ส่องกติกาเลือกตั้ง 62 ไปใช้สิทธิใช้เสียงกันครั้งนี้ มีอะไรใหม่ที่เราต้องรู้?

Writer : minn.una

: 14 กุมภาพันธ์ 2562

กระแสเลือกตั้งยังคงมาแรงไม่หยุด แต่อีกประมาณ 30 กว่าวันที่จะถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศไทย แต่ด้วยความที่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้มีกติกาบางข้อที่เปลี่ยนไปจนอาจทำให้เราสับสน

วันนี้ Mango Zero ได้รวบรวมข้อแตกต่างของกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ เทียบกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ไปดูกันว่ามีอะไรเปลี่ยนไปแล้วเราทุกคนควรรู้ไว้ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง

51 พรรคการเมืองหน้าใหม่

ห่างหายจากการเลือกตั้งกันไปนาน กลับมาคราวนี้ก็มีพรรคการเมืองหน้าใหม่มากถึง 51 พรรค ได้แก่

พรรคมติประชา, พรรคทางเลือกใหม่, พรรคกรีน (ประเทศไทย), พรรคประชานิยม, พรรคพลังสยาม, พรรคพลังชาติไทย, พรรคเครือข่ายประชาชนไทย, พรรคเศรษฐกิจใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน, พรรคประชาชาติ, พรรคพลังพลเมืองไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคภาคีเครือข่ายไทย

พรรคอนาคตใหม่, พรรคพลังลูกหนี้ไทย, พรรคพลังปวงชนไทย, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคแผ่นดินธรรม, พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคภูมิพลังเกษตรกรไทย, พรรคผึ้งหลวง, พรรครวมใจไทย, พรรคไทยศิวิไลย์, พรรคนำไทยพัฒนา, พรรคประชาไทย, พรรคไทยสาธุชน, พรรคไทยธรรม

พรรคพลังรัก, พรรคไทยรุ่งเรือง, พรรครากแก้วไทย, พรรคสุบาล, พรรคชาติพันธุ์ไทย, พรรคพลังศรัทธา, พรรคพลังแรงงานไทย, พรรคธรรมาธิปัตย์, พรรคเพื่อสตรีไทย, พรรคไทยก้าวข้าม, พรรคอุดมคติ, พรรคพันปีธรรมดีเพื่อแผ่นดิน, พรรคพัฒนาแผ่นดิน, พรรคพลังเสียงประชาชน, พรรคพลังแผ่นดินทอง, พรรคเพื่อคนไทย, พรรคพลังสตรี, พรรครวมพลังประชาชาตไทย, พรรคชูชาติไทย, พรรคเพื่อศักดิ์ศรีประชาชน และพรรคคลองไทย

โดยแต่ละพรรคก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันออกไปอีก ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่มาแรงในตอนนี้ก็เช่น พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่วนพรรคการเมืองเก่าที่เราพอจะคุ้นเคยกันดีก็ยังมีอยู่ เช่น พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติพัฒนา

จำนวนเขตเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 375 เขตเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งในครั้งนี้จะลดจำนวนเขตลงเหลือ 350 เขตเท่านั้น ตามกฎกติกาแบบใหม่ที่ได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนที่นั่งจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเหลือ 350 ที่นั่ง มีการเปิดเขตเลือกตั้งเพิ่ม และยุบรวมเขตเลือกตั้งเดิมในบางพื้นที่ โดยยึดจากจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร 2560 ก็คือประชากร 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

จำนวนบัตรเลือกตั้ง

ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ เราจะมีบัตรเลือกตั้งเพียงแค่ใบเดียว หย่อนลงหีบเดียวจบ จากเดิมที่เคยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกไว้เลือกส.ส. (คนที่รัก) แบบแบ่งเขต ใบที่ 2 ไว้เลือกส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (พรรคที่ใช่) ก็ลดลงมาเหลือใบเดียว เลือกคนพร้อมเลือกพรรคกันไปเลยจ้า

ระบบการแบ่งที่นั่งและนับคะแนน

จุดพีคมันอยู่ตรงนี้นี่แหละ!! วิธีนับคะแนนในการเลือกตั้งปีนี้เรียกได้ว่าเปลี่ยนไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเคยเลือกตั้งแล้วหรือนี่เป็นครั้งแรกก็มีโอกาสงงได้เหมือนกันหมด ต้องอธิบายก่อนว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะแบ่งจำนวนที่นั่งในสภาออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • สมาชิกวุฒิสภา​ (ส.ว.) มาจากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. เลือกมา 250 คน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 350 คน มาจากการเลือกของประชาชน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มาจากการเลือกของประชาชนโดยนำเอาคะแนนเสียงไปคิดต่อหลังจากได้ส.ส. แบบแบ่งเขตแล้ว

เมื่อรวมแล้วก็จะได้ทั้งหมด 750 ที่นั่ง ที่จะนำไปโหวตนายกรัฐมนตรีกันต่อไป โดยนายกฯ จะมาจากเสียงในสภาที่ไม่ต่ำกว่า 376 เสียง

ซึ่งแต่เดิมการโหวตนายกจะมาจากส.ส. ล้วนๆ (แบ่งเขต 375 ที่นั่ง บัญชีรายชื่อ 125 ที่นั่ง) และคนเป็นนายกฯ จะต้องได้เสียง 251 เสียงจาก 500 เสียง

อีกหนึ่งสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือการได้มาซึ่งส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อีก 150 ที่นั่ง จะเป็นการนำคะแนนเสียงหลังจากได้ส.ส. แต่ละเขตแล้ว ไปรวมกันคำนวณด้วยสูตรระบบ MMA ให้ได้จำนวนส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรจะได้ (เรียกว่าสูตร 3 ชั้น ซึ่งยากและงง!)

เอาแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า บทสรุปของการตามสูตรนี้คือ พรรคที่ได้ส.ส. แบบแบ่งเขตไปเยอะแล้วอาจจะได้ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลดลงหรือไม่ได้เลย เป็นการป้องกันการจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว รวมทั้งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กที่อาจจะไม่ได้ชนะส.ส. แบบแบ่งเขต แต่มีสิทธิได้ส.ส. บัญชีรายชื่อให้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภามากขึ้นด้วย

ตรงนี้ทำให้รู้ว่าทุกเสียงของเรามีค่า ไม่ใช่แค่เลือกส.ส. แต่ละเขตแล้วก็จบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การโหวตโน​และบัตรเสียจะไม่ถูกนำมารวมกับการคิดคะแนนตรงนี้นะ

1 พรรค มีกี่เบอร์กันแน่?

เดิมทีในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นส.ส. แบบไหน หรืออยู่เขตไหน ก็จะใช้หมายเลขผู้สมัครเดียวกัน แต่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ในแต่ละเขตจะมีหมายเลขผู้สมัครที่ไม่เหมือนกัน นั่นทำให้ในครั้งนี้ทั้งทางผู้สมัครและทางคนเลือกก็ต้องเน้นการจดจำชื่อพรรคและสัญลักษณ์มากกว่าการจดจำเบอร์ผู้สมัครนั่นเอง

อายุ 18 ต้องไปใช้สิทธิ

รู้หรือไม่ว่าเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้นั้นเปลี่ยนไปจากครั้งก่อนๆ ด้วย โดยปกติผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง แต่ในตอนนี้กติกาใหม่ แค่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ภายในวันเลือกตั้งทั่วไปก็มีสิทธิเข้าคูหาแล้ว นั่นแปลว่าน้องๆ ที่อายุ 18 ปีในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็ต้องไปใช้สิทธิใช้เสียงกันด้วยนะ

*** อีกวิธีเช็คแบบชัวร์ๆ ก็คือเช็คชื่อว่าตัวเองมีสิทธิเลือกตั้งไหมจากหนังสือที่ส่งไปตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านได้เลย ***

เวลาเปิด-ปิดหีบ

เป็นอีกวิธีที่น่าจะทำให้คนออกไปใช้สิทธิใช้เสียงมากขึ้น และลดปัญหาคนเยอะช่วงใกล้ปิดหีบ แต่เดิมเปิดให้เราเข้าไปกาบัตรลงคะแนนกันได้ตั้งแต่ 8.00 ถึง 15.00 น. ตอนนี้ทางกกต. ก็ได้ขยายเวลาเป็น 17.00 น. แล้ว แต่เลทกว่านี้ไม่ได้แล้วนะทุกท่าน!

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.ilaw.or.th/sites/default/files/’62.pdf

https://ilaw.or.th/node/5059

https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=865

https://www.bbc.com/thai/thailand-45781654

https://th.wikipedia.org/wiki/

https://th.wikipedia.org/wiki/

 

 

 

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save