลกับการบวกพร้อมกันทั้งทีมมาก เพราะมีสองชีวิตที่อีกฝ่ายต้องจัดการ

 

the-normal-persons-guide-to-watching-competitive-dota-2-14

อย่างไรก็ตาม นี่คือรูปแบบการเล่นเบื้องต้นของเกม Dota 2 ที่อาจจะทำให้คุณสามารถดูการแข่งขันได้เข้าใจมากขึ้น แต่ต่อให้คุณอ่านบทความหรือฟังใครเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเกมสักเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางรู้จักกับเกมได้เท่ากับเล่นเองแน่นอน

ถ้ามีเวลาก็ลองโหลดมาเล่นดูก็ได้นะ มีทั้งบน Windows และ Mac ดาวน์โหลดผ่าน Steam ได้ที่ >> store.steampowered.com

 

ที่มา – www.polygon.comwww.dota2.com

Writer Profile : Nokkaew
ชายหนุ่มที่กินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ กินข้าวเสร็จก็กินน้ำ เสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ ตอนเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบซื้อหนังสือมุราคามิ แต่ยังไม่ได้อ่านสักเล่ม อยากเห็นโลกออนไลน์มีแต่สิ่งดีๆ และมีความสนุก
Blog : www.goohiw.com Social Media : Facebook, Twitter
View all post

พาเดินส่องพริตตี้งานเกม Thailand Game Show Big Festival 2017


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save