เรารู้จัก “คาเฟอีน” ในฐานะสารเคมีชนิดหนึ่งในอาหารที่เมื่อรับเข้าไปแล้วจะช่วยให้ร่างกายตื่นขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม แต่ไม่ใช่แค่นั้น วันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนไปรู้จักกับคาเฟอีนให้มากขึ้น ไปดูกันว่าจริงๆ แล้วนอกจากทำให้เหล่ามนุษย์ออฟฟิศตื่นระหว่างวัน ทำให้น้องๆ นักศึกษามีแรงลุกขึ้นมาอ่านหนังสือดึกๆ แล้ว คาเฟอีนยังทำอะไรได้อีกบ้าง ไปดูกันเลยจ้า ประโยชน์ของคาเฟอีน ร่างกายตื่นตัวในช่วงที่ต้องการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขับรถ อ่านหนังสือ ทำงาน ช่วยให้สมองด้านความจำทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ต้อกระจก นิ่วในถุงน้ำดี และโรคตับ เพิ่มความทนทานในการออกกำลังกาย ออกกำลังกายได้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายได้มากถึง 48% เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะมีส่วนช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรี่ได้ดีขึ้น ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไปคือไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มมีคาเฟอีนทั่วไปก็คือ กาแฟ 4 แก้ว (อาจแตกต่างไปตามความแรงของกาแฟแต่ละแบรนด์) น้ำอัดลมโคล่า 10 กระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง 2 ขวด (ตามโฆษณาที่เราเคยได้ยินกันเลยว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด”) เข้าไปเช็คปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ ได้ที่นี่เลย ผลข้างเคียงของคาเฟอีน อย่างที่บอกว่าแม้ว่าจะมีประโยชน์ แต่ถ้าหากได้รับคาเฟอีนเข้าไปในร่างกายมากเกินความจำเป็น ผลข้างเคียงที่อาจตามมาก็คือ นอนไม่หลับ ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอและคุณภาพการนอนต่ำลงไปด้วย ใจสั่น (เพราะกาแฟหรือแกฟะ?) เพราะกาแฟนี่แหละ คาเฟอีนจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ซึ่งทำให้หัวใจเราเต้นเร็วขึ้นนั่นเอง เมื่อยล้า เมื่อร่างกายตื่นตัว ทำกิจกรรมต่างๆ ร่างกายอาจเกิดความเมื่อยล้าในช่วงที่ผ่านไปประมาณ 6 ชั่วโมงหรือในวันต่อมา อันเนื่องมาจากคาเฟอีนหมดฤทธิ์ สูญเสียแคลเซียม นำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกและกระดูกพรุนในเวลาต่อมา ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายมีปัญหา กรดไหลย้อน เนื่องจากคาเฟอีนเข้าไปเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะบ่อยขึ้น ดังนั้นควรจิบน้ำตามบ่อยๆ นะ ติดคาเฟอีน สำหรับใครที่รับคาเฟอีนเข้าร่างกายจำนวนมาก หรืออาจไม่มากแต่บ่อย ก็อาจเกิดอาการเสพติดจนทำให้เมื่อไม่กินแล้วง่วงและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ คาเฟอีนในอาหารอื่นๆ นอกจากชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังและน้ำอัดลมแล้ว คาเฟอีนยังอยู่ในอาหารบางชนิด เช่น เมล็ดทานตะวัน ช็อคโกแลต โกโก้ รวมไปถึงยาบางตัว เช่น พาราเซตามอล และยาที่รักษากลุ่มอาการ PMS เลิกติดคาเฟอีนยังไงดี? ถึงตรงนี้เราเชื่อว่า ทั้งที่ทานคาเฟอีนมานาน หรือคนที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นานก็อาจจะเริ่มมองหาวิธีการที่จะไม่ได้รับผลเสียจากการทานคาเฟอีน หรือไม่กลายเป็นคนติดคาเฟอีนแบบขาดไม่ได้ เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดคาเฟอีนในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้ ค่อยๆ ลดทีละนิดๆ ตั้งแต่จำนวนแก้ว ไปจนถึงลดขนาดแก้วให้เล็กลงเพื่อให้ดื่มได้น้อยลง ทดแทนด้วยกาแฟ Decaf เพราะมีคาเฟอีนน้อยมาากกก แค่แก้วละประมาณ 10 มิลลิกรัมเท่านั้น ใครที่รักรสชาติของกาแฟและยังทำใจไม่ได้กับการต้องหักดิบเลิกไปเลย วิธีนี้เหมาะสุดๆ ใช้แอปคำนวณคาเฟอีน เพื่อกำหนดปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมในแต่ละวัน เช่น Caffeine Tracker, Caffeine Per Day, RECaf ไปโหลดติดเครื่องกันเอาไว้เลย เปลี่ยนมาดื่มชาสมุนไพร ที่รสชาติคล้ายกับชาที่เราดื่มอยู่ แต่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและไม่มีคาเฟอีน ดูแลสุขภาพ ตั้งแต่นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารดีๆ ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายสดชื่นได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ที่มา : https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/caffeine/art-20045678 https://www.caffeineinformer.com/top-10-caffeine-health-benefits https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/caffeine/art-20045678