category [6/10] รีวิว One Take : ภาพยนตร์ของ BNK48 ที่เรารู้ตอนจบ แต่...ไม่รู้ว่าระหว่างทางมีอะไร

Writer : Sam Ponsan

: 18 มิถุนายน 2563

หลังจากถูกเลื่อนฉายไปนานด้วยเหตุสุดวิสัย ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ BNK48 ที่ชื่อว่า One Take ก็เข้าฉายทาง Netflix ถือว่าเป็นเซอร์ไพร้ส์ไม่น้อยที่จู่ๆ ก็มีการประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่เข้าโรง แต่สามารถดูได้ผ่านทางแอปสตรีมมิ่งสุดฮิตเริ่มวันที่ 18 มิถุนายนนี้เป็นวันแรก 

แน่นอน..เชื่อว่าทุกคนรอชม และเราก็มั่นใจว่าทุกคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องราวของหนังเรื่องนี้จะไปจบที่ตรงไหน เพราะเนื้อเรื่องก็ปูไปสู่เหตุการณ์สำคัญของวงคือผลการ ‘เลือกตั้ง’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ BNK48 6th Single Senbatsu General Election ครั้งแรก

ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เฌอปราง ได้ที่ 1 ในเหตุการณ์นี้ แต่…สิ่งที่ได้เห็นระหว่างทาง มีเรื่องราวใดเกิดขึ้นบ้าง น่าสนใจอย่างไร ขอเล่าถึงสิ่งที่เราสัมผัสได้หลังจาก มีโอกาสได้ชมก่อนในรอบสื่อมวลชน

เมมเบอร์ได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่ไม่เคยพูดในสื่อไหนเลย

โดยปกติ เราจะได้เห็นเมมเบอร์ BNK48 ออกสื่อไม่กี่คน และการตอบคำถาม อาจจะไม่ได้ทำให้เราเห็น ‘ชีวิต’ นอกจากการทำงานของพวกเธอมากนัก แต่พอมาเป็นภาพยนตร์ที่ให้อิสระในการที่ผู้กำกับจะคุยกับใครก็ได้ ด้วยคำถามใดก็ได้ก็ที่ดึงเรื่องราว และทำให้เราเห็นชีวิตอีกด้านของเมมเบอร์

คำตอบที่ออกมาใน One Take จึงเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้ถึงความ ‘จริงใจ’ และการกล้า ‘เปิดใจ’ ของเมมเบอร์ที่ถูกถาม ตอบได้ลึกบ้าง ตอบได้ไม่เหนือความคาดหวังบ้าง แต่นั่นคือคำตอบที่ออกมาจากใจ น้อยใจ ผิดหวัง เสียใจ ไม่มั่นใจ กังวลใจ หรือดีใจ เราได้เห็นทั้งหมดจากเมมเบอร์หลายคน

เราไม่รู้ว่าบางคำถาม จุดตั้งต้นคืออะไร และหลายคำตอบถูกตัดมาออกอากาศได้เท่าไหร่ ทว่าอย่างน้อยคำตอบที่ออกมาก็ทำให้เราได้เห็นเบื้องหลังอีกด้านของเมมเบอร์ที่ผู้กำกับเลือกมานำเสนอได้ดีทีเดียว

ที่น่าสนใจคือบางจังหวะผู้กำกับเลือกที่จะให้คนอื่นที่อยู่นอกวงอย่าง ‘แฟนคลับ’ มาเล่าความรู้สึกที่มีต่อเมมเบอร์แทนที่เมมเบอร์จะพูดด้วยตัวเอง ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะไม่ได้คมคายหรือลึกซึ้งมากนักก็ตามที แต่พอมีใส่เข้ามาแล้วมันก็ดีนะ

ให้น้ำหนักกับเมมเบอร์ไม่เท่ากัน…แต่ก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ 

ต่อจากข้อก่อนหน้าที่เราบอกว่าเมมเบอร์ได้พูดความจริงในใจ โดยเฉพาะเมมเบอร์ที่ไม่ได้ออกสื่อก็ได้พูดด้วย ทว่าเมมเบอร์ที่ปรากฎอยู่ใน One Take นั้นไม่ได้หลากหลายมากพอ บางคนไม่มีโอกาสได้พูดเลย ทำให้ผู้ชมอาจสงสัยว่าน้ำหนักของเมมเบอร์ที่มาเชื่อมเรื่องนั้น…วัดจากอะไร

ฉากหลังของการถ่ายทำบางส่วนเรามีโอกาสได้เห็นการทำงานของ ‘โดนัท มนัสนันท์’ และทีมงานมาบ้างโดยเฉพาะหลังเวทีงาน GE เลยมั่นใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ในช่วงการถ่ายทำ ทุกคนถูกสัมภาษณ์ทั้งนั้น

แต่ในขั้นตอนการตัดต่อการคัดว่าจะเลือกใครมาปรากฎในหนังบ้างไม่ได้อยู่ที่ความนิยมเป็นหลัก (ซึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าต้องมี) แต่อยู่ที่ว่าผู้กำกับจะผูกเรื่องหลายไรให้กลมกล่อมที่สุด คนที่ถูกเลือกมานำเสนอในเรื่องจึงมีทั้งท็อปเมมเบอร์ และเมมเบอร์หน้าใหม่ แต่พื้นที่ของแต่ละคนที่ปรากฎออกมาไม่ได้มีใครมากไปกว่ากัน

ในพื้นที่เดียวกันที่ผู้กำกับอนุญาตให้ทุกคนได้พูดใน One Take…ทุกคนมีเวลาแทบจะต่างกันไม่มาก

หากว่ากันตามตรงด้วยเหตุผล เราทุกคนที่ชมอยู่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังของ One Take กว่าจะมาเป็นเวอร์ชั่นที่ฉายได้นั้นผ่านการแก้มากี่ดราฟท์ ปรับมากี่หน จึงไม่สามารถตอบได้ว่านี่คือผลงานที่ดีที่สุดจริงหรือเปล่า อาจจะมีผลงานที่ดีมากกว่าดราฟท์นี้ก็ได้ แต่ถูกปรับแก้ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง

เมมเบอร์มากขนาดนี้ยากที่จะทำให้ทุกคนมี airtime เท่ากัน อันนี้เราเข้าใจและเชื่อว่าทุกคนเข้าใจ

ฟุตเทจ Exclusive เยอะกว่า BNK48 : GIRLS DON’T CRY 

หากใครจำกันได้ หนึ่งในคำวิจารณ์ถึงภาพยนตร์ของ BNK48 เรื่องก่อนหน้านั้นที่ ‘เต๋อ นวพล’ มากำกับ ก็คือ ทำไมฟุตเทจน้อยจัง ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะโปรเจกต์ที่พี่เต๋อ ต้องทำในช่วงนั้นมันค่อนข้างยากที่จะมีเวลาเก็บฟุตเทจเบื้องหลังที่มีเฉพาะคนเบื้องหลังที่เห็นได้นั้นไม่ได้พิเศษมากนัก

พอมาถึง One Take ที่ได้ใช้เวลาเตรียมตัวนากว่า เราจึงได้เห็นความพิเศษ และเห็นเบื้องหลังการฝึกซ้อมของเมมเบอร์ เบื้องหลังการถ่ายทำโปสเตอร์งาน GE ครั้งแรก เบื้องหลังอะไรต่างๆ เยอะมาก หากจำไม่ผิด ทีมงานของผู้กำกับของ One Take มาเก็บฟุตเทจตั้งแต่ช่วงก่อนจะมีรุ่น 2 จนกระทั่งถึงงาน GE

แน่นอนว่าต้องมีสิ่งที่ผู้ชมคาดหวังมากกว่าสิ่งที่ปรากฎอยู่ใน One Take เช่นด้านที่เห็นความเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาของเมมเบอร์  เบื้องหลังที่ไม่ใช่แค่ด้านการฝึกซ้อมกลับไม่มีให้เห็นเท่าไหร่

อาจจะด้วยการตั้งใจเชื่อมโยงเรื่องราวของเมมเบอร์ผ่านการฝึกซ้อมทั้งการเต้น การฝึกการแสดง และการแข่งขันเป็นหลัก จึงไม่สามารถใส่ฟุตเทจอื่น หรือเชื่อมเรื่องราวด้วยภาพอื่นได้มากนัก

ไม่มีเส้นเรื่องที่ชัดเจน ไม่มีซีนที่น่าจดจำ

หากถามว่าเนื้อเรื่องของ One Take คืออะไร คำตอบในมุมของเราที่ได้รับชมแล้วก็คือ ไดอารีของเมมเบอร์ BNK48 ที่บันทึกตั้งแต่วันที่รุ่น 2 เข้ามา ไปจนถึงวันที่ประกาศผลเลือกตั้ง ใช่…เนื้อเรื่องมีเท่านี้ ดังนั้นการเล่าเรื่องก็จะราบเรียบ ไม่มีจุดพีค ไม่มีจุดลุ้น ไม่มีจุดไคลแมกซ์ใดๆ ที่ตราตรึงให้เราอยู่กับภาพยนตร์เรื่องนี้

ไม่แน่ใจว่าอาจจะเพราะเราไม่ได้ชมในจอใหญ่หรือเปล่า ทำให้อารมณ์ร่วมต่างๆ หายไป เราก็เลยเปิด BNK48 : GIRLS DON’T CRY ดูอีกรอบหลังจากที่ชม One Take จบเพื่อเช็คความรู้สึกอีกครั้ง เราก็ได้พบว่า GIRLS DON’T CRY ทำให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังมากกว่า One Take เหตุผลก็เพราะ GIRLS DON’T CRY เส้นเรื่องชัดเจนกว่ามาก

และถ้าถามว่าซีนไหนที่เป็นฉากจำของ GIRLS DON’T CRY เราคิดว่าซีนที่ตัดสลับระหว่าง ‘เฌอปราง’ กับ ‘จิ๊บ’ น่าจะเป็นหนึ่งในฉากที่มีคนจดจำ และรู้สึกได้ถึงพลังของบทสนทนาของทั้งสองคนที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งในไคลแมกซ์ของเรื่องที่สะกดผู้ชมได้อยู่แม้จะมาดูอีกครั้งในจอมือถือ

ตรงกันข้ามกับ One Take ที่เราเองก็นึกไม่ออกว่าฉากจำที่สุดของ One Take คืออะไร ถ้าดูจบแล้วมาบอกเราหน่อย

ดูจบแล้วตั้งคำว่าว่า ‘ความสุขของเมมเบอร์จริงๆ แล้วอยู่ที่ตรงไหน?’

เราติดภาพจาก GIRLS DON’T CRY  มาว่าเมมเบอร์ของ BNK48 ทุกคนใช้ชีวิตราวกับอยู่ในสงครามกลางเมืองที่ต้องแข่งขันกันเองเพื่อไปให้ถึงจุดที่สูงที่สุด เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งคู่แข่ง แต่ไม่เห็นในมุมความสุขของเมมเบอร์เลยว่า อะไรที่เป็นความสุขจริงๆ

ใน One Take เมื่อพิจารณาดูอีกรอบ เราก็ไม่ได้เห็นความสุขของเมมเบอร์เลยเช่นกัน เรายังคงเห็นชีวิตต้องสู้ของเมมเบอร์อยู่ตลอด เห็นหยาดน้ำตา เห็นความกังวลใจ แต่น่าเสียดายที่เราก็ยังไม่เห็นความสุขของเมมเบอร์ที่ถูกเล่าผ่านออกมาจากหนังเรื่องนี้เลย…

หรือจริงๆ แล้วการเล่าเรื่องของ BNK48 ต้องมีน้ำตาและการต่อสู้ตลอด

นั่นน่ะสิ…แล้วถ้าอยากจะเห็นความสุขจริงๆ ของเมมเบอร์ที่ไม่ใช่บ้างล่ะต้องดูจากที่ไหน

 

 

 

 

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[Covid-19 Phenomena] 10 New Normal ในมุมกีฬาและความบันเทิง หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดระบาด


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save