อย. หรือ “สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา” (Food and Drug Administration) และไม่ได้แปลว่าอาหย่อย เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้บริโภครับทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์เลวๆ บางเจ้าปลอมเครื่องหมาย อย. โดยการนำเลข อย. จากผลิตภัณฑ์อื่นมาแปะบนห่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง อย่างล่าสุดเอาเลขจากขนมมาแปะบนฉลากยาซะงั้น แบบนี้มีเจตนาคิดไม่ซื่อแน่นอน ดังนั้นเราควรทราบวิธีตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลข อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยนั้นเป็นเลขของผลิตภัณฑ์นั้นจริงหรือเปล่า และข้อมูลอื่นๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของเราเอง วิธีการตรวจสอบเลข อย. เข้าไปที่เว็บไซต์ >> http://164.115.28.123/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx โดยในนี้สามารถค้นหาได้ทีเดียวครบทุกหมวดหมู่เลย ใส่เลข อย. จากผลิตภัณฑ์ลงไปในช่องค้นหา (โดยจะใส่ – หรือไม่ใส่ก็ได้ ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนกัน) ถ้าเลข อย. ถูกต้อง ระบบจะแสดงรายการออกมา ซึ่งจะมีข้อมูลดังนี้ ประเภทผลิตภัณฑ์ ใบสำคัญ (เลข อย.) ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย – อังกฤษ ชื่อผู้รับอนุญาต Newcode (เลขอ้างอิงใบรับแจ้งการนำเข้าผลิตภัณฑ์) สถานะ ไม่ใช่เฉพาะเลข อย. เท่านั้น ในช่องค้นหาสามารถใส่ชื่อผลิตภัณฑ์ลงไปได้ด้วยนะ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลข อย. ตัวเลขในเครื่องหมาย อย. แต่ละหลักนั้นมีความหมายระบุเอาไว้ด้วย ตามภาพด้านบนเลยจ้า เครื่องหมาย อย. เชื่อได้แค่ไหน? การที่มีเครื่องหมาย อย. หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้การผ่านเกณฑ์การตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น และสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ทราบเพิ่มเติมมีดังนี้ ส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นั้น ทาง อย. ไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งหมด เจ้าของสินค้าจะยื่นข้อมูลส่วนประกอบ จากนั้น อย. เพียงแค่พิจารณาปริมาณส่วนผสมว่าปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ส่วนประกอบที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ กับส่วนประกอบที่ยื่นกับ อย. อาจไม่ตรงกัน คือ จดอีกอย่าง ใส่จริงอีกอย่างอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอันนี้ผู้ผลิตคิดไม่ซื่อแน่นอน ผิดกฏหมายด้วย ถ้าพบเจอสามารถแจ้งทาง อย. ได้เลย การแพ้ผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องส่วนบุคคล อย. ไม่เกี่ยว ผู้บริโภคต้องพิจารณาจากส่วนผสมเอง เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องตามฉลาก (โดยเฉพาะยา) และต้องพิจารณาการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ อย่าหลงเชื่ออะไรที่มันเวอร์ๆ สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีเครื่องหมาย อย. แล้วก็ตาม ผู้บริโภคเองยังต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพิ่มด้วย ทั้งการแพ้, การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ และการใช้งานให้ถูกวิธี ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ที่จดทะเบียน อย. เพื่อความน่าเชื่อถือ แต่แอบใส่ส่วนผสมอื่นลงไป หรือมีปริมาณส่วนผสมไม่ตรงกับที่แจ้ง ที่มา – www.fda.moph.go.th, www.pharmabeautycare.com