ไขข้อสงสัย ‘ไคโตซาน’ ดักจับไขมัน กินแล้วผอมจริงหรือ?

Writer : Sam Ponsan

: 25 มกราคม 2560

the-effect-of-chitosan-

ไม่นานมานี้มีโฆษณาอาหารเสริมยี่ห้อหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เพราะโฆษณาที่ฮาอย่างเดียว แต่ยังดังเพราะดราม่า ‘ไคโตซาน’ ส่วนประกอบหลักของอาหารเสริมยี่ห้อนั้นที่บอกว่าช่วยดักจับไขมัน

ที่เกิดดราม่า ก็เพราะว่าชาวเน็ตที่ไม่สนับสนุนให้คนกินอาหารเสริม หรือยาเพื่อลดความอ้วน ต่างออกมาแสดงความเห็นเพื่อโจมตีโปรดัคดังกล่าว รวมไปถึงยาลดความอ้วนทุกชนิดที่ขายอยู่บนอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากยาลดความอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อคนที่กิน และโฆษณานั้นก็ทำให้คนเกิดความเชื่อๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน แต่ในความจริงแล้วไคโตซาน มีประโยชน์ในแง่ไหนบ้างที่เอามาใช้แล้วถูกวิธี

ไคโตซานคืออะไร

ไคโตซาน เป็นอนุพันธ์ของไคติน สารสกัดที่ได้จากธรรมชาติซึ่งสามารถสกัดได้จากเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก  ไคโตซาน มีคุณสมบัติอ่อนตัวสามารถขึ้นรูปเป็นเจล เม็ด เส้นใย หรือคอลลอยด์ (สารผสมเพื่อรวมตัวให้เป็นเนื้อเดียวกันสำหรับขึ้นรูป) รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการเคลือบสิ่งต่างๆ ได้ และยังเป็นสารที่มีสรรพคุณสามารถไปอยู่ในอุตสาหกรรมหลายอย่างทั้งการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง โดยรวมก็คือสารนี้มีสรรพคุณที่ครอบจักรวาล หากนำไปใช้อย่างถูกวิธี

secret-of-chitosan-Shrimp
(เปลือกกุ้งคือส่วนประกอบหลักในการสกัดไคโตซาน)

ไคโตซาน ไม่ได้เอามาดักไขมันต้านอ้วน

หมอแล็บแพนด้า หรือ ‘ภาคภูมิ เดชหัสดิน’ นักเทคนิคการแพทย์เจ้าของเพจดังได้ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารเสริมที่ใส่ ‘ไคโตซาน’ เพื่อดักจับไขมัน หรือบล็อคไขมัน โดยเขาบอกว่าไคโตซาน มีผลเสียต่อร่างกายจริง และโฆษณาก็ทำให้คนเข้าใจผิด หมอแล็บแพนด้า ได้อธิบายกระบวนการที่ไคโตซาน ทำให้ระบบร่างกายมีปัญหาออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้

+ แม้จะบอกว่ายานี้ดักจับไขมันได้จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงไขมันที่มีส่วนในการช่วยดูดซึมวิตามิน ของร่างกายก็จะโดนดักด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหาร หรือวิตามินที่จำเป็น อื่นๆ มีปัญหา ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน
+ เมื่อระบบย่อยถูกปั่นป่วนโดยไคโตซาน ก็ทำให้ลำไส้เกิดอาการปั่นป่วน ระบบขับถ่ายก็ย่ำแย่
+ ถ่ายเหลวออกมาเป็นมูกน้ำมันเหลืองๆ และไม่สามารถควบคุมได้ แม้พ่ายลมก็อาจมีไขมันหลุดออกมาด้วยเนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมไขมันได้เลย เมื่อกินเข้าไปก็ไหลออกมาแทบจะทันที
+ ในระยะยาวระบบขับถ่ายจะมีปัญหา


(เพจ Jones Salad และ Drama-Addict ก็ได้อธิบายเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไคโตซาน ในการดักจับไขมันเช่นกัน)

โดยสรุปสรรพคุณของไคโตซาน ไม่ได้เอามาเพื่อกินให้ร่างกายดักจับไขมันแล้วลดความอ้วนอย่างที่เราเข้าใจ และมีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก แต่ไคโตซานก็มีประโยชร์ในแง่อื่นเช่นกันหากนำมาใช้อย่างถูกวิธีได้แก่

ไคโตซาน ในวงการแพทย์

ไคโตซาน สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในการขึ้นรูปเป็นเม็ดเจลยา , ทำแคปซูลยา หรือเป็นส่วนประกอบของยาบางชนิด เพราะหากนำไคโตซาน ไปผสมกับยา ไคโตซาน จะช่วยป้องกันไม่ให้ยาบางชนิดที่ต้องดูดซึมและผ่านกระแสเลือดเท่านั้นโดยน้ำย่อยในกระเพราะย่อยก่อนที่ยาจะเข้าสู่กระแสเลือด 

chitosan-in-pill
(เมล็ดยาที่ใช้ไคโตซาน เป็นส่วนประกอบของแคปซูล)

นอกจากนี้ไคโตซาน มีสรรพคุณในการใช้ป้องกันฟันผุ มีส่วนช่วยยับยั้งการจับตัวของแบคทีเรีย และยับยั้งการก่อตัวของแบคทีเรียบนผิวฟันสาเหตุของฟันผุ สาเหตุที่ไคโตซาน มีสกิลนี้ก็เพราะเนื่องจากผิวของสารไคโตซาน แบคทีเรียไม่สามารถเจาะผ่านมาทำลาย ทำให้แบคทีเรียฝักตัวที่เนื้อฟันไม่ได้

ไคโตซาน ในวงการเกษตร

เนื่องจากไคโตซาน มีสรรพคุณในการเคลือบพื้นผิวได้ จึงถูกมาใช้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธ์ติดโรคหรือเน่าเสีย และสรรพคุณบางอย่างในไคโตซาน ยังสามารถนำไปผสมกับยาเพื่อช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้รากงอกได้เร็ว นอกจากนี้ยังไปผสมกับแร่ธาตุเพื่อช่วยเสริมธาตุอาหารในดินด้วย

chitosan-in-seed
(เมล็ดพันธุ์ที่ต้องการกันความชื้นหรือป้องกันเมล็ดพันธุ์เสียจะเคลือบไคโตซาน)

ไคโตซาน ในวงการเครื่องสำอาง

เนื่องจากไคโตซาน มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี และยังช่วยปกป้องความเสียหายของผิวได้จากสรรพคุณที่เป็นแผ่นฟิล์มของไคโตซาน รวมถึงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นจุลินทรีย์ ในวงการเครื่องสำอาง จึงนิยมนำไคโตซาน มาเป็นส่วนผสมได้ เช่นแป้ง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ยาย้อมผม ยาเคลือบสีผม หรือกระทั่งยาสีฟัน

chitosan-in-cosmetic-cream

(เครื่องสำอางหลายชนิดที่ต้องพึ่งคุณสมบัติอุ้มน้ำของไคโตซาน จะต้องมีไคโตซาน เป็นส่วนประกอบหลักเพื่อคงรูปของเครื่องสำอางไว้) 

ไคโตซาน ในวงการสิ่งแวดล้อม

คุณสมบัติหลักที่โฆษณาอาหารเสริมยี่ห้อหนึ่งพยายามบอกกับก็คือไคโตซาน ช่วยดักจับไขมัน ใช่…ไคโตซาน มีคุณสมบัตินี้ แต่ประโยชน์ของการดักจับไขมันของไคโตซาน ที่ถูกต้องคือการนำมาใช้ดักจับไขมัน สี และโลหะหนักที่อยู่ในน้ำเสีย หรือดูดซึมสารพิษได้ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นลองคิดดูว่าถ้าเราเอามากิน มันจะส่งผลร้ายแรงกับเราแค่ไหน

chitosan-for-wastewater-treatment

(ในวงการอุตสาหกรรม หรือวงการสิ่งแวดล้อมจะใช้สารเคมีที่มีส่วนผสมของไคโตซาน เพื่อดักจับไขมันก่อนจะระบายน้ำเสียออกสู่ท่อน้ำทิ้ง)

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็พอจะสามารถตัดสินใจได้เองแล้วใช่ไหมว่าไคโตซาน ที่อยู่ในอาหารเสริมนั้นดีต่อร่างกายเราจริงไหม ตัดสินใจกันดูเองนะ

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save