category สัมภาษณ์ 3 นักแสดงจาก KAAN Show ชีวิตที่เปลี่ยนผ่านกับการได้ทำตามความฝันของตนเอง

Writer : Nokkaew

: 24 เมษายน 2561

สัมภาษณ์ 3 นักแสดงจาก KAAN Show

ชีวิตที่เปลี่ยนผ่านกับการได้ทำตามความฝันของตนเอง

KAAN Show สุดยอด Live Show อันแสนภาคภูมิใจของคนไทยที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องมีการเตรียมการที่ไม่ธรรมดา แน่นอนว่ารวมไปถึงนักแสดงที่ต้องใช้ทักษะพิเศษของแต่ละบุคคลซึ่งยากที่จะเลียนแบบ นักแสดงบางคนต้องรับบทมากกว่าสามตัวละครในหนึ่งโชว์ ทั้งนี้พวกเขาต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นแรมปีเพื่อให้โชว์มีความสมบูรณ์แบบที่สุด

หลังจากที่เราได้ไป เจาะลึกเบื้องหลัง KAAN Show อภิมหาโปรเจกต์โชว์ครั้งใหม่ของเมืองไทย กันมาแล้ว ในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ 3 นักแสดงหลักของ KAAN ที่เป็นตัวแทนจากนักแสดงบนเวทีทั้งหมด ที่จะมาถ่ายทอดให้ฟังว่ากว่าจะมายืนอยู่บนเวทีของโรงละครสุดอลังการนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง

พรพินิจ ทิพนางรอง (ตั๊ก) – กบิลปักษา

interview-kaan-actors-40

กบิลปักษา เพื่อนซี้ของคาน

  • จากเด็กที่ไม่มีพื้นฐานการแสดง สู่นักแสดงหลักของ KAAN
  • เคยเป็นพนักงานร้าน KFC / เป็นนักแสดงที่สวนน้ำ Cartoon Network
  • เป็นคนติดเกมมาก
  • ไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อน เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่ศูนย์
  • แอบนอนร้องไห้ในช่วงแรกที่ฝึกซ้อม

ก่อนที่ตั๊กจะมาเป็นนักแสดงที่ KAAN เคยทำอะไรมาก่อนครับ

interview-kaan-actors-4

ความฝันในชีวิตผมมีสองอย่างครับ หนึ่งเลยคือเป็นกุ๊ก และอีกฝันหนึ่งอันนี้เป็นฝันตั้งแต่เด็กๆ ก็คืองานเกี่ยวกับการแสดง มันเป็นเป้าหมายในชีวิตเรา ถ้ามีโอกาสได้ทำก็คงดี เริ่มแรกผมเรียนคอร์สทำอาหารสั้นๆ แล้วสถาบันเค้าก็ส่งไปฝึกงานตามร้านอาหาร พอได้ดีลงานกันก็ต่อกันยาวเลย ช่วงแรกก็อยู่ร้านแฟรนไชรส์อย่าง KFC ผมเป็นสายกุ๊กตะลอนไปเรื่อยๆ ประมาณนี้ครับ

 

ได้ทำตามความฝันที่เป็นกุ๊ก แล้วมาเข้าสู่อาชีพการแสดงได้อย่างไรครับ

ผมเป็นกุ๊กอยู่ระยะหนึ่งแล้วผมรู้สึกว่ามันถึงช่วงเวลาที่ต้องเปลี่ยนผ่าน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าชีวิตคนคนนึง มันจะมีจุดเปลี่ยน ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่า เราเบื่อๆ กับการเป็นกุ๊ก เริ่มเบื่อกับระบบเกินไป ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นในตอนนั้น แต่ต้องทำงานโดยที่เค้าจะมีลิสต์รายการสิ่งที่ต้องทำ เช้า กลางวัน เย็น มันก็เลยค่อนข้างเบื่อ เบื่อความเป็นระเบียบในขณะที่ใจเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่

 

แล้วได้เริ่มมาทำงานสวมชุดมาสคอตที่ไหนอย่างไร

interview-kaan-actors-tak-1

ผมได้ไปสมัครงานที่สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค ทำเป็นงานประจำเลย เริ่มแรกได้แต่งเป็น Bubbles หนึ่งในสามสาวแก๊ง Powerpuff Girl ครับ ซึ่งถ้าเด็กเห็นข้างในก็คงกรี๊ดแน่นอน (หัวเราะ) ตอนที่ได้บทเนี่ย แน่นอนว่าเราต้องทำให้ตัวเองอินกับการเป็น Power Puff Girl ช่วงแรกก็แปลกๆ เหมือนกัน คือเราก็เป็นผู้ชายไง เราก็ไม่รู้ว่าจะเล่นยังไงให้เด็กเค้ารู้ว่าเราเป็น Powerpuff Girl ผมก็ต้องทำการบ้านหนักมาก ต้องดูว่า Bubbles มันทำอะไรในแต่ละวัน แล้วใช้การเลียนแบบตัวการ์ตูนเพื่อให้ตัวเรากลายเป็น Bubbles ได้

วันหนึ่งของคนสวมมาสคอตเนี่ย เค้าทำอะไรบ้าง

เช้ามาก็วอร์มร่างกายก่อนเลยครับ แล้วก็ซ้อมเพื่อทบทวนท่าทางต่างๆ ที่เราจะทำในแต่ละเพลง โดยของผมทั้งหมดก็จะมีประมาณ 11 เพลง เราก็ต้องทวนและซ้อมทุกวัน การซ้อมเนี่ย นอกจากช่วยให้เราจำท่าทางต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เราไม่รู้สึกเบื่อ เซ็ง หรือเหนื่อย เพราะว่ามันค่อนข้างร้อนแล้วเรายิ่งสวมชุดก็ยิ่งร้อนเข้าไปอีก อ้อ… สิ่งที่ทำให้ผมมีกำลังใจอีกอย่างหนึ่งก็คือตอนเห็นลูกค้า เห็นเด็กๆ สนุกสนานกับบทบาทที่เราเป็นอยู่ ผมก็ชื่นใจและทำให้เรามีแรงทำงานต่อ สำหรับงานมาสคอตที่สวนน้ำก็ทำกันตลอดเช้ากลางวันเย็นเลยทั้งวันครับ เสร็จรอบหนึ่งก็ต่ออีกรอบหนึ่ง  มีแค่พักทานข้าว ทำแบบนี้ 6 วันต่อสัปดาห์ แรกๆ เหนื่อยมากครับ แต่พอมาหลังๆ ร่างกายก็เริ่มปรับตัวได้

มาสคอตมันมีอะไรบ้างที่คนทั่วไปไม่เคยรู้

งานมาสคอตในแต่ละวันมันก็จะรู้สึกแตกต่างกันนะ บางวันสนุกตื่นเต้น บางวันก็เบื่อ เหมือนการทำงานปกตินั่นแหละครับ ถ้าถามว่ามันมีอะไรที่แตกต่างจากที่คนข้างนอกเห็น ก็คงเป็นการเตรียมตัวก่อนแสดง การเตรียมตัวทุกอย่างต้องอยู่ในที่ปิด คนข้างนอกจะไม่มีทางเห็นเลย ถ้าอยู่ดีๆ มีลูกค้าแบบว่าเดินมาเปิดประตู อาจจะนึกว่าเป็นประตูทางออกหรือทางเข้าห้องน้ำ เปิดเข้ามาแล้วเจอกำลังแต่งตัวกันอยู่ ก็ต้องมีผู้ดูแลไปเคลียร์ให้ และอีกอย่างคือเด็กๆ ที่ชอบเข้ามาป่วนมาสคอต ตบบ้าง เตะบ้าง ดึงบ้าง ความน่ารักของตัวมาสคอตเราทำให้เราทำอะไรไม่ได้ ได้แค่สะกิดเพื่อให้เค้ารู้ว่าเราเจ็บนะ

หนักสุดที่เจอคือโดนเด็กกระโดดถีบใส่ ตอนนั้นผมแต่งเป็นฟินน์จากเรื่อง Adventure Time อยู่ ฟินน์จะเป็นตัวละครขี้เล่น กวนประสาท เด็กฝรั่งคนหนึ่งเค้ามาเห็น เค้าก็วิ่งมากระโดดถีบ ผมก็ล้มลงไปเลย สต๊าฟด้านหลังต้องมาช่วยยัน ดีที่อยู่ในชุดนิ่มๆ จึงไม่เจ็บมากเท่าไร แล้วเด็กคนนั้นก็โดนสต๊าฟดุไปชุดใหญ่

เรามีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร

ผมว่าอย่างแรกเลยเราต้องจัดการปัญหาของตัวเราเอง เราอยู่ในมาสคอต ทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย แล้วยังต้องจัดการเรื่องเวลา ช่วงแรกผมก็ทำไม่ได้นะ ผมก็โมโหเหมือนกัน เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน พอนานเข้าเริ่มปรับได้ เราก็เข้าใจว่า โอเค เด็กมันชื่นชอบตัวละครตัวนี้อ่ะ ตัวเราก็ต้องเป็นสิ่งที่เด็กจินตนาการไว้ เราก็ต้องยอมรับตรงนั้น ถ้ากระทบกระทั่งอะไรมาเราก็ต้องปล่อย

interview-kaan-actors-tak-2

เริ่มต้นมาแสดงโชว์ KAAN ได้อย่างไร

interview-kaan-actors-5

ผมทำงานอยู่ที่สวนน้ำได้ประมาณหนึ่งปีหกเดือน แล้วผมกับเพื่อนก็เห็นโปสเตอร์รับสมัครงานบน facebook เราเห็นแต่รูป แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร เราก็คุยกันในกลุ่มมาสคอต เพราะส่วนใหญ่เราจะไปกันเป็นกลุ่ม เออ ลองไปดูไหม น่าสนใจดี ดูไม่ค่อยเหมือนที่อื่นที่เราไปดู ผลตอบแทนน่าจะดีด้วย ตอนนั้นโรงละครยังไม่เสร็จเลยนะครับ ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเราต้องไปใส่เป็นตัวอะไร

มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนแสดงจริง

kaan-interview-14

หลังจากออกจากสวนน้ำผมก็ไปเก็บตัวซ้อมที่บ้านริก ตั้งแต่เข้ายิมฟิตร่างกาย ซ้อมละคร เต้น พื้นฐานของการแสดงทั้งหมด ทรมานมาก เราไม่เคยเจอมาก่อน เหมือนฝึกทหาร แต่มีการเรียนแอคติ้งเพิ่มเข้ามา

ตอนมาออดิชั่นเป็นอย่างไรบ้าง

interview-kaan-actors-38

ตอนนั้นผมยังเต้นไม่เป็นนะ อยู่ในมาสคอตก็แค่เคลื่อนไหวตามจังหวะ 1 2 3 4 ไม่ได้เต้นเยอะ เราก็ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการฝึกกับเพื่อนแดนเซอร์ ให้เค้าช่วยซ้อมให้ พอไปถึงเราก็ไปทำสิ่งที่เราเตรียมมาให้เค้าดู เราเต้นไม่เป็นเท่าไร แต่เราจะให้เค้าดูว่าเราพยายาม ตอนนั้นก็มีคู่แข่งที่มาสมัครเยอะมาก หลายสิบคน แข่งทั้งกับเพื่อนในกลุ่มเรา ทั้งกลุ่มอื่นด้วย

เสร็จแล้วเค้าประกาศผลวันนั้นเลย ผมกับเพื่อนในกลุ่มก็ได้งานเกือบทุกคน

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับตอนนั้น

interview-kaan-actors-36

ผมว่ายากสุดคือเรียนละคร เรามีความรู้เป็นศูนย์ แต่เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่ตอนนั้นยังไม่ได้เจาะบท เราก็ไม่เข้าใจศัพท์ที่ครูสอน เราจะงงๆ

แล้วครูก็จะบอกว่า อ่ะ เดี๋ยวตั๊กออกไปเล่นที่เค้าพูดให้ดูซิ เราก็จะงง มันคืออะไรจะต้องเล่นยังไง เราไม่รู้ว่าการเล่นที่เค้าบอกมันคืออะไร แล้วเราต้องอยู่รวมกันยี่สิบคน ผมเป็นคนที่ขี้อายด้วยถ้ายังไม่สนิทกับใคร

interview-kaan-actors-39

มีท้อบ้างไหมครับ

บ่อยครับ ช่วงที่เรียนแอคติ้งผมท้อยบ่อยมาก เราไม่รู้ว่ามันคืออะไรหล่ะแอคติ้ง เราไม่เคยเรียน แล้วต้องมาทำการบ้านอะไรไม่รู้ ซึ่งสไตล์เราไม่ใช่คนทำการบ้านอ่ะ สไตล์เราคือปฏิบัติอย่างเดียว

ต้องมาทำการบ้านต้องวางแผนงานให้ครูดู ช่วงที่เรียนแรกๆ ผมนอนร้องไห้คนเดียวทุกคืนเลย มันคืออะไรวะ ผมไม่เข้าใจเลย ผมเครียดมาก ผมต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่เพราะว่ามันสำคัญจริงๆ ตอนแรกไม่เข้าใจว่าเค้าจะเรียกเรามาทำไมว้า คนอื่นเยอะแยะ ไปเลือกเค้าก็ได้

ณ ตอนนั้นคือความสู้และความอดทนนี่แหละที่ทำให้ผมผ่านมาได้ โชคดีที่มีคานที่เค้าเรียนสายแอคติ้งมาอยู่แล้วก็คอยช่วยคอยแนะนำ และเพื่อนๆ ช่วยให้กำลังใจ ซึ่งกำลังใจจากเพื่อนและครอบครัวสำคัญมากจริงๆ ทำให้ผมต้องเปลี่ยนตัวเอง หยุดเล่นเกมแล้วมาทำการบ้านและฝึกให้เข้าใจให้ได้มากที่สุด

ตอนนั้นทราบไหมว่าต้องเก็บตัวซ้อมนานแค่ไหน

ตอนนั้นเค้าก็ไม่ได้บอกด้วยว่าต้องเก็บตัวซ้อมนานแค่ไหน แต่ก็ซ้อมวันจันทร์-ศุกร์ หยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่กันแบบนี้ประมาณห้าเดือน ซ้อมโดยที่ไม่รู้เลยว่าเราแสดงอะไร บทเป็นยังไง เป็นตัวไหน

มาทราบตอนสองเดือนสุดท้าย ตอนที่เค้าคัดนักแสดงว่ากลุ่มนี้แสดงเป็นตัวนี้ๆ แล้วก็ซ้อมในตำแหน่งที่คล้ายกับซ้อมในโรงละครจริง โดยเค้าจะบอกว่าโรงละครจริงจะเป็นอย่างนี้นะ มาร์คนี้คือจุดนี้ของโรงละคร พอมาลงโรงละครจริงก็จะเข้าใจเร็วขึ้น เหมือนกับย้ายจุดมาร์คจากกรุงเทพมาที่โรงละครนั่นเอง

ตอนที่เค้าบอกว่าได้บทกบิล ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

ไม่รู้เลยครับ คือ เราเห็นภาพนะว่ากบิลคือตัวนี้ แต่เราไม่รู้ว่ากบิลคิดอะไร ทำอะไร ก็ต้องเจาะแอคติ้งเข้าไปว่าตัวกบิลเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร โดยที่มีแบล็คกราวน์คร่าวๆ แล้วเราเอาตัวเราเข้าไปใส่ ศึกษาจริงจัง ว่ากบิลเป็นนก ชนิดไหน กินอะไร ทำอะไร นิสัยเป็นอะไร ชอบสีอะไรประมาณนี้ครับ

อธิบายความเป็นกบิลให้ฟังหน่อยสิ

interview-kaan-actors-61

กบิลเป็นลิงที่ค่อนข้างจะร่าเริง มีความสุขตลอดเวลา ตื่นเต้นกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เค้าเจอ แต่แม้ว่าเป็นลิงตลกดูบ้าบอ กวนประสาท แต่เค้าเองก็เป็นคนที่มีเป้าหมายแน่วแน่

ความยากของการเป็นกบิล คือ เค้าเป็นสัตว์ เราต้องเป็นลิงผสมนก มันเป็นความยากของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็พอเลียนแบบได้ ซึ่งพอเลียนแบบไปนานๆ จะติดเหมือนกัน ทุกวันนี้ผมยังติดเดินแบบกบิลบ้าง เหมือนเราทำแบล็คกราวน์ตัวนี้มาเยอะจนซึมซับไปแล้ว

 

รู้สึกยังไงที่ต้องรับบทที่เป็นที่จับตามอง สำคัญมากในเรื่อง

kaan-behind-the-scene-09

หนักใจมาก เป็นเรื่องที่หนักใจที่สุด เพราะว่ากบิลยากที่จะทำให้คนเชื่อว่าเราเป็นกบิลจริงๆ เราจะทำยังไงให้คนดูรู้สึกว่า เราเป็นกบิลนะ เราไม่ใช่คนที่สวมชุดมาสคอตแล้วไปวิ่งไปวิ่งมาในโชว์ ทุกครั้งที่แสดงก็จะประหม่าและตื่นเต้นกับการที่เห็นหลายๆ คนมารอดูกบิล

อยากฝากอะไรถึงคนดูบ้างไหมครับ

ทุกครั้งที่เราแสดงเราอยากให้คนดูมีความสุข ไม่ว่าจะพลาดบ้าง เจ็บบ้าง ซึ่งเค้าก็ไม่รู้หรอกว่าเราเจ็บหรือไม่อย่างไร แต่ทุกครั้งที่เราเล่น ทุกครั้งที่เค้าเห็นเรา มันก็มีสิ่งเดียวคือเค้ามาดูเพื่อความสุข เค้ามาดูเพื่ออยากเห็นเราตัวจริง อยากสัมผัสกบิล ความสุขของคนดู ก็คือความสุขของผมครับ

 

บุญหลาย แซ่เหล้า (หลาย) – สตันท์แมน

interview-kaan-actors-15

สตันท์แมนชาวม้ง

  • จากนักแสดงหนังม้ง สู่โรงละคร KAAN Show
  • ชีวิตตอนทำหนังม้งลำบากมาก เคยถูกไฟคลอกตอนทำงาน
  • ครั้งแรกในชีวิตสำหรับการแสดงบนโรงละคร
  • แสดงได้หลายบทบาทในโชว์

ก่อนหน้านี้พี่หลายทำอะไรมาบ้าง

interview-kaan-actors-llai9

ก่อนหน้านี้ผมเป็นนักแสดงหนังม้งอยู่ที่เชียงรายครับ เป็นลักษณะหนังแผ่นที่มีสปอนเซอร์มาจากอเมริกา คนที่มาทำเค้าก็เป็นพี่ชาวม้งที่ไปอยู่อเมริกานี่แหละ เค้าชอบทำหนังเลยมาสร้างหนังที่เมืองไทย ถ่ายทำแล้วส่งไปขายทางนู้น ผมก็ได้ร่วมแสดงหนังของเขาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ผมเป็นสตันท์แมนคิวบู๊ฝั่งตัวร้าย

 

คนที่เป็นสตันท์แมนเค้าต้องฝึกอะไรบ้าง

แน่นอนว่าสตันท์แมนต้องร่างกายและทักษะความคล่องตัว แต่ที่สำคัญที่สุดคือใจเนี่ยต้องสู้ บางฉากที่เรารู้ว่าต้องเจ็บอยู่แล้ว ต้องสู้ต้องโดนอะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราดันกลัว เวลาเล่นภาพก็จะออกมาไม่ดี ใจของสตันท์แมนต้องสู้ตอนเข้าฉากที่มีการปะทะเพื่อให้ได้ภาพที่สมจริง

 

ยกตัวอย่างฉากที่ต้องใช้ใจสู้สุดๆ หน่อยครับ

interview-kaan-actors-llai13

ฉากหนึ่งที่เล่นเป็นสตันท์แมนในหนังเรื่องม้งสงครามวีรบุรุษ มีฉากที่เป็นระเบิดไฟ มีการยิ่งต่อสู้กัน ฉากนั้นผมต้องเสียชีวิตนอนอยู่นิ่งๆ แล้วข้างหลังผมเป็นระเบิด มีไฟลุก แถมยังมีต้นไม้ที่กำลังจะล้มลงมาอีก ซึ่งถ้าผู้กำกับยังไม่สั่งคัทเราก็ต้องนอนอยู่อย่างนั้นลุกไม่ได้ บางทีมันก็ร้อน เราก็เห็นอยู่ว่าไฟมันลอยมา บางทีเราก็กลัว และในส่วนการล้มของต้นไม้ถึงแม้เค้าจะคำนวณทิศทางการล้มไว้แล้ว แต่เราก็มีกลัวบ้าง แถมฉากนั้นพอนอนลงไปฟันผมกระแทกปืนฟันร้าวเลยครับ

หนักสุดที่ร่างกายเคยได้รับมาคืออะไร

มีช็อตหนึ่งผมโดนไฟไหม้โดยอุบัติเหตุ ฉากนั้นเราต้องถ่ายรอบกองไฟโดยเอานางเอกมาจับเป็นตัวประกันไว้ เราจุดไฟไว้รอบๆ เพื่อให้พระเอกมาช่วย แต่ช่วงนั้นอยู่บนดอย อากาศมันชื้นเลยจุดไฟไม่ค่อยติด จึงต้องเอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟ แล้วเราก็สู้กันในกองไฟ เอาไฟตีกัน ล้มลงกองไฟกัน

ช็อตนั้นพอดีไฟมันดับหมด ผมก็เลยเอาน้ำมันไปราดๆ เพื่อจะจุดใหม่ ในช่วงที่ราดลมตีมา ไฟลุกมาโดนน้ำมันที่เราถืออยู่ประมาณสามลิตร ไฟจึงลุกท่วม หลังผมไหม้หมดเลย ผมรีบกระโดดออกมากลิ้งลงกับพื้น เพื่อนที่เห็นก็มาช่วยดับไฟ ยังเป็นแผลไฟไหม้อยู่จนถึงทุกวันนี้

เป็นสตันท์แมนมานานแค่ไหนแล้ว

ผมเข้าวงการหนังม้งตั้งแต่อายุ 18 จนตอนนี้อายุ 32 เคยมีโอกาสได้มาทำละครช่อง 7 เป็นผู้ช่วยกล้อง ตอนนั้นจึงได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับกับการทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ ของทีมถ่ายหนังครั้งแรก ได้ลองทำหลายอย่างมากๆ ในกอง และได้ศึกษาไปในตัว

หลังจากกลับไปที่เชียงรายก็ได้เอาประสบการณ์ตรงนี้มาช่วยในการทำหนังม้ง ซึ่งได้ผลดีมาก ทำให้การทำงานเป็นระบบและเร็วขึ้นมาก

ไปไงมาไงถึงได้มาเป็นนักแสดงที่ KAAN

พอดีช่วงปีใหม่ม้ง ผมไปทัวร์เปิดตัวหนังที่จังหวัดตาก ได้มีโอกาสรู้จักกับน้องที่ทำงานที่ KAAN แล้ว เมื่อเดือนมกราคม 59 แกโทรมาบอกว่า พอดีมีโปรเจคต์ KAAN เค้ากำลังคัดนักแสดงอยู่ สนใจไหม ลองส่งโปรไฟล์มาแคสไหม

ช่วงนั้นผมติดหนังอยู่สองเรื่องเลยยังไม่ได้รับ พอผ่านมาประมาณช่วงเดือนสิงหาคม แกโทรมาอีกทีบอกว่าเขายังรับอยู่ ถ้าพี่เสร็จงานแล้วลองส่งโปรไฟล์มา ผมจึงส่งไปแล้วไปแคสนักแสดง ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยครับว่า KAAN คืออะไร ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักโรงละครด้วยซ้ำ คนม้งส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักเลย อย่างมากก็รู้จักแค่การแสดงบนเวที

interview-kaan-actors-52

เล่าให้ฟังตอนมาแคสนักแสดงหน่อยครับ

interview-kaan-actors-16

ตอนนั้นผมมากับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็เข้าไปแสดงความสามารถ ตีลังกา คิวบู๊ต่างๆ ให้กรรมการดูพร้อมกันสองคน หลังจากที่แคสเสร็จก็กลับไปที่เชียงรายรอฟังผล และหลังจากที่ทราบผลว่าได้งาน ผมกับเพื่อนดีใจมาก และกลับมาเข้างานช่วงตุลาคม 2559

หนังม้งกับโรงละครต่างกันเยอะไหม

kaan-show-man-with-the-mask

แตกต่างเยอะครับ โรงละครเนี่ยผมไม่รู้เลยว่ามีการจัดการอย่างไร ตอนผมมาอยู่ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สัมผัสไปว่าแต่ละแผนกแต่ละฝ่ายทำงานยังไง มีฝ่ายไหนบ้าง ทำอะไรกันบ้าง

ทำไมถึงตัดสินใจเลือกมาทำงานที่ KAAN

interview-kaan-actors-17

ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ หนังม้งที่ผมทำอยู่รายได้ค่อนข้างน้อย เพราะกลุ่มคนดูหนังม้งไม่ได้เยอะ มีกำไรแค่นิดหน่อย ผมว่างานนี้ดีที่สุดในชีวิตแล้ว ที่ผ่านมาเราเคยเจองานที่ปวดหัว งานหนัก เจอแดด เจอเรื่องเสี่ยงอันตรายเยอะแยะ

ตอนแรกทราบไหมครับว่าจะมารับบทอะไร

kaan-show-Under-Water-Abyss

ไม่ทราบเลยครับ ซ้อมช่วงแรกก็ฟิตร่างกายให้พร้อม จนใกล้ถึงวันแสดงเค้าก็จะบอกคร่าวๆ ว่าจะได้เป็นบทประมาณนี้นะ เราก็ต้องซ้อมคิวที่เป็นบทบาทที่เราอาจจะได้รับ ซ้อมในโรงละครนี้เลย ผมอยู่ที่นี่ประมาณเดือนตุลาคม เก็บตัวซ้อมจนถึงพฤษภาคม ปรับทุกอย่างให้สมบูรณ์ที่สุด

คิวบู๊ในโรงละครกับคิวบู๊ถ่ายหนังต่างกันเยอะไหม

ต่างกันค่อนข้างเยอะเลยครับ หนังเนี่ยเราใช้มุมกล้องช่วยได้ เราใช้เทคนิคการตัดต่อมาช่วยได้ แต่การแสดงในโรงละครคือการเล่นสด คิวทุกอย่างต้องเป๊ะ ท่าต้องดูสมจริง ยากกว่าการถ่ายหนังเยอะมากๆ ถ่ายหนังเนี่ยเล่นพลาดก็ไม่เป็นไร ถ่ายใหม่ได้ แต่โรงละครต้องทำให้เพอร์เฟคที่สุดในครั้งเดียว

พูดถึงความเสี่ยงบ้างครับ การเป็นสตันท์แมนในหนังกับที่โรงละคร

ต่างกันครับ แน่นอนว่าสตันท์แมนในหนังก็มีความเสี่ยงสูงกว่าสตันท์แมนในโรงละคร แต่ยากกว่าตรงที่ต้องเล่นให้สมจริงและดุดันโดยที่ห้ามผิดพลาด

นอกจากนี้เราต้องเล่นได้หลายตัวด้วย อย่างสมุนชาละวัน เราก็ต้องรู้คิวหลายตัว ถ้ามีบางตัวขาดไปเราจะได้เล่นแทนตำแหน่งกันได้เลย ตอนซ้อมแรกๆ ก็งงเพราะต้องจำคิวหลายตัว ต้องซ้อมบ่อยๆ ซ้อมด้วยกันเป็นทีม

ผมต้องซ้อมจนกล้ามเนื้อจดจำคิวต่างๆ ได้ ไม่ใช่ว่าต้องมานั่งคิดว่าถึงไหนแล้ว เพลงมาปุ๊ป เราต้องแอคติ้งได้ทันที ซ้อมจนหลับตาแล้วนึกได้ทันทีว่าแต่ละช็อตแต่ละคิวเราต้องออกท่าทางอะไรบ้าง

คิวไหนยากสุดครับ

ผมว่าแต่ละจุดก็จะมีความยากที่แตกต่างกันนะ แต่ว่าในช็อตที่เป็นสมุนชาละวันผมว่าค่อนข้างจะอันตราย เพราะว่ามีการต่อสู้กัน มันต้องมีการกระทบกันด้วย อย่างลูกเตะมันก็จะเบาๆ ไม่ได้ ต้องให้มีน้ำหนักดูดุดันสมจริง ซึ่งบางครั้งก็มีพลาด ผมบอกเลยว่าการเล่นสดมันไม่มีทางที่จะไม่พลาด มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่เราต้องทำข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด

interview-kaan-actors-54

การที่เป็นคนม้งมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรกับเพื่อนนักแสดงคนอื่นไหม

interview-kaan-actors-50

ผมมองว่าทุกคนเหมือนกันครับ ติดแค่บางทีเราพูดไทยยังไม่ชัด 100% เพื่อนฟังก็งงๆ บ้าง แต่ส่วนอื่นก็โอเคหมดครับ ทุกคนก็ให้สิทธิเราเท่าเทียมกัน รักกันดี ไม่มีการแบ่งแยก และเราอายุค่อนข้างมาก เค้าก็ให้เกียรติเราด้วย

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ มีช่วงไหนที่รู้สึกท้อไหมครับ

ส่วนตัวผมค่อนข้างโอเคมากครับ เพราะผมเองก็รักในการแสดงตั้งแต่เข้าวงการ เท่าที่ผมผ่านงานมาเนี่ย ที่นี่สบายสุดแล้ว ซึ่งผมค่อนข้างรักมาก ชีวิตผมเปลี่ยนเยอะเลย การที่เรามีรายได้ประจำทำให้ค่อนข้างอยู่ตัว อย่างเมื่อก่อนที่ทำหนังม้ง เค้าจ้างเราเรื่องต่อเรื่อง ถ้าเว้นไปสองสามเดือนเราก็ไม่มีเงินใช้แล้ว

ที่นี่สบายด้วย อยู่ห้องแอร์ สวัสดิการพร้อม ข้าวก็มีกิน ข้าวกินไม่หมดก็ห่อกลับบ้านไปกินได้ (หัวเราะ)

ถ้ามีเด็กผู้ชายคนหนึ่งมาบอกว่าผมอยากเป็นสตั๊นที่ KAAN จังเลย จะบอกเค้าว่าอะไร

interview-kaan-actors-11

ต้องฝึกฝนตัวเอง ฝึกฝนร่างกาย ที่ KAAN ต้องใช้คนที่มีฝีมือและประสบการณ์ในการแสดง และแน่นอนว่าต้องมีวินัยในตัวเองในการฟิตร่างกาย จัดระเบียบเวลาได้ดี ไม่ใช่ไปเที่ยวตลอดจนไม่ได้นอนทำให้ร่างกายไม่พร้อมจนทำให้ศักยภาพในการโชว์น้อยลง

ในฐานะนักแสดงอยากบอกอะไรคนดูบ้าง

การแสดงของเราเนี่ย เป็นอะไรที่เราพยายามเต็มความสามารถของทุกคน โดยนำจุดเด่นของนักแสดงแต่ละคนมาใช้กับโชว์เพื่อให้ KAAN สมบูรณ์ที่สุด ผมฝากให้ทุกคนมาชม มาให้กำลังใจเราที่ KAAN รับประกันว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

มนัสวีนันทน์ เจิงกลิ่นจันทน์ (อุ้ม) – นางเงือกและเมียชาละวัน

interview-kaan-actors-27

นักแสดงอดีตนักยิมนาสติกลีลาและเชียร์ลีดดิ้งทีมชาติ

  • เคยเป็นตัวแทนทีมชาตินักยิมนาสติกลีลาและเชียร์ลีดดิ้ง
  • รับบทหลากหลาย สวิงแทนนักแสดงได้แทบทุกบทบาท
  • ซ้อมกีฬาอย่างหนักทุกวันหลังเลิกเรียนตั้งแต่เรียนมัธยม
  • ได้ใช้ความสามารถด้านกีฬาช่วยในการแสดงของตัวเองและเพื่อนในทีม

อุ้มเริ่มเล่นกีฬายิมนาสติกได้อย่างไรครับ

คุณครูที่โรงเรียนแนะนำมาตั้งแต่ช่วงประถมค่ะ มีเพื่อนที่เป็นนักยิมนาสติกอยู่แล้ว ตอนนั้นเค้าติดแข่งขันแล้วหนูไปเล่นแสดงแทน พอดีว่าคุณครูเห็นแววจึงแนะนำให้เรียนต่อ จึงมีโอกาสได้เริ่มเรียนตั้งแต่ตอนประมาณ 8 ขวบ

ในช่วงแรกก็ฝึกทั่วไป ฉีกขา ดัดหลัง ม้วนตัว ตอนนั้นร้องไห้ทุกวันเลย เพราะว่าตอนเด็กๆ โดนดัดตัวจะเจ็บ ไม่ยอมไปเรียน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ส่งเสริมแล้วก็ให้กำลังใจถึงได้เล่นต่อมาเรื่อยๆ

เริ่มแข่งรายการแรกตั้งแต่เมื่อไหร่

interview-kaan-actors-4

เข้ารายการแข่งครั้งแรกๆ ก็ช่วงประมาณ 10 ขวบ ตอนนั้นตื่นเต้นมากเพราะยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเรื่อยๆ ในสายยิมนาสติกลีลา ที่เล่นกับอุปกรณ์ต่างๆ อย่างบอล ริบบิ้น เต้นพร้อมกับเพลงสวยๆ

ความยากของการเป็นนักยิมนาสติกคืออะไร

หนูว่าอยู่ที่ความอดทนเป็นอันดับแรกเลย ยิมนาสติกเป็นกีฬาที่ต้องซ้อมทุกวัน ต้องใช้ทักษะของร่างกายเยอะมาก ทั้งความแข็งแรง ความอ่อนตัว แล้วก็ไหวพริบตอนเล่นกับอุปกรณ์ หลังเลิกเรียนคุณพ่อจะมารับไปซ้อม เป็นอย่างนี้ทุกวันตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม

interview-kaan-actors-8

รู้สึกว่าชีวิตวัยเด็กขาดหายไปบ้างไหม

เคยรู้สึกตอนวัยรุ่นค่ะ ช่วงมัธยมประมาณ ม.4 ช่วงนั้นก็จะเป็นวัยรุ่นติดเพื่อน เลิกเรียนเพื่อนก็จะชวนไปดูหนังบ้าง แต่ว่าเราไม่สามารถไปได้เลย เพราะเราต้องไปซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน

เราได้เป็นนักกีฬาทีมชาติประมาณช่วงไหน

ช่วงประมาณ ม.ปลาย ค่ะ ยิมนาสติกจะเป็นกีฬาที่แข่งไปเรื่อยๆ แล้วเค้าจะมีการคัดตัว ซึ่งได้คัดตัวแล้วติดหนึ่งในทีมชาติยิมนาสติก ยิมนาสติกลีลา

เคยไปแข่งที่สิงค์โปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น สนุกมาก ทำให้ได้รู้ว่าเพื่อนบ้านเราก็มีความสามารถที่สุดยอดเหมือนกัน ทำให้เราอยากพัฒนาและขยันฝึกซ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

เก่งไม่เก่งนี่เขาเทียบกันอย่างไร

กรรมการจะตัดสินเป็นกลุ่มท่าค่ะเค้าจะมีเกณฑ์ในเรื่องของความอ่อนตัว กระโดด หมุนตัว การทรงตัว โดยจะมีท่าหลากหลายให้เราเล่น มีระดับความง่ายไปถึงยากให้เลือกเล่น แล้วเค้าจะเอาทุกอย่างมาเฉลี่ยให้คะแนน

ตอนนี้ยังเล่นยิมนาสติกอยู่ไหม

หลังจากช่วงมัธยมหนูได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า บวกกับอยู่ในช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยที่เลือกเรียนภาษญี่ปุ่น-ธุรกิจ ซึ่งค่อนข้างยากจึงต้องตั้งใจมากเป็นพิเศษแล้วก็ไม่ได้เล่นต่อแล้วค่ะ

พอเข้าช่วงมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นช่วงที่ใช้ชีวิตเต็มที่เหมือนที่อยากจะเป็น คือ เรียน เที่ยว อยู่กับเพื่อน แต่พอผ่านมาได้สัก 2-3 ปีก็เริ่มเบื่อ ด้วยการที่ตัวเองรู้สึกว่าต้องมีอะไรทำเป็นชิ้นเป็นอัน จึงสมัครชมรมเชียร์ลีดดิ้งที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

ตรงนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกกันใหม่ แต่หนูมีทักษะยิมนาสติก หนูก็เลยรื้อฟื้นมาแล้วต่อยอดเป็นนักกีฬาเชียร์ลีดดิ้ง จนได้แชมป์ระดับประเทศมาเมื่อปี 2558

interview-kaan-actors-9

ความต่างของยิมนาสติกกับเชียร์ลีดดิ้งคืออะไร

เชียร์ลีดดิ้งต้องอาศัยความเชื่อใจกันของทีม ส่วนยิมนาสติกเป็นกีฬาเดี่ยว เราอยู่กับแค่ตัวเองและอุปกรณ์ แต่เชียร์ลีดดิ้งต้องเชื่อใจเพื่อนในทีม อย่างเวลาเราขึ้นไปที่สูงเราต้องเชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อในตัวเพื่อนที่ซัพพอร์ตเรา ในทีมจะมีคนเยอะมาก ประมาณ 24 คน ถ้าคนใดคนหนึ่งที่ทำพลาดก็จะเกิดปัญหากับทั้งทีม เราต้องรวมใจกันและทำให้มันผ่านไปได้ด้วยดี

interview-kaan-actors-3

ตอนที่มาออดิชั่นเป็นอย่างไรบ้าง

วันนั้นเค้าก็ให้แสดงความสามารถของตัวเอง หนูก็โชว์ยิมนาสติกที่ตัวเองถนัดค่ะ ผสมกับการเต้นคอนเทมโพรารี่ ซึ่งกรรมการเค้าก็ประกาศผลวันนั้นเลย ถ้าจำไม่ผิดไปออดิชั่นวันพฤหัส แล้วเค้าก็ให้มาเริ่มงานวันจันทร์เลย แล้วเราก็ตอบตกลงไปค่ะ

หลังจากจบมา ทำไมถึงมาทำที่ KAAN ได้

ตอนนั้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ช่วงจบมาตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร รับงานอีเวนท์ทั่วไป ประเภทเต้นและเชียร์ลีดดิ้ง จนมีแนะนำมาทาง Facebook ว่า กำลังหานักแสดงที่มีความสามารถเกี่ยวกับยิมนาสติกและแอเรียล ตอนแรกหนูก็ยังไม่รู้หรอกค่ะว่าแอเรียลเป็นยังไง แต่หนูก็ลองเอาความสามารถมาออดิชั่นที่นี่ดู

ตอนแรกหนูคิดว่าเป็นละครเวทีทั่วไปปกติ ไม่คิดว่าต้องโลดโผนขนาดนี้ ซึ่งพอได้มาทำที่นี่ก็รู้สึกว่าได้เปิดโลกใหม่ และเก็บเกี่ยวความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา

interview-kaan-actors-29

บรรยากาศตอนเก็บตัวซ้อมเป็นอย่างไรบ้าง

ในช่วงแรกพวกเรามาเก็บตัวซ้อมที่บ้านริกในกรุงเทพฯ เค้าก็จะมีคลาสแต่ละวันคล้ายกับเรียนหนังสือ ชั่วโมงนี้เรียนยิมนาสติก ชั่วโมงนี้เรียนแอคติ้ง เรียนแอเรียลซิลค์ โหนผ้า เป็นตารางในแต่ละวัน โดยเรียนพร้อมกันกับเพื่อนๆ เก็บตัวซ้อมอยู่ที่บ้านริกกันประมาณ 4 เดือน แล้วก็ย้ายมาที่โรงละครจริงค่ะ

kaan-stunt-practice-02

ตอนที่เริ่มซ้อมอุ้มใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อยู่กรุงเทพ ถ้าว่างก็จะรับงานบ้าง เป็นช่วงที่ไปแข่งที่สิงค์โปร์ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เลิกงานเสร็จก็กลับไปซ้อมที่มหาวิทยาลัยอยู่ประมาณสามเดือน ช่วงนั้นโหดมาก และหลังจากจบแข่งก็มาที่โรงละครเต็มตัว

จริงไหมที่เค้าบอกว่าการเป็นนักกีฬาทีมชาติไม่มีความมั่นคง

ใช่ค่ะ เคยคิดว่าช่วงที่ขาบาดเจ็บหนูจะทิ้งทุกอย่างเกี่ยวกับยิมนาสติกแล้วตั้งใจเรียน เพราะว่าไม่น่าจะมีอาชีพไหนที่รองรับความสามารถแบบนี้ค่ะ ตอนนั้นคิดว่าจบไปคงเป็นพนักงานออฟฟิศ เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นอะไรประมาณนี้ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้มาที่ KAAN ความสามารถเราสามารถนำมาใช้และต่อยอดเป็นอาชีพได้

ตอนที่มาทำงานที่นี่คิดถึงการแข่งขันยิมนาสติกบ้างไหม

คิดถึงบ้างนะคะ คือ สิ่งที่ทำมันไม่ได้ต่างไปจากเดิมมาก ได้ใช้ความสามารถมาต่อยอดกับงาน อย่างแอเรียลหรือวอตเตอร์โบลว์ก็ต้องใช้ความอ่อนตัวและความแข็งแรงคล้ายกับยิมนาสติก แค่เปลี่ยนอุปกรณ์ยิมนาสติก มาเป็นอุปกรณ์อย่างอื่นเท่านั้นเอง

ทำอย่างไรถึงสามารถแสดงได้ในหลายบทบาท

ใช้เวลาฝึกฝนค่ะ ใช้เวลาฝึกเป็นปีเพื่อความชำนาญ สิ่งที่เราแสดงอยู่ค่อนข้างเสี่ยงด้วย ถ้าเราไม่มีความแข็งแรง ไม่มีความอ่อนตัวมากพอก็ยิ่งเสี่ยง แต่ที่นี่เค้าก็เน้นความปลอดภัยของนักแสดงเป็นอันดับแรก

วันแรกที่ได้โชว์จริงรู้สึกอย่างไรบ้าง

ตื่นเต้นมากค่ะ คนดูเต็มโรงไปหมดเลย ทุกสายตาจับจ้องมาที่เวทีหมดเลย เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด

interview-kaan-actors-35

ในเวลาโชว์แล้วเราต้องเป็นคาแรกเตอร์นั้น เราต้องอินที่สุด สมมติเราเป็นกินรี เราต้องใช้ความคล้ายคลึง เราก็จะมองเห็นคนดูเป็นเพื่อนเราที่เป็นกินรี เราต้องจูนเข้าไปว่าเราเป็นตัวนี้ให้ได้ เราไม่ใช่เป็นแค่นักแสดงที่มาโชว์บนเวที

ถ้ามีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่มาดูโชว์แล้วเค้าอยากเป็นแบบเรา เราอยากบอกอะไรเค้าบ้าง

interview-kaan-actors-46

ต้องฝึกค่ะ และถ้านี่คือความฝันของเค้าจริงๆ อยากให้เก็บความรู้สึกนี้ไว้ เอาไว้ใช้เวลาท้อ ที่นี่ก็ถือว่าเป็นอาชีพใหม่ ที่เปิดรับนักแสดงนักเต้นที่มีความฝันอยากจะทำในสิ่งที่รัก

ฝากอะไรถึงคนดูหน่อย ที่กำลังจะมาเห็นอุ้มในหลายๆ บทบาท

อยากให้ทุกคนที่มาชม ช่วยเป็นกำลังใจให้นักแสดงด้วยนะคะ ทุกคนที่นี่ทำงานหนักมากๆ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ใช้ความสามัคคีเพื่อทำให้โชว์นี้ออกมาดีที่สุด

interview-kaan-actors-49

สัมภาษณ์, เรียบเรียงโดย
ทีมงาน Mango Zero

Writer Profile : Nokkaew
ชายหนุ่มที่กินข้าวอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ กินข้าวเสร็จก็กินน้ำ เสร็จแล้วก็ไปอาบน้ำ ตอนเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบซื้อหนังสือมุราคามิ แต่ยังไม่ได้อ่านสักเล่ม อยากเห็นโลกออนไลน์มีแต่สิ่งดีๆ และมีความสนุก
Blog : www.goohiw.com Social Media : Facebook, Twitter
View all post

Bangkok Idol Festival: Guide Book [Melt Mallow]


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save