category หนี้สิน is following you : 7 ข้อควรระวังคนรุ่นใหม่ เมื่อคุณกำลังจะมีบัตรเครดิต

Writer : minn.una

: 3 มิถุนายน 2562

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เลือกจะมี “บัตรเครดิต” เป็นตัวช่วยในการจับจ่ายใช้สอยให้ลื่นไหลยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะความสะดวกในการไม่ต้องหยิบเงินสดออกจากกระเป๋าเงิน โปรผ่อน 0% ที่ทำให้ไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่ก็สามารถซื้อของที่ต้องการได้แบบไม่ยาก ไม่เพียงเท่านั้น เดี๋ยวนี้หลายธนาคารยังแข่งกันมอบสิทธิพิเศษที่ทำให้การรูดบัตรนั้นคุ้มกว่าการจ่ายด้วยเงินสดเป็นไหนๆ

จริงอยู่ที่บัตรเครดิตนั้นมีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่การมีอิสระทางการเงินด้วยบัตรพลาสติกใบเล็กๆ เนี่ย ก็มักจะตามมาด้วยสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่าง “หนี้สิน” มีผลงานวิจัยจากธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปี 2560 ระบุว่า คน Gen Y หรือกลุ่มคนที่มีอายุ 20-35 ปี และเพิ่งเริ่มเข้าวัยทำงานได้ไม่น่านนี่แหละที่มีจำนวนหนี้สินจากบัตรเครดิตมากที่สุด โดยคน GEN Y 100 คน จะมีคนติดหนี้บัตรเครดิตถึง 56 คน

วันนี้ Mango Zero เลยขอชวนทุกคนมาทบทวนพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของตัวเอง พร้อมกับเทคนิคการใช้ที่จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลคำว่า “หนี้” ไปดูกัน!!

หนี้ดี vs หนี้เสีย

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่าหนี้กันก่อน “หนี้” แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ หนี้ดี และหนี้เสีย

  • หนี้ดี คือ หนี้ที่สร้างรายได้  เช่น การลงทุนกู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่าแล้วได้ส่วนต่างเป็นกระแสเงินสด
  • หนี้เสีย ตรงข้ามกันคือเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ จากการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะของฟุ่มเฟือยต่างๆ แน่นอนว่าการรูดบัตรเครดิตจัดอยู่ในหนี้ประเภทนี้

ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าหนี้จากบัตรเครดิตเป็นหนี้เสีย เราจึงควรระมัดระวังอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสียจนเราไม่สามารถควบคุมได้นั่นเอง

ใช้จ่ายไม่เกิน 40 % ของรายได้

จุดประสงค์ของข้อนี้คือเราต้องการบอกว่าเราต้องประมาณค่าหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งอาจจะเป็น 30 ไปจนถึง 50% ของรายได้ แล้วแต่บุคคลว่าคุณไหวจ่ายมันแบบเต็มๆ ทุกเดือนแค่ไหน ซึ่งที่แนะนำคือไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ คือสมมติเป็นเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ไม่ควรรูดบัตรเครดิตเกินเดือนละ 8,000 บาท เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปอีก อาจไม่เพียงพอจะจ่าย หรือถ้าเลวร้ายน้อยกว่านั้นก็คือจ่ายไหว แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย

จ่ายตรงเวลา และอย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ

โดยปกติหลังจากเราใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต ธนาคารจะมีระยะปลอดดอกเบี้ยที่เราสามารถชำระเงินตามจำนวนที่ใช้จ่ายอยู่จริงสูงสุด 50 วัน (ซึ่งส่วนใหญ่เลือกได้ว่าจะจ่ายภายในวันที่เท่าไหร่ของทุกเดือน)โดยถ้าเกินจากนี้ก็จะถูกนำมาคิดเป็นดอกเบี้ย ดังนั้นสิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือต้องจ่ายให้ตรงเวลา และอีกข้อที่สำคัญก็คือ อย่าคิดว่าจะจ่ายแค่ยอดขั้นต่ำเป็นอันขาด เพราะยอดที่เหลือจะถูกนำไปคิดดอกเบี้ยและทำร้ายเราต่อในรอบบิลถัดไปจนอาจถึงขั้นจ่ายไม่ไหว

ไม่ควรเปิดบัตรมากกว่า 2 ใบ

(ความจริงมีใบเดียวก็พอ!!) แต่สำหรับคนที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย อยากเปิดบัตรเผื่อรองรับไลฟ์สไตล์การกิน เที่ยว ช็อปของตัวเองก็สามารถมีมากกว่า 1 ใบได้ แต่ไม่ควรเกิน 2 ใบจะดีที่สุด ไม่อย่างนั้นแทนที่จะได้บริหารเงิน อาจจะกลายเป็นการบริหารหนี้แทน

หลีกเลี่ยงการกดเงินสด

เดี๋ยวนี้หลายธนาคารมีข้อเสนอพ่วงติดมากับบัตรเครดิตคือสามารถใช้กดเงินสดได้ ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศไทยที่ยังไม่ได้เป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ความต้องการใช้เงินสดยังมีอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่ควรจำไว้ก็คือ การกดเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิตเป็นช่องทางการสร้างหนี้ที่ง่ายที่สุดในตอนนี้เลย เพราะมักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก (ส่วนใหญ่คือ 3%) และบวกเพิ่มมาด้วยค่าธรรมเนียมจากการกดเงินอีกต่างหาก

ระวังโดนขายประกัน!!

สิ่งหนึ่งที่คนมีบัตรเครดิตเจอกันบ่อยๆ ก็คือการโทรมาขายประกันต่างๆ ทั้งประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต (ซึ่งมักจะมาพร้อมกับประโยคที่ว่า สิทธิพิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต xxxxx เท่านั้นให้เรารู้สึก “ว้าว ฉันพิเศษจัง”) นี่ไม่ใช่การห้ามซื้อประกันชีวิต แต่สำหรับการโทรมาขายประกันชีวิตที่พ่วงต่อมาจากบัตรเครดิตแบบนี้มักจะต้องการคำตอบจากเราเลยภายในไม่กี่นาทีที่คุยโทรศัพท์กัน ซึ่งโดยปกติแล้วการจะเลือกซื้อประกันสักครั้งหนึ่งควรจะต้องศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อน ดังนั้นระวังกันไว้หน่อยก็ดีนะ

บริหารเงิน อย่าให้เงินบริหารเรา

สุดท้ายเป็นบทสรุปของทั้งหมดที่กล่าวมา นั่นก็คือเราต้องบริหารเงิน ไม่ใช่ให้เงินมาบริหารเรา บัตรเครดิตมีประโยชน์อยู่เยอะมาก ถ้าใช้อย่างมีวินัยก็เป็นการเพิ่มเครดิตให้เราในการขอกู้บ้านหรือรถได้ เพิ่มความคุ้มค่าจากแต้มสะสมและเครดิตเงินคืนได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเกินตัวจนกลายเป็นว่าหนี้เหล่านี้มามีอภิสิทธิ์เหนือเรา “หายนะทางการเงิน” is following you แน่นอน

ที่มา : Marketeer, Krungsri

 

 

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save