category ฝันว่าตกจากที่สูง สะดุ้งตื่นกลางดึก! รู้จัก HYPNIC JERKS กล้ามเนื้อกระตุกตอนหลับ

Writer : uss

: 19 มกราคม 2566

การหลับนอนบางทีเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่เมื่อไม่ใช่ทุกคนที่โชคดี! กลายเป็นว่าต้องพบเจอกับปัญหานอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึก หรือฝันแล้วสะดุ้งตื่น

เชื่อว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตหลายคนต้องเคยผ่านประสบการณ์ ฝันแล้วรู้สึกวูบ ใจหาย เหมือนกำลังตกจากที่สูงจนทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึก ซึ่งเราก็คงคิดว่าเป็นเพียงแค่ฝันร้ายแหล่ะ..ไม่มีอะไรหร๊อกกกก 

แต่จริงๆ แล้วมีเบื้องหลังเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่เล่าว่าอาการลักษณะแบบนี้ เกิดจาก “กล้ามเนื้อกระตุก” ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นต่างหาก หรือที่เรียกว่า “Hypnic Jerks” นั่นเอง

เป็นอาการกระตุกของกล้ามเนื้อในขณะที่หลับไม่สนิท จะเกิดขึ้นเมื่อเราหลับและกำลังฝันอยู่ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่มักจะเกิดกับร่างกายซีกเดียว โดยอาจจะกระตุกเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้งติดต่อกันก็ได้ ก่อนที่ร่างกายจะเข้าสู่โหมดผ่อนคลายอีกครั้ง

ซึ่งความฝันส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดร่วมพร้อมกับอาการกระตุกมีดังนี้ ตกลงมาจากที่สูง วูบล้ม เห็นแสงแว้บๆ ได้ยินเสียงทุบ หรือเสียงตะคอกรุนแรง จนทำให้บางครั้งสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือบางทีก็ไม่รู้สึกตัวแม้ว่าคนอื่นจะเห็นว่าร่างกายเรากระตุกก็ตาม

และถ้าอยากรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ คืออะไร อันตรายต่อร่างกายมั้ย มีวิธีรักษาหรือเปล่า ตามไปอ่านต่อกันได้ในบทความเลยยย~ 

สาเหตุหลักกล้ามเนื้อกระตุก

ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้แน่ชัดเกี่ยวกับความฝันลักษณะนี้ แต่หากวิเคราะห์จากงานวิจัยมีเพียง 5 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้

  • การบริโภคคาเฟอีนหรือนิโคตินมากเกินไป

เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถอยู่ในระบบร่างกายหลายชั่วโมง จึงรบกวนการนอนหลับของเรา หรือทำให้จิตกระตุกได้

  • ออกกำลังกายอย่างหนักในเวลากลางคืน

การออกกำลังกายถือเป็นกิจกรรมที่เพิ่มพลัง ซึ่งทำให้รู้สึกตื่นตัวมากกว่าเหนื่อย และยิ่งถ้าออกกำลังกายหนักเกินไปในช่วงค่ำอาจเป็นสาเหตุเลยก็ว่าได้

  • อดนอน

ไม่ว่าจะเกิดจากการนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือการนอนหลับไม่เพียงพออาจนำไปสู่การอดนอน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงได้สูง 

  • ความเครียดและความวิตกกังวล

อีกหนึ่งสาเหตุที่มองข้ามไม่ได้! ทั้งความเครียดในชีวิตประจำวัน และถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลก็สามารถนำไปสู่อาการนอนไม่หลับ โดยระดับคอร์ติซอลจะยังคงสูงขึ้นระหว่างการนอนหลับ

  • นอนในห้องที่มีอากาศเย็นจัด 

ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สะดุ้งตื่นได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกล้ามเนื้อ ไม่สมดุลกับอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้เกิดอาการกระตุกเกร็งได้เช่นกัน

ผลกระทบจาก “กล้ามเนื้อกระตุก” 

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมากลางดุก แล้วนอนหลับต่อซึ่งบางคนกว่าจะหลับก็ยาก จึงทำให้เกิดอาการนอนไม่เต็มอิ่มนั่นเอง
  • บางคนมีอาการสะดุ้งตื่นหลายครั้งจนหัวใจเต้นถี่ ทำให้นอนหลับต่อไปไม่ได้อีก
  • ในกรณีร้ายแรงอาจจะทำให้เข้าสู่ภาวะ “ผีอำ” คือไม่สามารถขยับร่ายกายได้ กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปช่วงขณะหนึ่ง

วิธีป้องกัน “กล้ามเนื้อกระตุก” 

อาการสะดุ้งตื่นจากฝันถือเป็นเรื่องปกติที่คาดเดาไม่ได้ แน่นอนว่าไม่สามารถกำจัดออกไปจากชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถลดความถี่ และความรุนแรงของอาการได้ ด้วยเทคนิคไม่กี่ข้อที่จะทำให้ชีวิตนอนหลับดีขึ้น

  • เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน แม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์
  • ตั้งอุณหภูมิห้องนอนให้ต่ำถึงกลาง 60 องศาฟาเรนไฮต์
  • ทำให้ห้องนอนมืด และเงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • หยุดเล่นมือถือย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • ลดความเครียด หาความสุขให้ชีวิต
  • ออกกำลังกายทุกวัน ควรออกให้เสร็จอย่างน้อย 90 นาทีก่อนเข้านอน 
  • ลดการบริโภคคาเฟอีน แก้วสุดท้ายก่อนนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง 
  • หลีกเลี่ยงนิโคตินและแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว อาการกระตุกยังคงมีในบางครั้ง เป็นเรื่องปกติของการนอนหลับ หากพบการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่รบกวนการนอนของเรา ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

Writer Profile : uss
ชอบฟังเพลงพอๆ กับชอบนอนหลับ :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save