หลายคนเลือกที่จะเติมความสดชื่นยามบ่าย ด้วยเครื่องดื่มเย็นท็อปฟอร์ม อย่างกาแฟไนโตรโคลด์บรูว์ (Nitro Cold Brew Coffee) กาแฟสกัดเย็นอัดก๊าซไนเตรเจน ที่นอกจากจะช่วยปลุกคุณให้ตื่นด้วยพลังจากคาเฟอีนในกาแฟแล้ว คุณยังจะได้รับรสสัมผัสของฟองเนียนนุ่ม ละมุนลิ้น ที่คล้ายกับการดื่มเบียร์อย่างไรอย่างนั้น ปัจจุบันเครื่องดื่มไนโตรมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะกาแฟอย่างที่เราคุ้นหูกันอยู่บ่อยๆ ยังมีเครื่องดื่มอย่างอื่นที่นำมาอัดก๊าซไนโตรเจนแล้วสร้างรสสัมผัสแปลกใหม่มากมาย อาทิ ชา น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มอย่างค็อกเทล (Cocktail) และม็อกเทล (Mocktail) ทั้งนี้ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่าไนโตรมีแต่ในกาแฟ และไม่ต่างจากโซดา วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าเครื่องดื่มไนโตรกันให้มากขึ้น ว่าแท้จริงคืออะไร? มีที่มาอย่างไร? และทำไมไม่ใช่โซดา!?! เบียร์ผู้ให้กำเนิด? จุดเริ่มของการอัดก๊าซไนโตรเจนลงในเครื่องดื่ม เกิดขึ้นโดย ไมเคิล เอ็ดเวิร์ด แอช (Michael Edward Ash) นักคณิตศาสตร์ ชาวอังกฤษ โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เขาได้นำทีมคิดค้นระบบนำจ่ายก๊าซไนโตรเจนให้กับเบียร์กินเนสส์ (Guinness Beer) ในประเทศไอร์แลนด์ ด้วยความต้องการพัฒนาระบบนำจ่ายดราฟท์เบียร์ (Draft Beer) ให้มีประสิทธิภาพ เขาเล็งเห็นว่า ‘ก๊าซไนโตรเจน’ คือตัวแปรสำคัญที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากดราฟท์เบียร์ต้องเก็บรักษาให้เย็นอยู่ตลอด โดยใช้เวลาพัฒนาอยู่หลายปี ก่อนจะออกมาในรูปแบบของการเสิร์ฟผ่านถังเบียร์ (Keg) อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ แสดงว่าก๊าซไนโตรเจนก็มีการอัดอยู่ในเครื่องดื่มอย่างเบียร์มานานแล้ว ดังนั้นการอัดก๊าซไนโตรเจนลงในเครื่องดื่มต่างๆ จึงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นประสบการณ์ใหม่ของรสสัมผัสผ่านเครื่องดื่มที่หลากหลายมากขึ้นเท่านั้น นุ่มนวลกับฟองนุ่ม ก๊าซไนโตรเจน เป็นก๊าซเฉื่อย โปร่งใส ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถละลายในของเหลวเช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ด้วยฟองก๊าซไนโตรเจนที่มีขนาดเล็กและมีเสถียรภาพกว่ามาก เมื่อทำการอัดก๊าซไนโตรเจนลงไปในเครื่องดื่มภายใต้ความดัน จึงเกิดการกระจายตัวเป็นฟองขนาดเล็กจับตัวทั่วเครื่องดื่ม เกิดเป็นระลอกคลื่นก๊าซไหลลงสู่ก้นแก้วที่เรียกว่า ‘Cascading Effect’ ทำให้เครื่องดื่มมีรสสัมผัสที่มีความนุ่มละมุนลิ้น และมีความครีมมี่ (Creamy) ในปาก อีกทั้งยังเกิดการดันตัวเป็นโฟมนุ่มอยู่ด้านบน ต่างกับน้ำโซดาซึ่งอัดด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีความซ่า แต่ไม่มีความเป็นเนื้อครีม ดังนั้นเมื่อก๊าซไนโตรเจนมาอยู่ในเครื่องดื่มอย่างกาแฟสกัดเย็น จึงทำให้หลายคนติดใจในรสสัมผัส เพราะเหมือนได้จิบเบียร์สดเย็นๆ นั่นเอง นักดื่มบางคนยังกล่าวอีกด้วยว่า รู้สึกได้ถึงรสชาติที่มีความชัดเจนขึ้น และมีความกลมกล่อมในตัว กาแฟเย็น (Iced Black Coffee) กาแฟสกัดเย็น (Cold Brew Coffee) และกาแฟไนโตรโคลด์บรูว์ (Nitro Cold Brew Coffee) หลายคนมักสับสนระหว่าง 3 เมนูนี้ ข้อแตกต่างที่ชัดเจน คือ Nitro Cold Brew Coffee ที่ให้รสสัมผัสนุ่มนวลและมีความครีมมี่ (Creamy) บางคนจึงรู้สึกเหมือนได้ดื่มกาแฟใส่นม เนื่องจากบอดี้ของเครื่องดื่มที่มีความหนักกว่า Cold Brew Coffee และ Iced Black Coffee ปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม Cold Brew Coffee และ Nitro Cold Brew Coffee ต่างทำมาจากกาแฟที่ใช้วิธีการสกัดเย็นทั้งคู่ ส่วนใหญ่มักแช่กาแฟด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 8 – 24 ชั่วโมง หรืออาจมากกว่านั้น (ขึ้นอยู่กับระดับการบด) กาแฟที่ได้จึงมีรสชาตินุ่มนวล และมีความเปรี้ยวที่ต่ำกว่ากาแฟที่ใช้ความร้อนในการสกัดทั่วไป ทั้งนี้ถ้าตัดกระบวนการสกัดเย็นแบบแช่ (Immersion) ออกไป ความหมายของ Iced Black Coffee โดยทั่วไปก็คือ กาแฟดำเย็นที่ไม่ใส่นม ซึ่งตัวกาแฟอาจสกัดจากเครื่องเอสเปรซโซ่ (Espresso Machine) ซึ่งให้รสมาตรฐาน หรือมาจากการสกัดในรูปแบบอื่น อย่าง การดริปกาแฟ (Drip Coffee) ซึ่งอาจให้รสชาติที่ค่อนข้างเปรี้ยวมากกว่า เครื่องไนโตรแบบไหนที่ใช่คุณ? ปัจจุบันเครื่องอัดก๊าซไนโตรเจนในเครื่องดื่มมีให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ ‘Nitro Tap’ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับแท็ปเบียร์ ประกอบด้วยตัวถังที่ใช้เก็บเครื่องดื่มซึ่งมีการอัดก๊าซไนโตรเจน พร้อมการรักษาอุณหภูมิ และส่วนที่เป็นหัวจ่ายที่คอยควบคุมแรงดันให้มีความคงที่ ทำให้สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มได้ต่อเนื่อง แต่ต้องทำเครื่องดื่มในปริมาณมาก และต้องคอยเติมก๊าซไนโตรเจน จึงเหมาะกับร้านขนาดใหญ่ ส่วน ‘Nitro Whip Dispenser’ เป็นการใส่เครื่องดื่มลงไปในกระบอกที่คล้ายกับกระบอกวิปครีม มีสองหัวคือส่วนที่เป็นของเครื่องดื่ม กับส่วนที่เอาไว้อัดลูกแก๊สไนโตรเจน ซึ่งต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ สามารถทำเครื่องดื่มออกมาได้เพียง 1 – 2 แก้วต่อครั้ง จึงเหมาะกับการทำไว้ดื่มเองที่บ้านมากกว่า อีกรูปแบบคือ ‘Single-Serve Nitro’ โดย NitroBrew ที่เหมาะกับร้านขนาดย่อมลงมา ทำเครื่องดื่มได้แก้วต่อแก้ว ไม่สิ้นเปลืองวัตถุดิบ และไม่ต้องคอยเติมแก๊ส เพราะตัวเครื่องสามารถดึงเอาก๊าซไนโตรเจนในอากาศมาใช้โดยอัตโนมัติ อาจใช้เวลาราวๆ ไม่เกิน 7 วินาทีต่อรอบ ต่อการบูสท์เครื่องเพื่อดูดก๊าซเข้าไป ซึ่งต่างจาก Nitro Tap ที่สามารถเสิร์ฟได้ต่อเนื่องกว่า และที่เป็นลูกผสมระหว่างสองแบบข้างต้น คือ ‘Nitro Keg’ คล้ายคลึงกับแบบ Single-Serve Nitro เพียงแต่สามารถเสิร์ฟได้ในปริมาณที่มากกว่า และจำกัดเพียงเครื่องดื่มชนิดเดียว อีกทั้งยังต้องคอยเติมลูกแก๊สไนโตรเจนแบบ Nitro Whip Dispenser ‘ไม่น้ำแข็ง’ และ ‘ไม่หลอด’ ไม่ว่าจะอัดก๊าซไนโตรเจนลงในเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ หรือน้ำผลไม้ เครื่องดื่มไนโตรซึ่งเป็นเครื่องดื่มเย็น กลับไม่นิยมเสิร์ฟกับน้ำแข็ง เนื่องจากน้ำแข็งอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้สัมผัสอันนุ่มนวลแบบเนื้อครีมหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากน้ำแข็งที่ละลายในเครื่องดื่มนั่นเอง อีกทั้งไม่แนะนำให้ใช้หลอดดื่มเครื่องดื่มไนโตร แต่แนะนำให้ดื่มจากปากแก้วโดยตรง เพื่อสัมผัสกับฟองหนานุ่มด้านบนของเครื่องดื่ม เสมือนได้จิบดราฟท์เบียร์เย็นๆ อันเป็นเสน่ห์ของเครื่องดื่มชนิดนี้ ที่มา: (facebook.com/eurekanitrocoffee), (nbwthailand.com), (nitrobrew.com), (prima-coffee.com), (thecoffeethailand.com)