เจาะลึกเบื้องหลัง KAAN Show อภิมหาโปรเจกต์โชว์ครั้งใหม่ของเมืองไทย KAAN Show คืออภิมหาโปรเจกต์ Live Show ล่าสุดของประเทศไทยที่ไม่เหมือนโชว์ไหนๆ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราเพราะทั้งเนื้อเรื่อง เทคนิค และวิธีการนำเสนอนั้นแตกต่างจากขนบการแสดงในรูปแบบเดิมที่เคยมีมาหมด เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ครั้งใหม่ก็คงไม่ผิดอะไร วันนี้เราจะพาไปพบกับเบื้องหลังการเตรียมงานกว่า 3 ปีที่พวกเขาทุ่มเทอย่างหนัก ด้วยทีมงานหลายร้อยชีวิต หลากหลายบริษัทที่เกี่ยวข้อง บทสัมภาษณ์จากปากของผู้สร้าง ‘สิน – ยงยุทธ ทองกองทุน’ และ ‘กอล์ฟ – ปวีณ ภูริจิตปัญญา’ ถึงโชว์ที่เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในความภูมิใจครั้งใหม่ของโชว์ระดับโลกในเมืองไทย ที่มาของชื่อ KAAN ชื่อของ ‘คาน’ ตัวเอกของเรื่อง และเป็นชื่อโชว์เดิมทีเป็นชื่อม็อคอัพที่ตั้งไว้เฉยๆ ซึ่งมาจากตัวละครเอกใน ’15 ค่ำเดือน 11′ หนังของพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ซึ่งคาน ในความหมายของ Kaan Show นั้นหมายถึงผู้สร้างสมดุลย์ ประเภทของการแสดง คานโชว์เป็นการแสดงสดแบบ Live Performance ที่มีส่วนผสมของการแสดง, โปรดักชั่นอลังการ, แสงสีเสียง และภาพยนตร์ พร้อมเซอร์ไพรส์อีกมากมาย โชว์ที่สร้างสรรค์โดยคนทำภาพยนตร์ สิน – ยงยุทธ ทองกองทุน และ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ได้เข้ามาดูแลด้านการแสดง รวมถึงดูแลภาพรวมต่างๆ ของโปรเจกต์อีกด้วย โรงละคร SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre สามารถจุคนดูได้ถึง 1,400 ที่นั่ง ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อดัง A49 ตั้งอยู่ที่ ถ.เทพประสิทธิ์ ในเมืองพัทยา เปิดการแสดงทุกวันอังคาร-อาทิตย์ จองบัตร และรายละเอียดเพิ่มเติม -> KAAN Show KAAN Show โปรเจกต์ระดับ 1,000 ล้านจากบริษัทปัญจลักษณ์พาสุข แม้เศรษฐกิจของไทยจะขึ้นๆ ลงๆ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกลับไม่เคยตกลงเลย และคิดเป็นรายได้กว่า 12% ของ GDP ประเทศด้วยซ้ำ ซึ่งในอดีตไทยเรามีการแสดงและโชว์อื่นๆ ระดับประเทศมากมาย ทว่าก็เน้นผู้เข้าชมชาวต่างชาติเป็นหลัก แต่แล้วก็ได้มีการร่วมลงทุนจากหลายฝ่ายจนเกิดบริษัท “ปัญจลักษณ์พาสุข” ซึ่งถือเป็นการรวมทีมงานระดับชาติในด้านต่างๆ ของไทย ตั้งแต่ GDH, Scenario, MFEC, บริษัทสถาปนิก A49 จนเกิดโชว์ที่หลายฝ่ายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่คือโชว์ระดับโลก ที่เกิดจากฝีมือคนไทย” โปรเจกต์ KAAN เริ่มต้นจากอะไร พี่สิน : แรกสุดเลยทางปัญจลักษณ์พาสุข เขาตั้งใจจะทำธุรกิจโชว์ ซึ่งเขาก็มีการรีเสิร์จมาก่อนหน้านี้เยอะมากวางแผนการลงทุนว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง แต่สำหรับเนื้อหาก็ต้องหาคนทำให้ ซึ่งเขาเลือกที่จะมาคุยกับเรา แต่เราก็ไม่เคยทำ เขาก็ไม่เคยทำ ในช่วงรีเสิร์จจึงต้องการให้เห็นภาพที่ตรงกันมากๆ ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้พอพูดว่า Creative มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ ความที่ทั้งเขาและเราก็ไม่เคยทำมาก่อน ทุกอย่างเป็นเรื่องรสนิยมความชอบหมดเลย ดังนั้นเราเลยต้องออกไปดูโชว์ต่างๆ ทั่วโลกด้วยกัน มีการศึกษาข้อมูลแค่ไหนก่อนเริ่มงานจริง พี่สิน : ย้อนกลับไป 3 ปีก่อน ช่วงรีเสิร์จเราไปดูโชว์ทั้งที่เป็นบรอดเวย์ โชว์ในลาสเวกัส โชว์ในสวนสนุก ใช้เวลาอยู่เกือบปีในการเก็บข้อมูลจากนั้นค่อยมาคุยกันว่าสิ่งที่น่าจะเหมาะกับสิ่งที่เราอยากจะทำ หาข้อดีข้อเสียของแต่ละอัน ว่ามันคืออะไร การที่ได้ไปทริปครั้งนั้นเลยทำให้พวกเราได้คุยกัน และกลายเป็นความมั่นใจว่าเราไปบนเส้นทางเดียวกัน เห็นภาพเดียวกัน ซึ่งทำให้งานต่างๆ หลังจากนั้นเรารู้สึกว่ารสนิยมของเรากับกลุ่มผู้นักลงทุนเห็นไปในทิศเดียวกัน KAAN เกิดขึ้นมาภายใต้แรงบันดาลใจใด พี่กอล์ฟ : เราโตมากับโชว์ในยุคต่างๆ และเราก็ตื่นตาตื่นใจในยุคของมัน ยุคหลังๆ คนจะไม่ค่อยลงทุนเรื่องโชว์พวกนี้แล้ว อาจมีการนำโชว์จากเมืองนอกเข้ามา แต่ของคนไทยจะไม่ค่อยมีเลย แล้วพอเรามีโอกาสที่จะได้ทำ เราเลยรู้สึกว่าเราก็อยากจะสร้างโชว์ที่แปลกตา และไม่เหมือนกับที่เคยมีมาในบ้านเรา ต้องบอกก่อนว่าเราเป็นคนทำหนัง เราไม่ใช่คนทำละคร เราไม่ใช่คนที่ทำกายกรรม ทำโชว์ตามอีเวนต์ แต่เราคือคนทำหนังซึ่งเป็นคนเล่าเรื่อง สุดท้ายเราเลยเลือกที่จะเล่าเรื่องก่อนเป็นหลัก เพื่อให้คนดูสนุกไปกับเรื่องราวของเรา มันเลยไม่ใช่ละครเวที แล้วก็ไม่ใช่โชว์ที่มาต่อกันไปเรื่อยๆ มันเหมือนเป็นการเอาสิ่งใหม่ๆ จากหลายๆ ศาสตร์มารวมกัน แล้วก็มาใช้ความเชื่อแบบที่เราเชื่อเล่ามันออกไป ซึ่งถ้าถามว่ามันเป็นเหมือนโชว์ไหนที่เคยเกิดขึ้นมา ก็อาจจะหาคำจำกัดความได้ยากหน่อย ทำไมถึงบอกว่าตั้งใจทำ KAAN มาเพื่อให้คนไทยดู ? พี่กอล์ฟ : เป้าหมายของธุรกิจนี้คือต้องให้ทุกคนมาดูได้ เป็น Universal เราคิดต่อยอดไปอีกว่าทำไมไม่ทำโชว์สำหรับคนไทยบ้างเพราะผมรู้สึกว่าการแสดงอื่นๆ ที่มีในบ้านเรา เปิดมาเพื่อนักท่องเที่ยว ไม่ได้เปิดมาเพื่อเรา คิดว่านักท่องเที่ยวอยากดูอะไร พี่กอล์ฟ : พอได้มาทำ KAAN ก็เลยเป็นโจทย์ที่เราตั้งใจว่าเราจะทำโชว์ที่คนไทยอยากดูและเราก็ต้องทำให้นักท่องเที่ยวดูได้ด้วย เหมือนถ้าเราเป็นนักท่องเที่ยวเวลาเราไปที่อื่นเราไม่ได้รู้เรื่องราวศิลปวัฒนธรรมเขาหรอก แต่ว่าเราไปดูความตื่นตาตื่นใจ แสดงว่าเราก็สามารถทำให้คนที่ไม่เข้าใจเรื่องวรรณคดีไทยอะไรเลยมาสนุกกับเราได้ แล้วอะไรที่คนไทยอยากดู พี่สิน : อย่างแรกเลยคือเราต้องแปลงศิลปะไทย มาในแบบคนไทยที่เห็นสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เกิดก็ยังอยากดู เราตีความใหม่และคิดเยอะมากว่าทำยังไงที่จะได้โชว์แบบที่คนไทยอยากดู ความตื่นตาตื่นใจและแปลกใหม่ คือสิ่งที่น่าสนใจ ต่อยอดไอเดียอย่างไร จนเกิดมาเป็น KAAN พี่กอล์ฟ : ก็เหมือนทำหนังเลยฮะ พอมีไอเดีย เราก็เอามาทำโครงเรื่อง คือช่วงที่ไปทริปจะมีการถกเถียงกันเยอะ แรกสุดไอเดียแรกที่ทางปัญจลักษณ์อยากทำ ก็คือการเอาเรื่องจากวรรณคดีไทยมาผสมเทคโนโลยี และไม่อยากทำอะไรซ้ำเดิม เราเคยเอาเรื่องสุดสาครมาพัฒนากันตั้งแต่ก่อนไปทริป ก็ได้ทำเรื่องย่อของสุดสาครออกมา แต่พอเราได้ดูโชว์เยอะๆ ก็ได้เห็นโครงสร้างของโชว์แต่ละแบบ สุดท้ายเลยคุยกันว่าโชว์เรามันไม่ควรมีบทพูด เพราะเราก็เห็นแล้วว่ามันมีข้อจำกัดเพราะตอนเราไปดูบรอดเวย์ที่นิวยอร์ค พวกเราหลับกันทุกคน เพราะภาษาเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ดูโชว์ ด้วยความที่พอมันเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็จะตัน เพราะวิธีการนำเสนอมันต้องรักษาเรื่องราวเอาไว้ แต่พอเราไปดูอะไรที่ไม่มีโครงเรื่อง เราก็จะไม่เข้าใจการเล่าเรื่องของเขาอีก สุดท้าย KAAN เลยเป็นการ “ยำใหญ่วรรณคดีไทย”? พี่กอล์ฟ : เราเลยสรุปว่าเรื่องสุดสาครเรื่องเดียวไม่น่าเอาอยู่ เพราะโครงเรื่องเดียวมันใส่ wow factor ที่มีความหลากหลายได้ไม่หมด ซึ่งประเทศไทยก็มีเรื่องอีกหลายเรื่องที่น่าจะเอามาลองดู เราเลยเป็นการยำใหญ่วรรณคดีไทย ซึ่งเราก็จะเลือกมาแต่ฉากไฮไลท์ที่จะทำให้เราสามารถสร้างโชว์ได้ว้าวไปเรื่อยๆ เราก็เลยกลับมาพร้อมกับความคิดว่า จะทำโชว์ที่ผสมเทคโนโลยี ไม่มีคำพูด เป็นการยำใหญ่วรรณคดีไทย แต่ว่าการเล่าเรื่องก็สำคัญเหมือนกันเพราะจะทำให้เรื่องราวการติดตามการดูโชว์ไม่น่าเบื่อ “สำหรับ KAAN ความรู้ที่มีมาช่วยอะไรได้ไม่มาก เราต้องศึกษาใหม่หมดทุกอย่างเลย” พอรู้ว่าจะเป็นเรื่องวรรณคดีไทย แล้วเอาพัฒนาอย่างไรต่อ? พี่กอล์ฟ : จากนั้นเราก็เลือกวรรณคดีไทยที่สนุกมา ก็ได้มา 6 เรื่องที่เราคิดว่าสนุกแล้วก็คิดว่าเราจะโชว์อะไร จะมีเทคนิคบนโลกอะไรที่จะมาเสริมการเล่าเรื่องโชว์พวกนี้เข้าไปได้ แล้วบังเอิญว่าวรรณคดีไทยมีเรื่องราวที่หลากหลาย ครบในทุกเทคนิค ถ้าอยากเล่นอะไรที่เหมือนไลออนคิงส์ทำ เราก็มีป่าหิมพานต์ ซึ่งบรรเจิดมาก หรืออย่างโชว์เมขลารามสูร ที่เล่นเรื่องกระแสไฟฟ้าฟาด ปกติในไลฟ์โชว์เวลาฟ้าฟาด จะใช้ไฟแลบแปลบๆ แต่เราได้ไปเห็นโชว์ของอังกฤษชื่อว่า Lords of Lightning ซึ่งเขาจะโชว์ตามคอนเสิร์ตที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่กัน เราเลยรู้สึกว่านี่แหละรามสูรและเมขลาของเรา เรามีเรื่องที่มันเป็นออริจินัลอยู่แล้ว เราแค่เอาเทคนิคพวกนี้ใส่เข้าไป อย่างรามเกียรติ์ คือเราไปดูโขนพระราชทานกันทุกปี เราชอบมาก และเรารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่อลังการและเขาทำได้สุดจริงๆ แต่เราคิดว่าเราไม่มีปัญญาทำแบบนั้นได้แน่นอน เราเลยตีความโขนและรามเกียรติ์ออกมาในแบบของเรา พอเราไปอ่านเรื่องราว “ศึกครั้งนี้สู้กัน 500 ปี” เราก็คิดว่าโหสู้กันได้ไงวะ ไม่ใช่คนแล้ว เราเลยคิดว่าเห้ยหรือมันไม่ใช่คนวะ หรือมันเป็นหุ่นยนต์สู้กัน ทีนี้ในโชว์ของเราเลยกลายเป็นทศกัณฐ์หุ่นยนต์ที่มีความสูง 8 เมตร หนึ่งในความยากของการทำ KAAN คืออะไร แล้วแก้ปัญหาอย่างไร? พี่กอล์ฟ : ช่วงที่เราเริ่มจะหาทีมงาน เวลาไปคุยกับคนอื่น คนอื่นจะไม่เห็นภาพเลย เพราะแต่ละคนจะเคยชินกับรูปแบบที่ตัวเองเคยทำมา อย่าง ซีเนริโอ (scenario) ก็จะทำเป็นมิวสิคัลมา เลยต้องสื่อสารกันนานมาก สุดท้ายเราเลยต้องทำโชว์นี้ขึ้นมาทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ ยาวทั้งหมดชั่วโมงครึ่ง มีฉากทุกอย่าง มีตัวละครหลักวิ่งไปมา การทำโชว์นี้ก็เหมือนกับการทำหนังอีกหนึ่งเรื่องเพื่อฉายบนจอด้วย ซึ่งหนังก็เป็นทีมของ RiFF Animation Studio เข้ามาช่วย ซึ่งเขาต้องดีไซน์ Storyboard ต่างๆ อยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่าให้ทำทั้งโชว์ขึ้นมาเลยดีกว่าไม่งั้นก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง พูดให้ใครฟังไม่เข้าใจ เพราะเวลาเราเขียนเรื่องเราก็ไม่ได้เขียนเป็น script เพราะมันไม่ใช่หนัง เราก็เลยทำวิธีการนี้ขึ้นมา โดยเราเริ่มจากการเอาตัวหนังสือมาพิมพ์ใส่โปรแกรมตัดต่อเป็นหน้าๆ แล้วเรียงกันว่าตรงนี้ ‘คาน’ เดินมา แล้วเอา music score วาง โดยที่ไม่มีภาพเลย เหมือนอ่านนิยายที่มีเพลงประกอบ แล้วเราก็ยืดหดเวลาตามภาพในหัวเรา แล้วก็ส่งไปให้ทีม cg ใส่ภาพตามเข้ามา แล้วค่อยมาแก้ไขกันระหว่างทาง ซึ่งเราก็ได้มือตัดต่อของที่ GDH มาช่วยปรับตรงนี้ให้เรา KAAN Show กับเทคนิคส่วนใหญ่ที่เป็นฝีมือคนไทย พี่สิน : ตอนแรกก็คิดว่าเทคนิคบางอย่างเป็นเรื่องง่ายๆ ซื้อฝรั่งเอาก็ได้ แต่พอเราเสนอฝรั่งไป ฝรั่งบอกว่าทำไม่ได้ ทั้งในเรื่องเวลาที่จำกัดและในแง่ของราคาก็มหาศาลมาก สุดท้ายเราก็เลยมาหาคนทำในเมืองไทย ซึ่งตอนแรกเราก็คิดว่าคงไม่ยากมั้ง ไม่น่าจะซับซ้อน คนไทยน่าจะพอทำได้ พี่กอล์ฟ : แต่พอเราไปเล่าให้ฟัง เขาก็บอกว่าสิ่งที่เราต้องการมันยาก แต่สุดท้ายคนไทยก็คิดจนมันทำได้ ก็เลยกลายเป็นว่าโจทย์ที่เคยคิดว่าจะง่ายก็เริ่มยากละ ทุกคนชอบภาพรวมละ แต่ว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้ยังไง? เราก็เลยกลับมาเป็นทีมไทย ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่างไปพร้อมๆ กับเนื้อเรื่องด้วย คือ พัฒนาCG ที่เป็นฉากหลังไปพร้อมๆ กับซ้อมนักแสดง เซ็ต Projector 20 กว่าตัว ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสาธิตว่าอันไหนเหมาะกับสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ รายละเอียดมันเยอะมาก และเราไม่เคยทำ ไม่มีความรู้ที่จะทำมาก่อน “สุดท้ายเลยต้องใช้รสนิยมและความเชื่ออย่างเดียว ว่ามันทำได้แหละ ต้องใช่แหละว่ะ” เราเป็นเหมือนคริสโตเฟอร์โคลัมบัสที่บุกป่าไปพื้นที่ ที่ไม่มีคนเคยไป เราถือคบเพลิงอันนึงเดินไป แล้วคนข้างหลังถามตลอดทางว่าพี่พาผมไปไหนเนี่ย พี่พาผมไปไหน ถ้าไปแล้วจะตายไหม ในใจเราก็พูดว่าเราไม่รู้!! แต่เราบอกไม่ได้ เลยต้องบอกว่าเชื่อพี่เถอะครับ พี่มีความเชื่อ ทุกคนต้องเชื่อพี่ครับ แต่ในใจเราคือแบบ เราจะรู้ได้ยังไงเราก็ไม่เคยมา เป็นอย่างนี้ตลอดเวลาที่ทำงานนี้มา 2 ปี "โรงละครลอยฟ้า" ที่สามารถจุคนดูได้ถึง 1,400 ที่นั่ง ในการแสดงใช้ทีมงานรวมมากกว่า 600 คน เงินลงทุนโครงการนี้สูงถึง 1,000 ล้านบาท เบื้องหลังโชว์ทั้ง 6 ชุด และเรื่องที่ควรรู้ก่อนชมโชว์จริง โชว์สุดอลังการทั้ง 8 องก์ของ KAAN นั้นแต่ละองก์ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ เพราะแต่ล่ะองก์ แต่ละฉากผ่านการคิดมาแล้วอย่างดีว่าจะให้โชว์ไหนขึ้นก่อน เทคนิคที่ใช้แสดงแบบไหนเหมาะกับโชว์นั้นๆ มากที่สุด และเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย และนี่คือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละองก์ก่อนจะมาเป็นโชว์ที่คุณได้เห็น มิติวรรณคดี : The Book and The Key ฉากเปิดของ Kaan เริ่มต้นจากไอเดียว่าถ้าเด็กคนหนึ่งจะถูกดูดเข้าไปในโลกของวรรณคดีก็ต้องเกิดในห้องสมุดนี่แหละ จะไปเกิดกลางสี่แยกไฟแดงก็คงไม่ใช่ ผู้สร้างอยากให้คนดู เห็นแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่าหนังสือ กุญแจ และ รูปปั้นที่มีชีวิตในห้องสมุด เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไรโดยง่ายที่สุดในฉากแรกเนื่องจากโชว์ชุดนี้ไม่มีบทพูด แต่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ว่าเด็กคนหนึ่งทำกุญแจแตกเป็น 5 เสี่ยง และถูกส่งไปตามหาเศษซากกุญแจทั้งหลายเพื่อกลับมายังโลกปัจจุบัน หากสังเกตดูเนื้อเรื่องมีความคล้ายเกมสูงมาก รวมถึงภารกิจที่ตัวเอกได้รับก็มีลักษณะเหมือนกำลังเล่นเกม ซึ่งทีมผู้สร้างตั้งใจให้บทเหมือนกำลังเล่นเกมผจญภัยที่ต้องไปทำเควสต่างๆ นั่นเอง ผีเสื้อพิโรธ : The Wrath of the Sea Giantess วรรณคดีเรื่องแรกคือ ‘พระอภัยมณี’ เพราะทีมมีความเห็นว่าเป็นวรรณคดีที่คนไทยเข้าใจและจำได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นฉากแรก การเปิดเรื่องให้คนตราตรึงต้องเล่นใหญ่มากๆ จึงมีทั้งหุ่นม้านิลมังกรยักษ์ที่บินโฉบเข้าหาคน เทคนิคการใช้ Projection Mapping สร้างซีนต่างๆ ขึ้นมาจนคนดูอึ้งอินไปตามๆ กัน และอีกสารพัด ฉากม้านิลมังกรบินข้ามหัวผู้ชมนั้น เดิมทีจะไม่มีแต่ “ปวีณ” ผู้กำกับโชว์นี้ยืนยันที่อยากจะให้มี เพราะประสบการณ์ที่เคยให้ม้านิลมังกรลองบินเข้าหาคนดูปรากฎว่าภาพมันอลังการมากๆ เขาเลยยืนยันให้ต้องมีซีนนี้ ซึ่งก็โชคดีที่เขาคิดถูกจริงๆ ปราโมทย์หิมพานต์ : The Colours of Himmavanta หลังจากซีนแรกเปิดตัวอย่างพีคมาแล้ว ซีนต่อมาต้องเบาลงหน่อยด้วยการเลือกตอนที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสอย่างป่าหิมพานต์ ซึ่งเทคนิคที่ใช้ผู้กำกับเลือกที่จะเอาแมสคอทสัตว์ยักษ์ในป่าหิมพานต์มาเล่นเพื่อให้ดูน่ารัก มีคอมมิคโมเมนต์เกิดขึ้นในโชว์นี้ ในตัวอย่างของ Kaan จะเห็นว่ามีฉากพ่นไฟด้วย ซึ่งเดิมทีฉากพ่นไฟ ควงกระบองไฟจะอยู่ในตอนนี้ แต่ปรากฎว่าพอใช้ไฟจริงๆ ปัญหาเกิดทันทีตรงที่พื้นลื่นเพราะน้ำมัน และมีควันดำเกิดขึ้นในโรงละคร ไฟจริง น้ำมันจริงจึงต้องยกเลิกไปแล้วหันมาใช้เทคนิคในการสร้างไฟขึ้นมาแทนซึ่งชดเชยได้เหมือนกันโดยที่อารมณ์โชว์ก็ยิ่งใหญ่เท่าเดิมแถมปลอดภัยกว่าด้วย องก์นี้ใช้นักแสดงเยอะมากๆ ชุดหนึ่ง เนื่องจากอยากให้เห็นความยิ่งใหญ่ของหมู่บ้านพรานบุญ อสุนีมารโรมรัน : The Chase of Lightning โชว์ชุดนี้ใช้นักแสดงเพียง 5 คนเพื่อนําเสนอ เน้นความอลังการของฉาก 3D Mapping และเทคนิคพิเศษที่ต้องมาติดตามชม มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างกระแสไฟฟ้าจำลองมาดูงานและเป็นที่ปรึกษา แต่เบื้องหลังการสร้างกระแสไฟฟ้าล้านโวลต์ขึ้นมานั้นเป็นการสร้างสรรค์โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ท่านหนึ่งซึ่งชื่นชอบในด้าน Testla Coil มากๆ มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาทดแทนระหว่างที่รออุปกรณ์ซึ่งต้องสั่งซื้อมา เช่น ชุดที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้า ซึ่งอาจารย์ท่านนั้นก็สร้างขึ้นมาเองชั่วคราวโดยใช้มุ้งลวดที่ทำสุ่มไก่มาทำ ฝรั่งมาตรวจงานเห็นแล้วยังตะลึงว่าทำได้ไงใช้งานได้แถมเบาด้วย โชว์ชุดนี้ต้องเซ็ตทีมขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลเรื่องการสร้างกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะเพื่อให้นักแสดงอุ่นใจว่ามีผู้เชี่ยวชาญดูแล เดิมพันรจนา : The Wager for the Ivory Kingdom โชว์นี้มีการแฝงเรื่องศิลปวัฒนธรรมทั้ง 5 ภาคของไทยผ่านขบวนแห่ของเจ้าชายหลากเมืองที่จะมาในงานเลือกคู่ โจทย์คือจะนำเสนอวัฒนธรรม 5 ภาคแบบไหนให้ร่วมสมัยที่สุด ในช่วงของเงาะป่า มีการตีความกันใหม่ว่าไม่สมเหตุสมผลเลยที่ทำไมนางรจนา ถึงมองเห็นรูปทองในร่างเงาะป่าอย่างเดียว เลยทำให้ตัวละครในซีนนี้ทุกคนใส่หน้ากากให้หมด และทั้งเมืองก็คุมธีมโดยใส่หน้ากากกันหมดเลยเสมือนทุกคนปกปิดตัวตนใต้หน้ากาก โชว์นี้ใช้คนเยอะมากถึง 75 คนเยอะที่สุดแล้วจากบรรดาโชว์ทุกองก์ ปราบพญาชาละวัน : The Underwater Abyss เนื่องจากโชว์กำลังเดินทางมาใกล้จบแล้วผู้กำกับเกรงว่าคนอาจจะเริ่มง่วง หรือหาวซึมต้องหาอะไรมาเบรคความง่วงซึมให้ตื่นตัว ผู้กำกับจึงนำเสนอความตื่นเต้นในช่วงแรกด้วยระบำใต้น้ำสุดเซ็กซี่ที่เรียกว่า ‘Water Bowl Acrobatics’ แต่หากได้ดูโชว์นี้จริงๆ เราจะมองข้ามความเซ็กซี่ และมองลึกไปถึงความสามารถแทน โชว์นี้เป็นโชว์เดียวที่ได้โชว์แม่ไม้มวยไทย สตั๊นต์โชว์แบบเต็มๆ เป็นโชว์ที่มีแอคชั่นล้วนๆ ซึ่งช่วยให้เกิดความตื่นตาตื่นใจโดยความตั้งใจคืออยากจะบิวด์ไปฉากจบตอนสุดท้ายที่ต้องอลังการ ทศกัณฐ์อหังการ : The Cataclysm โชว์สุดท้ายของ KAAN Show ไฮไลท์อยู่ที่หุ่นยนต์ยักษ์ 8 เมตรซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทศกัณฐ์ แต่ทีมงานเรียกหุ่นตัวนี้ว่า ‘ทศกัณฐ์ดั้ม’ ฉากนี้มี CG ที่โดนยกทิ้งทั้งดุ้นคือฉากที่หนุมานสู้กับทศกัณฐ์ เนื่องจากไม่ลงตัวด้านเวลาโชว์ และมีความติดขัดหลายอย่างจึงยกออกฝ่ายเทคนิคร้องไห้กันระงม ในตัวหุ่นยนต์ทศกัณฐ์ดั้ม มีค็อกพิทที่คนสามารถเข้าไปนั่งได้จริงๆ ซึ่งระหว่างแสดงในหุ่นยักษ์ตัวนี้ก็มีคนควบคุมอยู่ เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ KAAN Show KAAN Show นั้นเป็นหนึ่งในการแสดง Live Show ที่มีรายละเอียดมากมายนอกเหนือจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างโชว์แล้ว ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเบื้องหลังการเตรียมงานต่างๆ อีกมากมายซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราได้เห็นถึงรายละเอียดในการสร้างผลงานโชว์ระดับชาติที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น และนี่คือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของการแสดงโชว์ยิ่งใหญ่นี้ ที่บางเรื่องคุณจะอึ้ง ทุนที่ใช้ในการสร้างโรงละคร และสร้างโชว์อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ลงทุนคือบริษัทปัญจลักษณ์พาสุข เดิมทีมีแผนว่าจะตั้งโรงละครยังจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ, พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยในเฟสเริ่มต้นนั้นฝ่ายบริหารมองว่าตั้งโรงละครและจัดโชว์แห่งแรกที่พัทยา ก่อนจะขยายไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวนนักแสดงทั้งหมด 90 คน ส่วนทีมงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโชว์เท่านั้นมีถึง 300 คน นักแสดงทุกคนจะสลับตำแหน่งและบทบาทกันไปเรื่อยๆ ไม่มีใครรับบทใดบทหนึ่งตลอด ปวีณ จำชื่อนักแสดงได้ทุกคน ก่อนโชว์ และหลังโชว์จบทุกคนจะซ้อมร่วมกันตลอดเพื่อซ่อม หรือแก้ไขจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน นักแสดงหนึ่งคนรับบทคนละ 3 บท แต่หากใครมีความสามารถพิเศษเพิ่มเติมอาจจะได้รับบทเพิ่มอีก 1 บท นักแสดงบางคนนั้นก็ไม่ได้เป็นนักแสดงมืออาชีพ แต่ประกอบอาชีพอื่นๆ แต่มีใจรักในการแสดง และมีความสามารถทักษะที่ตรงกับความต้องการของ KAAN Show อุปกรณ์ประกอบฉากทุกชิ้นที่เคลื่อนไหวเข้ามาในฉากนั้นเกือบทั้งหมดใช้ระบบคนเข็น เพื่อความว่องไว และคุมเวลาได้แม่นกว่ารีโมท ม่านยักษ์สีแดงที่ผู้ชมเห็นตอนเปิดเรื่องนั้น เบื้องหลังต้องเซ็ทอัพด้วยแรงคนล้วนๆ ทุกรอบและใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อเซ็ทอัพม่านให้เข้าที่ ระบบรอก และสลิงสุดซับซ้อนของ KAAN Show มาจากฝีมือสร้างสรรค์ของทีมงานไทยที่ชื่อว่า ‘บ้านริก’ เรือสำเภาลำยักษ์ที่โผล่มาในตอนผีเสื้อพิโรธ นั้นด้านในดัดแปลงมาจากรถเพื่อใช้บังคับการเคลื่อนไหวของเรือทั้งลำ การดูแลนักแสดง ไม่ต่างอะไรกับการดูแลนักกีฬา เพราะมีทั้งนักวิทยาศาสตร์การกีฬา พยาบาล และหมอนวดแผนไทยคอยดูแลยามบาดเจ็บ ระบบรางด้านบนโรงละครถือเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมหุ่น และอื่นๆ ซึ่งเป็นระบบที่เซ็ตติ้งนานมาก และวุ่นวายสุดๆ แต่ก็แก้ไขมาได้ด้วยดี ด้านหลังเวทีมีลิฟต์สำหรับขนนักแสดง หรืออุปกรณ์ไปเตรียมพร้อมยังจุดต่างๆ ด้วย ปัจจุบันนี้มีคนไทยมาดูมากกว่าชาวต่างชาติ ซึ่งเหนือความคาดหมายมากๆ รายละเอียดบัตรเช้าชม รอบการแสดง มีทั้งหมดอังคาร – พฤหัสบดี วันละ 1 รอบเวลา 17.00 น. ส่วนวันศุกร์ – อาทิตย์ มีวันละ 2 รอบ เวลา 17.00 น. และ 20.30 น. *รอบการแสดงอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบรอบการแสดงล่าสุด รวมถึงโปรโมทชั่นดีๆ สำหรับคนไทยที่จะออกมาเรื่อยๆ ได้ทาง Facebook KAANShow ค่าบัตรเริ่มที่ 2,500 – 4,000 บาท (มีโปรโมชั่นดีๆ ออกมาทุกเดือน ทั้งสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ติดตามโปรโมชั่นต่างๆ ได้ที่ Facebook KAANShow) ระยะเวลาการแสดง : 1 ชั่วโมง 30 นาที โรงละคร SINGHA D’LUCK Cinematic Theatre ตั้งอยู่ที่ ถ.เทพประสิทธิ์ ในเมืองพัทยา จองบัตร และรายละเอียดเพิ่มเติม -> KAAN Show ชมรอบรอบการแสดงล่าสุดได้ที่ -> Facebook KAANShow สัมภาษณ์, เรียบเรียงโดย ทีมงาน Mango Zero