category คุยกับ “5 กิจการเพื่อสังคม” ผู้ชนะ ‘Banpu Champions for Change ปีที่ 8’ มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยธุรกิจ


: 18 ธันวาคม 2561

กิจการเพื่อสังคมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ส่วนหนึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่นำไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดให้เกิดธุรกิจแนวใหม่ ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้กับสังคม

ซึ่งบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และ สถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ยังคงเดินหน้าผลักดันและสนับสนุนผ่านโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

โดยล่าสุดได้เปิดตัวผู้ชนะจากโครงการฯ ดังกล่าว ในงานแฟร์ Impact Day : พื้นที่แห่งโอกาสของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนอกเหนือจากประกาศรายชื่อผู้ชนะ ภายในงานยังมีกิจกรรมมากมายให้คนทั่วไปมาร่วมสนุก หาความรู้ และทำความรู้จักกับกิจการเพื่อสังคม

ไม่ว่าจะเป็น เสวนาเพื่อคนรุ่นใหม่แชร์ประสบการณ์การทำกิจการเพื่อสังคม SE School Live Consultation เปิดโอกาสให้ร่วมพูดคุยกับรุ่นพี่จากโครงการฯ เวิร์กชอปต่างๆ รวมไปถึง Fashion for Change แฟชั่นโชว์รูปแบบใหม่ที่มุ่งสร้างการรับรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในวงการแฟชั่นและสังคม

จากความเชื่อของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” ในปีนี้จึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า  SE.School (Social Enterprise School) สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น

ซึ่งโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 8 หรือ Banpu Champions for Change 8 ได้นำแพลตฟอร์มออนไลน์นี้มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยเสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคมให้กับผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ หลังจากผ่านขั้นตอนการสมัครและคัดเลือก ผู้ที่ผ่านเข้ารอบจะได้เข้าร่วมเวิร์กชอปและกิจกรรมต่างๆ กับรุ่นพี่ในโครงการและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

ที่จะช่วยให้พวกเขาได้ตกผลึกไอเดีย พัฒนากิจการอย่างเป็นระบบ และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ สำหรับ 5 กิจการเพื่อสังคม ผู้ชนะเลิศในปีนี้มีใครบ้างนั้น ไปดูได้เลย

5 กิจการเพื่อสังคม โดยคนรุ่นใหม่ รวมพลัง เทใจช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม

จากที่เกริ่นกันไป ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ชนะทั้ง 5 กิจการเพื่อสังคมด้วยแหละ โดยแต่ละธุรกิจก็ตอบโจทย์สังคมแตกต่างกันออกไป แต่พวกเขามีเป้าหมายเดียวกัน คือ ใช้ธุรกิจของพวกเขาเป็นพลังเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคม

Vanta (วันทา)

เกรียงไกร บุญเหลือ

2 คู่รักหนุ่มสาว ที่หันหลังให้กับชีวิตเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่จังหวัดสุรินทร์ ผันตัวเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์กว่า 5 ปี เล็งเห็นปัญหาว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้สูงอายุ และมีอาชีพทำนาเป็นหลักซึ่งรายได้ไม่คงที่ จึงเกิดไอเดีย ใช้ความถนัดของคนในชุมชนนั่นคือการทอผ้า มาต่อยอดเป็นอาชีพที่สอง พร้อมส่งเสริมให้ชุมชนปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนระยะยาว

โมเดลทางธุรกิจ

เกรียงไกรVanta (วันทา) เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าฝ้ายออร์แกนิค ทอมือและย้อมด้วยสีธรรมชาติ ผลิตโดยเกษตรกรผู้สูงอายุในชุมชน จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้กับคนในชุมชน และลดความเสี่ยงจากอาชีพเกษตรกรที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนเป้าหมายในระยะยาวคือส่งเสริมให้ชุมชนปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน

พบปัญหาอะไรบ้าง แล้วมีวิธีการแก้ไขอย่างไร

เกรียงไกร : บอกเลยว่าแรกๆ ค่อนข้างยากเพราะกว่าชาวบ้านในพื้นที่จะเข้าใจในสิ่งที่เราทำ มันต้องใช้เวลา เริ่มแรกลงพื้นที่เพื่ออธิบายถึงข้อเสียเกี่ยวกับการใช้สารเคมีสำหรับย้อมสีผ้า ว่ามันอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวแล้วยังเสียรายจ่ายในการรักษาตัวอีก

หลังจากนั้นจึงเริ่มมีคนสนใจ จากคนสองคนก่อนแล้วขยับมาเรื่อยๆ เมื่อรวมกลุ่มได้แล้วก็เริ่มออกแบบ ผลิตและหาตลาด เบื้องต้นก็มองหาคำแนะนำจากผู้รู้จริงแล้วนำมาปรับแก้ไขเพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ทั้งผู้ซื้อและผู้ใช้

อนาคตจะขยายกิจการไปทิศทางไหน

เกรียงไกร : อยากให้กิจการอยู่รอด ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ พยายามออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ตอบโจทย์ตลาด พร้อมขยายตลาดบนช่องทางออนไลน์ และอยากให้ชุมชนปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ให้ชาวบ้านเก็บรักษาต้นไม้เหล่านี้เอาไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

เพิ่มเติม : Vanta

Gonfai (ก้อนฝ้าย)

บีม ปิชญา ตะนอย

บีมจากพื้นเพชาติพันธุ์ลัวะผู้คลุกคลีกับชุมชนมาตั้งแต่เด็ก มองเห็นปัญหาว่าสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ขายไม่ได้ราคาแล้วยังไม่เป็นที่ยอมรับ

จึงลุกขึ้นมาเริ่มแปรรูปและออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้นภายใต้ภูมิปัญญาหัตถกรรมที่มีอยู่ พร้อมหาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และหน้าร้านเพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของกิจการเพื่อสังคม

ปิชญา : เนื่องจากว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ ในตอนเด็กๆ เราเห็นพ่อแม่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พยายามเอาของมาขายแต่มันไม่มีจุดขายที่โดดเด่น เพราะว่าสินค้าทำออกมาแบบดั้งเดิม เสื้อผ้าก็พื้นๆ

พอนำไปขาย จึงไม่ค่อยมีตลาดรองรับ คนก็ไม่ให้ความสนใจ เพราะเขายังไม่รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง คือทำได้แค่ผลิตสินค้าแต่ไม่ได้ค่าแรง

พอเห็นตรงนี้เราเลยมองเห็นปัญญาและไม่อยากให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกเอารัดเอาเปรียบอีก จึงมาคิดหาวิธีที่จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากงานหัตถกรรม

อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอคือ การที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจงานหัตถกรรมเพราะว่ารายได้น้อย จึงเลือกทำงานในเมือง ทำให้คนแก่ในชุมชนจำนวนมากไม่มีคนดูแล เกิดปัญหาในระยะยาว

เราเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้และอยากช่วยแก้ปัญหา จึงเกิดเป็น ‘ก้อนฝ้าย’ ธุรกิจที่สร้างทางเลือกให้คนในชุมชน ให้สามารถหารายได้ได้ด้วยตัวเองโดยในท้องที่โดยไม่ต้องลงไปทำงานในเมือง แม้แต่เด็กๆ ก็สามารถทำงานกับเราได้ อย่างผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ เนื่องจากทำง่ายไม่ซับซ้อน

มันสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ปิชญา : ตอบโจทย์แน่นอน เพราะว่าของทุกชิ้นมันจะมาจากฝ้ายซึ่งเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ซึ่งของทุกอย่างเราจะไม่ทิ้งเลยหากมีชิ้นส่วนเหลือใช้เราก็นำมาผลิตเป็นของที่ระลึกอีกชิ้นได้

ซึ่งตรงนี้ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะและโลกร้อนได้ดี ส่วนด้านสังคมเรานำสินค้างานหัตถกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มาวางขาย โดยจะถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาสอดแทรกเข้าไปในสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักไปพร้อมกับอนุรักษ์ภูมิปัญญาอีกด้วย

อีกทั้งช่วยเรื่องรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน หรือเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ เมื่อลูกหลานได้เห็นคุณค่าเหล่านั้นก็จะส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาต่อไป

จุดเด่นของกิจการเพื่อสังคมนี้คืออะไร

  1. ได้ช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เดิมทีเราทำแค่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวแต่ตอนนี้ได้ขยายไปอย่างกว้างขวาง และช่วยให้ชาวบ้านไม่ถูกเอาเปรียบจากนายหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
  2. ได้ทำให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาใส่ใจและสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีวิชาติดตัวและสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้

ทิศทางของธุรกิจในอนาคต

ปิชญา : ในระยะยาว อยากให้เด็กชาติพันธุ์รุ่นใหม่ได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ พร้อมหารายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวได้

ส่วนทิศทางของธุรกิจจะสร้างช่องทางการขายทางออนไลน์มากขึ้น จากเดิมขายเพียงหน้าร้านเท่านั้น รวมทั้งจะพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากขึ้น และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าแต่ยังคงความเป็นชาติพันธุ์ไว้เหมือนเดิม

เพิ่มเติม : Gonfai

Craft de Quarr (คราฟท์เดอคัวร์)

ยุจเรศ สมนา

ธุรกิจมุ่งเป็นศูนย์กลางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากภูมิปัญญาและงานศิลปะพื้นเมือง ผสมผสานด้วยการออกแบบสมัยใหม่ เพื่อให้สินค้าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและแก้ไขปัญหาการขาดผู้สืบทอดงานหัตถกรรม

โมเดลทางธุรกิจ

ยุจเรศ : คราฟท์เดอคัวร์ เกิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้กับสินค้าหัตถกรรมจากชุมชน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่

โดยมีดีไซน์เนอร์ท้องถิ่นมาต่อยอดการออกแบบสินค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดได้กว้างมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและเห็นคุณค่าของการทำสินค้าหัตถกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิม

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ

ยุจเรศ : เคยพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้าไปยังหมู่บ้านชาวเขา พบว่าสินค้าที่วางขายไม่ใช่สินค้าที่มาจากงานหัตถกรรมของชาวบ้านจริงๆ จึงได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านแล้วพบว่าสินค้าหัตถกรรมที่ชาวบ้านผลิตขึ้นมานั้นไม่สามารถขายได้

เนื่องจากต้นทุนสูง รวมถึงไม่เป็นที่น่าสนใจของลูกค้ามากนัก ดังนั้นจึงศึกษาอย่างละเอียด เกี่ยวกับสินค้าที่ชาวบ้านผลิตขึ้น และพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทำให้สินค้าที่ชาวบ้านผลิตขึ้นมานั้นสามารถขายออกไปได้โดยไม่ตกค้าง

ชาวบ้านเป็นกลุ่มชาวเขา อาจจะไม่เข้าใจกระบวนการมากนัก มีวิธีการอย่างไรที่จะสื่อสาร

ยุจเรศ : แรกๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษา โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ เราจึงแก้ไขปัญหาโดยให้ตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญ สาธิตหรือทดลองทำให้ชาวบ้านดูก่อน จากนั้นค่อยเข้าไปสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

ส่วนปัญหาอุปสรรคก็จะมีเรื่องของระยะเวลาในการผลิต เนื่องจากชาวบ้านจะมีกิจกรรมที่ต้องทำเป็นประจำ เช่น เกี่ยวข้าว งานศพ งานบวช ทำให้ขาดช่วงในการผลิตสินค้า ทางทีมจึงต้องวางแผนเพื่อปรับความเข้าใจให้ชาวบ้านหันมาผลิตสินค้าเพื่อให้มีของสำรองไว้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้น

อนาคตข้างหน้าของธุรกิจจะไปไหนทิศทางไหน

ยุจเรศ :  จะส่งเสริมให้งานหัตถกรรมของชาวบ้านสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การเรียนรู้ และการสืบทอดต่อให้ลูกหลานได้ ให้สามารถนำเอางานเหล่านี้ไปสร้างแบรนด์ของตัวเองในชุมชน แล้วสร้างช่องทางตลาดบนโลกออนไลน์อีกทางเพื่อให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก

เพิ่มเติม : Craft de Quarr

Refill Station

สุภัชญา เตชะชูเชิด

จากกลุ่มเพื่อนสามคนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ตระหนักถึงปัญหาจากการใช้พลาสติก ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่แก้ปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าโดยไม่ต้องสร้างขยะ ด้วยการซื้อสินค้าแบบรีฟิล ให้นำบรรจุภัณฑ์มาเติมสินค้าเอง

อะไรคือสิ่งที่อยากเข้ามาแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสังคม

สุภัชญา : Refill Station เป็นร้านค้าขายสินค้าอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม โลชั่น

โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ให้ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนนำภาชนะเข้ามาเติมเอง ทำให้ซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลงกว่าเดิม ขวดเก่าก็สามารถนำไปใช้งานได้อีก และยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ดี

แรงบันดาลใจในการเริ่มกิจการ

สุภัชญา :  พวกเราสามคนสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้ว พื้นฐานเป็นคนที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมือง หากจะรอให้มีเวลาไปร่วมกิจกรรมรณรงค์สิ่งแวดล้อม อาจจะต้องใช้เวลานาน

แล้วทำไมเราไม่มองหาอะไรที่มันสามารถทำได้ทุกวัน จึงเริ่มจากปรับพฤติกรรมจากตัวเราก่อน จากนั้นก็กระจายไปยังเพื่อนๆ และคนทั่วๆ ไป เป็นที่มาของ Refill Station และเลือกสินค้าที่ซื้อซ้ำบ่อยๆ เช่น สินค้าอุปโภค บริโภคในชีวิตประจำวันมาจำหน่าย

เพราะเห็นว่าหากลดบรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้ได้ ก็น่าจะช่วยลดขยะพลาสติกไปได้มาก เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ให้เป็นจริง

อนาคตสามารถต่อยอดอย่างไรได้บ้าง

สุภัชญา : เราตั้งเป้าที่ทำให้การซื้อขายลักษณะนี้กลายเป็นสิ่งปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก แล้วคนในสังคมก็สามารถเข้าถึงได้อีกด้วย ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกและเพิ่มทางเลือกในการลดปริมาณขยะพลาสติกด้วย

เพิ่มเติม : Refill Station ปั๊มนำ้ยา

WEALTHI

ธวัชชัย อิงบุญมีสกุล

อีกหนึ่งธุรกิจแนวใหม่ในประเทศไทยที่ค่อนข้างได้รับความสนใจในสังคม ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินส่วนบุคคล ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้

ธุรกิจนี้ค่อนข้างแปลกใหม่ มีโมเดลอย่างไร

ธวัชชัย : เวลธ์ติ เป็นธุรกิจด้านการเงินส่วนบุคคล มีโมเดลเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับผู้ขาดโอกาสทางการเงิน เรามุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนกลุ่มนี้

โดยระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลความน่าเชื่อถือให้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขาดโอกาสทางการเงิน เช่น ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน ลดต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้และมีข้อมูลเครดิตและเพื่อให้มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น

ธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน ทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อถือและไม่กังวลเรื่องความเสี่ยง

ธวัชชัย :  เวลธ์ติ เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกแนวใหม่ที่ให้ลูกค้าสมัครหรือรับเงินกู้ผ่านแอพพลิเคชั่น ถือเป็นสิ่งใหม่ในประเทศไทย

ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่คุ้นชินและเชื่อถือ ทางบริษัทจึงใช้ช่องทางการตลาดหลายๆ ทางเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า เช่น ออกบูธแนะนำแอพฯ โฆษณาทางสื่อออนไลน์

ธุรกิจสามารถขยายไปทางไหนได้บ้าง

ธวัชชัย :  หากมีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการแอพพลิเคชั่นเพิ่มมากขึ้น จะสามารถสร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์สินเชื่อได้แม่นยำมากขึ้น จะส่งผลให้เวลธ์ติขยายเงินกู้ให้กับลูกค้าและนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

รวมทั้งสร้างความรู้เกี่ยวกับวินัยการใช้เงินและการบริหารการเงินให้กับลูกค้าเพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว สำหรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นนั้นสามารถใช้ทางระบบแอนดรอยด์ ส่วนระบบ iOS อยู่ระหว่างการพัฒนา

เพิ่มเติม : wealthi.co

ทั้งหมดนี้ถือเป็นธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งพวกคุณทุกคนเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เช่นกัน ลองคิดนอกกรอบ เปิด ปรับ เปลี่ยนแนวความคิดของตัวเอง ไม่แน่ คุณอาจจะเป็นคนกลุ่มถัดไป ที่มีกิจการเพื่อสังคมเป็นของตัวเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมเหมือนกับพวกเขาเช่นกัน

Writer Profile : หญิงเกศ
สตรีผู้หลงใหลในการกิน อินกับการเดินทาง หลงทางในตัวหนังสือ(นิยาย) ทำปากจือเวลาถ่ายรูป
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save