Yimsoo Cafe (ยิ้มสู้คาเฟ่) ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ร้านอยู่ที่อรุณอัมรินทร์ 39 แถวๆ สะพานพระรามแปดฝั่งธนฯ ความน่าสนใจคือน้องพนักงานที่คอยบริการเค้าเป็นผู้พิการครับ ดูภายนอกก็เหมือนกับคาเฟ่ทั่วไป ร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2559 หลายคนน่าจะยังไม่ทราบว่ามีคาเฟ่อยู่ตรงนี้ ผมเองคนพื้นที่ก็เพิ่งรู้เช่นกัน อาจจะยังไม่ได้มีการโปรโมทเท่าไหร่ ร้านเปิดทุกวันตั้งแต่ 7.00 – 18.00 น. มีที่จอดรถอยู่ด้านหลังมูลนิธิครับ ภายในร้านค่อนข้างกว้าง นั่งได้ประมาณ 50 คน เพดานสูงโปร่ง เฟอร์นิเจอร์เป็นธีมไม้ แสงไฟสีเหลืองส้ม บรรยากาศค่อนข้างเงียบ เหมาะกับการนั่งอ่านหนังสือมากๆ มีปลั๊กไฟและ WiFi ให้ใช้ฟรี ลูกค้าส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากพื้นที่อยู่ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัย ลองดูภาพบรรยากาศยาวๆ เลยครับ บริเวณโต๊ะนั่ง ก็จะมีปลั๊กไฟและรหัส WiFi ใช้งานกันได้เลยครับ แต่อย่านั่งแช่นานนะ ให้ทางร้านได้มีการหมุนเวียนลูกค้าด้วยครับ นี่เป็นเครื่อง TTRS มีไว้สำหรับใช้สื่อสารกับผู้พิการทางการได้ยิน โดยเมื่อเราใช้เครื่องจะมีเจ้าหน้าที่แปลให้เป็นภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เจ้าเครื่องนี้ตั้งอยู่ทั่วประเทศครับ เดี๋ยวเราจะทำบทความเจาะลึกเกี่ยวกับเครื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง น่าสนใจมาก รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่อง TTRS : www.ttrs.or.th เมนูเครื่องดื่มครับ ครบครันเลยทีเดียว มี Special Coffee หลายเมนูด้วย พนักงานรับออเดอร์จะเป็นผู้พิการทางการได้ยินครับ เราสามารถสั่งเครื่องดื่มและอาหารโดยการชี้ป้ายเลย ก่อนอื่นก็ให้จิ้มว่าจะนั่งทานที่ร้านหรือรับกลับบ้าน เมนูเครื่องดื่มพร้อมราคาครับ 45-55 บาทเท่านั้น ราคาถือว่าค่อนข้างถูกมากเลยนะ สำหรับร้านคาเฟ่ระดับนี้ เมนูอาหารครับ จานละ 50 บาท ไข่ดาวฟองละ 10 บาท ถือว่าค่อนข้างถูกเช่นกัน ลองสั่ง Ice Mocha มาลองครับ (มารอบนี้ลืมสั่ง Espresso มาลองแหะ) โหลน่ารักดี กาแฟค่อนข้างรสชาติดีทีเดียวนะครับ Mocha รสชาติหวานไม่มาก เข้มกำลังดี สมาชิกที่มาด้วยลองสั่งชาผลไม้ เค้าบอกว่าดีมาก มาแบบไม่เติมน้ำตาล แต่ถ้าใครอยากได้รสหวานก็เติมน้ำตาลเอาได้ ลองสั่งข้าวพะแนงหมู และข้าวผัดกะเพรา + ไข่ดาวมาลองครับ ทั้งหมด 110 บาท สำหรับเมนูของร้านเหมือนจะเป็นเมนูตามสั่ง แต่เราไม่สามารถเลือกปรับอะไรได้มากนักนะครับ เช่นสั่งกะเพราหมูพิเศษ ใส่หมูเยอะๆ เพิ่มยี่สิบบาท เพราะเมนูและราคาจะจำกัดไว้ในโปรแกรมคิดเงินแล้ว รสชาติอาหารรวมถึงเมนูเครื่องดื่มก็เช่นกัน ถ้าจะสั่งหวานมาก-น้อย ก็ต้องเป็นภาษามือกันก่อน หรือไม่ก็ต้องรอพี่พนักงานที่ฟังเราได้อยู่ด้วยในตอนนั้นครับ สำหรับรสชาติอาจจะไม่ได้เลิศหรูอลังการอะไรมากนัก แต่ถ้าเทียบกับราคาแล้วถือว่าดีงามอยู่ อาหารไม่ได้มีรสจัดมากนัก เผ็ดในแบบที่ฝรั่งทานได้ชิวๆ พะแนงหมูอร่อยดีนะ สักคำจะติดใจ ยิ้มสู้คาเฟ่ก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการอำนวยการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ วิริยะ ในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับคาเฟ่ยิ้มสู้แห่งนี้ด้วยครับ ลองมาดูกันเลย Mango Zero : ยิ้มสู้คาเฟ่มีที่มาอย่างไรบ้างครับอาจารย์ ศาสตราจารย์วิริยะ : เริ่มจากทางเราจำเป็นต้องซื้อตึกเพื่อให้บริการล่ามภาษามือทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (TTRS) อยู่บนชั้น 3-5 โดยชั้น 2 เป็นหอศิลป์ จึงถือโอกาสทำชั้น 1 เป็นคาเฟ่เลย Mango Zero : ทำไมต้องเป็นร้านคาเฟ่ครับ ศาสตราจารย์วิริยะ : ถ้าในต่างจังหวัดการส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้พิการที่เหมาะสมจะเป็นพวกเกษตรกรรม หัตถกรรม แต่ Lifestyle ของคนเมืองคือเค้าชอบไปคาเฟ่ เรื่องอาหารเรื่องกาแฟ เราจึงเริ่มทดลองทำดู ทีนี้เราก็ต้องคำนึงว่า การทำอะไรในยุคนี้มันต้องอาศัยการโปรโมทผ่าน Social Network เราจึงต้องมีมุมถ่ายรูปเน้นความสวยงาม พอเราบอกว่าจะทำเป็นคาเฟ่ ภรรยาผมก็คุยกับผู้รับเหมาว่าเราอยากได้คาเฟ่ที่มีความสวยงาม เหมาะกับการถ่ายรูป Mango Zero : พนักงานในยิ้มสู้ก็เป็นผู้พิการส่วนใหญ่เลยถูกไหมครับ ศาสตราจารย์วิริยะ : ใช่ครับ เราก็จะเริ่มฝึกผู้พิการ โดยเราจ้างมืออาชีพมาฝึกให้อย่างดี ตอนเปิดร้านแรกๆ ก็เริ่มจากจำหน่ายกาแฟ แล้วขยับมาอาหาร Mango Zero : น้องๆ ผู้พิการเค้ามีความรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ที่มาทำงานที่ยิ้มสู้ ศาสตราจารย์วิริยะ : อ๋อ แน่นอนครับ น้องๆ เค้าก็ชอบกัน เพราะเค้าอยากทำอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีผู้พิการกลุ่มอื่นที่เริ่มทราบก็มาขออบรม อย่างตอนนี้ก็มีกลุ่มออทิสติกมาอบรม Mango Zero : ลูกค้าส่วนมากที่มาใช้บริการคาเฟ่เป็นกลุ่มไหนครับ ศาสตราจารย์วิริยะ : พอดีเราอยู่ในโซนใกล้กับมหาวิทยาลัย ดังนั้นส่วนมากก็จะเป็นนักศึกษาธรรมศาตร์ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ตอนแรกทางเราก็ประชาสัมพันธ์ไปที่มหาวิทยาลัย พอเค้ารู้เค้าก็เริ่มมากัน เพราะที่นี่เสียงจะเงียบ Mango Zero : เคยได้ยินว่าจะมีช่วงที่ลูกค้าเยอะ แล้วนั่งแช่ จนไม่มีการหมุนเวียนของลูกค้า อันนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ศาสตราจารย์วิริยะ : ก็มีบ้าง ส่วนมากจะเป็นลูกค้าฝรั่งที่มานั่งกันเยอะ มากันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ช่วงเที่ยงๆ แต่ยังไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เราอยากให้ร้านแน่นอยู่แล้ว แต่เราก็มีแผนอยู่แล้วว่า ถ้าเริ่มแน่นเป็นเวลานานจนลูกค้าไม่หมุนเวียน เราก็อาจจะจำกัดเวลา WiFi ให้น้อยลง หรือขยับในส่วนของค่าอาหารและกาแฟให้สูงขึ้นอีกหน่อย เมนูของเราค่อนข้างถูกมาก กาแฟเราใช้ของอย่างดี ใช้กาแฟอินทรีย์จากแบรนด์ Life Coffee ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงโปรโมท ที่เห็นเต็มคือแค่บางวัน ยังไม่สม่ำเสมอ Mango Zero : มีแผนสำหรับอนาคตอย่างไรบ้างไหมครับ สำหรับคาเฟ่ยิ้มสู้ ศาสตราจารย์วิริยะ : จริงๆ แล้วเราตั้งใจจะทำเป็นศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับผู้พิการ เราอยากให้ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่ยั่งยืนสำหรับผู้พิการ ให้เค้ามีความสามารถมากขึ้น อาจจะขยับให้น้องที่เป็นบาริสต้าไปเป็นผู้จัดการได้ในอนาคต และใช้ที่นี่เป็นที่กระจายสินค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับผู้พิการ ทั้งอาหารเกษตรที่ทำในต่างจังหวัด และสินค้าหัตถกรรม ซึ่งมีแผนที่จะขายออนไลน์ด้วย และเรามีแผนที่จะทำลูกเล่นเพิ่มเติมอื่นๆ ในร้านด้วย อย่างเช่น มีป้ายภาษามือสำหรับให้ลูกค้าลองใช้ภาษามือสั่งหรือพูดคุยกับน้องพนักงาน Mango Zero : สุดท้ายนี้แล้ว อยากฝากอะไรเพิ่มเติมไหมครับ ศาสตราจารย์วิริยะ : เราอยากให้คนมาชิม มาแนะนำให้คำติชม ว่าดีไหม หรือเราควรจะปรับปรุงอย่างไร ตอนนี้คนยังมาใช้บริการน้อยอยู่ อยากให้คนมาเยอะๆ มาช่วยกันอุดหนุนกันเยอะๆ คาเฟ่ยิ้มสู้และผู้พิการจะได้มีกำไรและโตไปด้วยกัน ก็มาลองชิมมาใช้บริการคาเฟ่ยิ้มสู้กันได้นะครับ ผมเองยังติดใจเลย ชอบมาก จะแวะมาอีกแน่นอน สรุป Yimsoo Cafe (ยิ้มสู้คาเฟ่) เป็นร้านคาเฟ่ที่น่ารัก บรรยากาศดี เหมาะสำหรับนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ บาริสต้าเป็นผู้พิการทางการได้ยิน แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสั่งอาหาร อาจจะลำบากหน่อยถ้าจะสั่งเผ็ดน้อย หรือไม่หวาน แต่ก็สามารถเรียกล่ามเพื่อสื่อสารได้ ข้าวและกาแฟอร่อย ราคาถูกมว๊ากกกกกกกก ลูกค้าส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติและนักศึกษา จะมีบางช่วงที่มีคนเยอะ เดินทางลำบากนิดหน่อย ไม่ติด BTS และ MRT ร้านยังไม่กำไรมากนัก ช่วยกันมาอุดหนุนได้ เค้าอยากมีลูกค้าเยอะๆ แบบสม่ำเสมอ ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook : www.facebook.com/YimsooCafe Tel : 02 055 1901 เวลาที่ให้บริการ : 7.00 – 18.00 น. แผนที่ร้าน :