ถึงทุกวันนี้คนจะใช้เวลาส่วนมากจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์ แต่ก็ยังมีหลายคนที่รู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องทุกครั้งเมื่อต้องติดต่อผู้คนผ่านการคุยโทรศัพท์ กว่าจะทำใจกดโทรได้ก็ใช้เวลานานกว่าเวลาคุยจริงๆ ซะอีก หลายคนแพนิคไม่รู้ว่าจะต้องคุยยังไง จนถึงขั้นเลือกที่จะตัดสายแล้วค่อยส่งข้อความกลับไปทีหลังแทนเพื่อหลีกเเลี่ยงการคุยโทรศัพท์ก็มี หากเคยมีอาการเหล่านี้แล้วล่ะก็ คุณอาจกำลังเผชิญกับอาการ Phone Phobia อยู่ก็ได้ ทำความรู้จักกับ Phone Phobia Phone Phobia มีความเกี่ยวข้องกับอาการกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) ในรูปแบบของการกลัวการคุยโทรศัพท์ ที่เกิดจากกลุ่มความคิดด้านลบหรือความกังวลมากระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคตามมา อาจเกิดจากประสบการณ์ในอดีต เช่น เคยโดนแกล้งหรือเคยได้รับสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจผ่านทางโทรศัพท์ จีงเกิดเป็นความกลัวฝังใจ ซึ่งก็เหมือนกลุ่มอาการโฟเบีย อื่นๆ ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการต่อต้านหรือหลีกเลี่ยง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กลัวการคุยโทรศัพท์จะเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม บางคนไม่ได้มีปัญหาในการสื่อสารตัวต่อตัวในชีวิตจริงด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาแค่รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องคุยโทรศัพท์เท่านั้นเอง ทำไมถึงไม่ชอบโทร? นอกจากคนที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมหรือมีความหลังที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่างๆ แล้ว ก็ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่อาจเป็นสาเหตุของความรู้สึกกังวลที่จะติดต่อทางโทรศัพท์ ไม่เห็นท่าทางหรือสีหน้าของอีกฝ่าย ปกติการสื่อสารแบบเห็นหน้าจะประกอบไปด้วยคำพูดและท่าทางต่างๆ ที่ทำให้รู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดในตอนนั้น ขณะที่การคุยผ่านโทรศัพท์ได้ยินแค่เสียงเท่านั้นเลยทำให้ไม่รู้ปฏิกิริยาของอีกฝ่ายต่อสิ่งที่เราพูด จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอีกฝ่ายมากกว่าว่าเขาจะคิดยังไงกับสิ่งที่เราพูดกันนะ ต้องตอบทันที เนื่องจากการคุยโทรศัพท์เป็นการสื่อสารที่ตอบโต้กันทันที ณ ตอนนั้น จึงอาจทำให้รู้สึกกดดัน และทุกคนก็รู้ดีอยู่แล้วว่าคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพูดออกไปแล้วนำกลับคืนไม่ได้ การมีเวลากรองคำพูดก่อนสื่อสารออกไปจึงเป็นสิ่งสำคัญ เลยทำให้คนเลือกช่องทางอื่นที่มีเวลาในการตอบกว่า เช่น การพิมพ์ข้อความ ที่มีเวลาให้คิดไตร่ตรองคำพูดก่อน แถมยังสามารถเลือกเวลาตอบตอนไหนก็ได้ตามสะดวกอีกด้วย บางครั้งใช้เวลาเยอะ การโทรคุยในบางครั้งก็ลากยาวกินเวลาจนไม่เป็นอันทำอะไร เพราะต้องคอยจดจ่ออยู่กับบทสนทนาเพื่อไม่ให้ขาดช่วง จึงทำให้ไม่สามารถทำร่วมกับกิจกรรมอย่างอื่นได้สักเท่าไหร่ ต่างกับการติดต่อผ่านทางข้อความที่เราจะพิมพ์ตอบตอนไหนก็ได้ พร้อมกับทำกิจกรรมอื่นหลายอย่างในเวลาเดียวกันก็ยังได้ ด้วยสาเหตุที่เองเลยทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจหรือกังวลเมื่อต้องคุยโทรศัพท์ กังวลไปเองก่อน บางครั้งก็เกิดจากความกังวลของตัวเองในเรื่องต่างๆ ทั้งกลัวว่าตัวเองจะสื่อสารออกไปได้ไม่ดี กลัวจะทำพลาด บางครั้งเป็นการติดต่อติดต่อกับผู้ใหญ่ หรืองานที่ค่อนข้างเป็นทางการมากๆ ทำให้กังวลจนไปคิดแทนอีกฝ่ายไว้ก่อนว่าเขาจะมีปฏิกิริยายังไง บางคนคิดถึงขั้นว่าตัวเองอาจเป็นตัวปัญหาโทรไปรบกวนคนอื่นหรือกลัวจะทำให้คนอื่นเบื่อหน่ายที่จะคุยโทรศัพท์กับตัวเองก็มี เป็นจุดสนใจ กรณีนี้อาจเกิดขึ้นตอนที่ต้องคุยโทรศัพท์ในที่สาธารณะ หรือในที่ๆ มีคนอื่นอยู่ด้วย จะทำให้บทสนทนาตกเป็นจุดสนใจได้ง่ายๆ ทำให้บางคนรู้สึกเกร็งและไม่กล้าที่จะคุยต่อ เพราะกลัวจะถูกมองหรือถูกตัดสินจากบทสนทนาเพียงฝ่ายเดียว ทางออกที่ดีที่สุดคือหาที่คุยแบบส่วนตัว จะได้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากขึ้น คุณภาพเสียง เนื่องจากการโทรขึ้นอยู่กับสัญญาณและอุปกรณ์ต่างๆ จึงอาจมีอุปสรรคในด้านการสื่อสารค่อนข้างเยอะ ทั้งกลัวว่าจะได้ยินเสียงไม่ชัด ฟังไม่รู้เรื่อง กังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ยินและต้องพูดซ้ำ หรือต้องอธิบายเพิ่มเติมเยอะๆ บางครั้งอาจทำให้พูดตะกุกตะกัก ติดอ่าง ทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่องเท่าที่ควร Checklist อาการ รู้สึกแพนิคมากเมื่อต้องคุยโทรศัพท์ ใช้เวลานานกว่าจะโทรหรือรับโทรศัพท์ กังวลกับสิ่งที่จะต้องพูด มีอาการสั่นหรือใจเต้นเร็วและแรงกว่าปกติเมื่อต้องคุยโทรศัพท์ เหงื่อออก หายใจสั้น รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน ปากแห้ง พยายามหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์ หรือหาช่องทางการติดต่ออื่นแทน หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่พูดไปแล้วหลังวางสาย วิธีพิชิตความกลัว สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการคุยโทรศัพท์ไปได้ตลอด เพราะไม่ว่าเราจะสามารถทำทุกอย่างผ่านทางออนไลน์ได้ แต่สุดท้ายมันก็ต้องมีสักขั้นตอนนึงที่ต้องติดต่อผ่านทางโทรศัพท์อยู่ดี เช่น สมัครงานโดยการส่งอีเมลไป แต่ก็อาจจะต้องโทรมาคอนเฟิร์มหรือสอบถามรายละเอีียดเพิ่มเติมอยู่ดี เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีกว่าการหนีก็คือการเผชิญหน้ากับมันนี่แหละ! บอกคนรอบข้าง อันดับแรกต้องอย่าลืมบอกให้คนรอบข้างให้รู้ถึงอาการและสาเหตุที่กลัวการคุยโทรศัพท์ จะได้ไม่เกิดปัญหาการน้อยใจที่ถูกเมินสาย ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ทุกคนยังอาจช่วยหาวิธีทำให้มีอาการกลัวน้อยลงด้วยก็ได้ ติดต่อผ่านข้อความ ในกรณีที่มีอาการแพนิคมากจนไม่สามารถคุยโทรศัพท์ได้จริงๆ ถ้าไม่สามารถเอาชนะความกลัวโดยการข้ามขั้นไปคุยโทรศัพท์เลย ก็เริ่มเป็นลำดับขั้นตอนไปเรื่อยๆ ให้ตัวเองเกิดความคุ้นชิน จะได้ไม่กังวลเมื่อต้องคุยโทรศัพท์ เริ่มจากการลองใช้วิธีการติดต่อผ่านทางอีเมลหรือข้อความแทนไปก่อน วิธีนี้จะช่วยให้เรากังวลน้อยลง เพราะมีเวลาในการอ่านทวน คิดหรือแก้ไขคำตอบได้ตามเวลาที่เราสะดวก ไม่เหมือนการคุยที่ต้องเป็นการตอบโต้แบบทันที แต่ก็ไม่ควรหาวิธีหลีกเลี่ยง ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่องๆ เพราะการที่เราเพิกเฉยกับสายโทรศัพท์มันก็แค่ช่วยให้มันไม่กวนใจได้แค่ในระยะสั้นเท่านั้น แต่มันอาจเป็นผลเสียในระยะยาว อีกทั้งถ้าเป็นสายเกี่ยวกับธุระสำคัญก็อาจส่งผลถึงเรื่องการงานเลยก็ได้ เปิดรับและฝึกฝน ฝึกซ้อมโดยการคุยโทรศัพท์บ้าง เพราะยิ่งเราได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์จริงก็จะทำให้มีความกลัวหรือกังวลน้อยลง แถมยิ่งได้ฝึกมากขึ้นก็ยิ่งคุ้นชินเร็วขึ้นไปอีก นอกจากนี้การซ้อมพูดคุยกับตัวเอง ทั้งการซ้อมพูดหน้ากระจก หรืออัดเสียงไว้ฟัง ก็เป็นวิธีที่ดีในการเสริมสร้างความมั่นใจในการพูด ทั้งยังได้เห็นจุดบกพร่องของตัวเองชัดขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกจุดอีกด้วย เตรียมตัวก่อนคุยโทรศัพท์ เขียนสคริปต์คร่าวๆ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง แล้วซ้อมพูดกับตัวเอง อาจจะพูดหน้ากระจก หรือลองอัดเสียงตัวเองแล้วฟังดูว่าพูดโอเคแล้วหรือยัง แต่ไม่ใช่ว่าให้พึ่งสคริปต์โดยการท่องจำหรือมองสคริปต์ตลอดเวลาที่คุยโทรศัพท์ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทำให้เราไม่มีความมั่นใจเมื่อไม่มีสคริปต์อยู่ดี แค่ให้มันเป็นไกด์ไลน์ในการนำทางเฉยๆ ก็พอ เก็บเลเวลการคุยโทรศัพท์ เริ่มจากอะไรง่ายๆ อย่างการคุยกับ Customer Service ที่เป็นระบบตอบกลับอัตโนมัติก่อน จากนั้นค่อยเริ่มการโทรคุยกับคนที่คุ้นเคย เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท ถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วค่อยไล่ระดับไปเรื่อยๆ เปลี่ยนเป็นฝึกคุยกับเพื่อนร่วมงานในสิ่งที่เป็นการเป็นงานขึ้นมาหน่อย หรือลองโทรสั่งอาหารดูก็ได้ เพื่อหาโอกาสที่จะได้คุยกับคนใหม่ๆ จนสามารถเริ่มคุยจากประเด็นทั่วไปจนถึงประเด็นที่ต้องมีการลงรายละเอียดมากขึ้น หรืออีกทางนึงคือการคุยโทรศัพท์โดยที่มีคนอยู่ข้างๆ เราด้วย อาจจะเป็นคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยให้เอาชนะอาการกลัวการคุยโทรศัพท์แล้ว ยังช่วยลดความกลัวการพูดต่อหน้าคนอื่นในที่สาธารณะได้อีกด้วย เปรียบเทียบก่อน-หลังคุยโทรศัพท์ จดไว้ตั้งแต่ตอนก่อนโทรว่าตัวเองกังวลอะไรบ้าง เมื่อวางสายก็ลองลิสต์ผลการคุยครั้งนั้นไว้ว่าราบรื่นหรือติดขัดตรงไหนบ้าง จะได้เป็นกำลังใจและเป็นข้อติเพื่อแก้ให้กับตัวเอง เปรียบเสมือนบันทึกการเดินทางสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อสามารถเอาชนะความกลัว Cognitive Therapy สำหรับคนที่มาอาการกลัวมากๆ จนนับว่าเป็นโฟเบีย การใช้วิธีรักษาโดยการบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่ใช้ความคิดและพฤติกรรมของตัวเองในการรักษาให้หายจากอาการก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในกรณีนี้ถ้ากลัวการคุยโทรศัพท์ก็อาจรักษาโดยการให้เผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องคุยโทรศัพท์ เพื่อให้คุ้นชินกับสถานการณ์และทำให้ความกลัวค่อยๆ ลดลง สุดท้ายแล้วทั้งคนที่มีอาการ Phone Phobia หรือแค่รู้สึกแพนิคกับการคุยโทรศัพท์เฉยๆ ก็สามารถหาทางออกโดยการเริ่มจากตัวเราเอง เอาชนะความกลัวด้วยการลองเผชิญหน้าหรือใช้วิธีต่างๆ เพียงแค่เราเริ่มที่จะเปลี่ยนก็ทำได้อยู่แล้ว ส่วนใครที่ไม่ได้มีอาการเหล่านี้แต่อยากจะลองนำบางวิธีไปประยุกต์ใช้เพื่อฝึกทักษะการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้เหมือนกัน