โครงการในพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้จัก

Writer : Kreenp

: 17 ตุลาคม 2560

king-rama-9-royal-projects-08
เป็นที่ทราบกันว่าตลอดการครองราชย์ 70 ปีของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจและก่อตั้งโครงการในพระราชดำริมามากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตามเรามารู้จักกับ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7 โครงการ ที่เราขอยกมาเล่าให้รู้จักกัน

 

โครงการแกล้งดิน

king-rama-9-royal-projects-05

“…ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว…”

เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินจึงมี “การแกล้งดิน” ขึ้น คือ การทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดที่สุด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันโดยการนำน้ำเข้าแปลงทดลองและระบายน้ำออกให้ดินแห้งอีกครั้งหนึ่ง สลับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอก งามได้ จากนั้นจึง หาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้

จากการทดลองแกล้งดิน ทำให้พบวิธีปรับปรุงดินทำให้สามารถนำมาทำเกษตรกรรมต่อได้ดังนี้

• ใช้น้ําชะล้างความเป็นกรดเพราะเมื่อดินหายเปรี้ยวจะมีค่าpHเพิ่มขึ้นหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และฟอสเฟต ก็จะทําให้พืชให้ผลผลิตได้

• ใช้ปูนมาร์ลผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน

• ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกัน

 

โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ

king-rama-9-royal-projects-04

พื้นที่พรุคือ  พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ทําให้ดินมีสภาพขาดธาตุอาหาร และอุ้มน้ำได้น้อย และมีสภาพเป็นกรด ซึ่งในปี พ.ศ. 2530 ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพบริเวณ ลุ่มน้ำคลองน้ำจืด – คลองแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม น้ำท่วมขังตลอดปี พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับงานชลประทาน ให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้าง  ขุดลอกคลองระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำ  เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่และเก็บกักน้ำจืดไว้ให้เกษตรกรใช้ทำการเพาะปลูกนาข้าว พืชผัก สวนผลไม้ การประมง เลี้ยงสัตว์ และอุปโภค – บริโภคตลอดปี

โดยในปีให้หลัง ในพ.ศ. 2536-2543  โครงการก่อสร้างที่ 7 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำ 5 (เดิม) กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำและงานระบบส่งน้ำ ทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 40,000 ไร่

 

โครงการชั่งหัวมัน

king-rama-9-royal-projects-03

“มันอยู่ที่ไหนก็งอกได้”

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงซื้อที่ดินมาจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ รวมประมาณ 250 ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตรกรรมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเดิมที่ดินบริเวณนี้แห้งแล้งมาก โดยมีชาวบ้านนำมันเทศที่ปลูกมาทูลเกล้าฯ ถวาย ท่านจึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศในที่ดินส่วนนี้ แต่เมื่อเสด็จกลับมิได้ทรงนำมันหัวนั้นไปด้วย

ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จกลับมาอีก ทรงพบว่ามันหัวนั้นงอกเป็นต้น จึงมีพระราชดำริให้จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยเน้นที่พืชท้องถิ่นของเพชรบุรี เช่น มะพร้าว, ชมพู่เพชร, มะนาว, กะเพรา, สับปะรด, ข้าวไร่พันธุ์ต่าง ๆ และพระราชทานพันธ์มันเทศ ซึ่งนำมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งภายในห้องทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้

อีกทั้งยังทรงพระราชทานชื่อ “โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” พร้อมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นศูนย์การเรียนด้านการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งในปัจจุบันอีกด้วย

โดยในปัจจุบันโครงการชั่งหัวมันเป็นพื้นที่สำคัญในการศึกษาความรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน

ใครสนใจไปเยี่ยมชมดูข้อมูลได้ ที่นี่

โครงการแก้มลิง

king-rama-9-royal-projects-01

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือ เต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

โครงการนี้ใช้แนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มคราวละมากๆ แล้วค่อยแบ่งมากินที่ละน้อย

“แก้มลิง” เป็นการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยมีทั้งหมด 3 ขนาดคือ ใหญ่ กลาง และเล็ก  โดยมีพระราชดำริให้จัดหาพื้นที่ลุ่ม บึง สระ เป็นที่รองรับน้ำเมื่อฝนตกหนักให้นำน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงชั่วคราว น้ำฝนจึงไม่ไหลลงสู่ทางระบายน้ำในทันที แต่จะขังไว้ในพื้นที่พักน้ำ เมื่อน้ำในคลองมีสภาพปกติ จึงระบายน้ำออกจากแก้มลิง ซึ่งนอกจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้วยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดน้ำในฤดูแล้งได้ด้วย

นอกจากนี้โครงการแก้มลิงยังมีส่วนสำคัญในการบำบัดน้ำเสีย เพราะเมื่อปล่อยน้ำที่กักจากแก้มลิงลงสู่คลองต่างๆ ก็จะไปบำบัด เจือจางน้ำเน่าเสียให้เบาบางลง ก่อนดันลงสู่ทะเลด้วย

ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่ว กรุงเทพ กว่า 20 จุด

 

โครงการหญ้าแฝก

king-rama-9-royal-projects-02

“….ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม…”

หลายคนอาจจะไม่รู้จัก “หญ้าแฝก” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ ข้าวโพก ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งทั่วโลก สามาถพบหญ้าแฝกได้ประมาณ 12 ชนิด แต่ในประเทศนั้นมีหญ้าแฝกอยู่ 2 ชนิด ซึ่งลักษณะของหญ้าแฝกคือ จะขึ้นเป็นกอเบียดกันแน่น ใบมีลักษณะแคบและยาว ขอบขนานปลายสอบ ไม่ต้องดูแลมาก ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป

การพังทลายของหน้าดินเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราขทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากจุดเด่นของหญ้าแฝกที่มีรากยาวแผ่กระจายลงดินได้เป็นแผงๆ คล้ายกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี และปรับปรุงสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้หญ้าแฝกยังเป็นพืชมหัศจรรย์ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำวัสดุมุงหลังคา ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยปลูกเป็นพื้นที่เชิงลาด

โครงการฝายชะลอน้ำ

king-rama-9-royal-projects-07

“…ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็ก ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกขานกันว่าฝายชะลอความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน

ฝายชะลอน้ำสร้างขวางทางไหลของน้ำบนลำธารขนาดเล็กไว้ เพื่อชะลอการไหล – ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง – เมื่อน้ำไหลช้าลง ก็มีน้ำอยู่ในลำห้วยนานขึ้น โดยเฉพาะในหน้าแล้ง – ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ลดการตื้นเขินที่ปลายน้ำ ทำให้น้ำใสมีคุณภาพดีขึ้น – ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ – สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต คืนพืชแก่เนินเขา/ภูเขาหัวโล้น – ดินชื้น ป่าก็ชื้น กลายเป็นแนวกันไฟป่า ลดความรุนแรงของไฟได้

 

โครงการฝนหลวง

king-rama-9-royal-projects-06
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า  จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารที่ประสบปัญหาแห้งแล้ง หรือขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลธรรมชาติ ทำให้บางครั้งฝนได้ทิ้งช่วงนาน พระองค์จึงทรงคิดค้นวิธีการที่ทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่เกิดโดยธรรมชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดขั้นตอนของกรรมวิธีการทำฝนหลวงขึ้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ตามลำดับ ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง : “ก่อกวน” 

เริ่มจากการใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ทำให้กระบวนการดูดซับความชื้นในอากาศให้กลายเป็นเม็ดน้ำเกิดเร็วขึ้นกว่าธรรมชาติ และเกิดกลุ่มเมฆจำนวนมาก ซึ่งเมฆเหล่านี้จะพัฒนาเป็นเมฆก้อนใหญ่ในเวลาต่อมา

ขั้นตอน ที่ สอง : “เลี้ยง ให้ อ้วน” 

          เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้สารเคมีในการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อเร่งหรือเสริมเพิ่มขนาดของเมฆและขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆ ในขณะที่กำลัง ก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นปัจจัยเร่งกระบวนการชนกันและรวมตัวกันของเม็ดน้ำ ส่งผลให้เม็ดน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากเกิดขึ้นในก้อนเมฆ และยอดเมฆพัฒนาตัวสูงขึ้น

ขั้นตอน ที่ สาม : “โจมตี” 

          เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยมีเป้าหมายคือการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อเร่งให้เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมี ความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็น ฝนได้ 

ขอบคุณข้อมูลจาก : RID, ManPattanaLibrary, Kapook, กรมประชาสัมพันธ์

 

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save