Sexual Harassment เรื่องล้อเล่นที่ไม่มีใครขำ

Writer : mindgo

: 3 มกราคม 2563

Sexual Harassment ศัพท์คุ้นหูที่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วคงนึกถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งการลวนลาม การข่มขืน การเล่นมุกสองแง่สองง่าม รวมไปถึงการกระทำอนาจารในรูปแบบต่างๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วเราเข้าใจคำว่า “Sexual Harassment” กันดีแค่ไหน?

Sexual Harassment คือ การคุกคามหรือการประพฤติ ทั้งทางคำพูดและการกระทำที่เกี่ยวข้องทางเพศ ที่เกิดขึ้นในสังคมหลากหลายรูปแบบมาก แล้วแบบไหนล่ะถึงจะเรียกว่าคุกคาม? เนื่องจากระดับในการรับได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน แน่นอนว่าผลกระทบย่อมแตกต่างกันออกไป และคนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คงเป็นผู้ถูกกระทำนั่นเอง

แต่ใช่ว่าเราจะพูดหรือทำสิ่งที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศใส่คนที่ไม่คิดอะไรก็ได้ เพราะนั่นอาจเป็นหนึ่งในการทำให้สังคมรอบตัวชินกับการกระทำเหล่านั้นจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรรู้ไว้คือ อะไรบ้างที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศ

การคุกคามทางเพศด้วยคำพูด

เป็นการคุกคามทางเพศที่พบเจอบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นบ่อยในสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ทั้งในแวดวงคนรู้จัก หรือแม้แต่คนแปลกหน้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ก็มักจะมีคำพูดแซวเล่นขำๆ ที่คนโดนอาจไม่ขำด้วย ซึ่งบางคนมองว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จนไม่ได้คิดถึงจิตใจของผู้ฟัง

ตัวอย่างคำพูดที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศ

  • “ห้องยังว่างนะ”
  • “มีค่าเทอมยัง”
  • “อยากประหยัดค่าผ้าอนามัยซัก 9 เดือนมั้ย”
  • “นิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ”
  • “คืนละเท่าไรอ่ะ”
  • “เท่านิ้วก้อย”
  • “อุ๊ยน่ากินจัง”
  • “น้ำเดินแล้วจ้า”
  • “อย่ายิ้มเราจ้องฟันเธออยู่”
  • “พ่อแท่งทอง”

การคุกคามทางเพศด้วยการกระทำ

การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทางกาย ทั้งการโอบ การลูบไล้ หรือการกอด โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ยินยอม การลวนลาม ทั้งทางสายตา การกระทำ เช่น การเลียริมฝีปาก ไปจนถึงการข่มขืน

หรือแม้กระทั่งในละครที่ดูเผินๆ แบบไม่คิดอะไรก็คงจะปกติ แต่จริงๆ แล้วพวกฉากตบจูบ หรือฉากข่มขืน ก็นับเป็นหนึ่งนการคุกคามทางเพศ ที่ถูกนำเสนอออกมาจนอาจทำให้คนบางส่วนในสังคมคิดว่ามันคือเรื่องปกติ

 

และข้อสำคัญที่ทุกคนควรเข้าใจ คือ Sexual Harassment ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้หญิง แต่ในผู้ชาย หรือเพศทางเลือกต่างๆ ก็สามารถเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อระวังตัวเองให้รอดพ้นจากทั้งการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สามารถทำได้ง่ายๆ โดย

  • แสดงความไม่พอใจ ตำหนิ หรือต่อต้านทันทีที่รู้สึกว่ากำลังโดนคุกคามทางเพศ
  • บอกเพื่อน หรือคนที่ไว้ใจเมื่อโดนคุกคาม และร้องเรียนกับผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ไม่มีส่วนร่วมในการคุกคามทางเพศคนอื่น รวมถึงไม่สนับสนุนการคุกคามทางเพศ
  • ไม่เพิกเฉยกับการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือเกิดขึ้นกับผู้อื่นก็ตาม

 

อย่าปล่อยให้คนที่คุกคามทางเพศคนอื่นแสดงความรับผิดชอบของการกระทำเหล่านั้น ด้วยคำว่า “ก็แค่แซวเล่นเอง”


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save