ย้อนรอยโรงแรมดุสิตธานี กว่า 50 ปีของแลนด์มาร์กใจกลางย่านสีลม

Writer : minn.una

: 10 มกราคม 2562

หลายครั้งที่เรานั่งรถไฟฟ้าผ่านไปทางศาลาแดง หรือบางครั้งที่เราไปวิ่งกันที่สวนลุม อาคารทรงสูงตั้งตระหง่านกับยอดทรงแหลมสีทองอย่าง​ “ดุสิตธานี” คงเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา โรงแรมดุสิตธานี ได้ปิดทำการ หลังจากอยู่เป็นแลนด์มาร์กในย่านสีลมมานานกว่า 50 ปี โดยมีแผนปรับปรุงโครงสร้างและเปิดเป็นโครงการใหม่ที่ทันสมัยมากกว่าเดิมในอีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า แต่ก่อนที่เราจะได้พบกับสิ่งใหม่ในอนาคต วันนี้ Mango Zero จะพาย้อนไปรู้จักกับดุสิตธานี อีกหนึ่งจดหมายเหตุของกรุงเทพฯ ที่มีคุณค่าทั้งในด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

49 ปี ที่ย่านสีลม

ระยะเวลาถึงเกือบ 50 ปีทำให้เราไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมดุสิตธานีถึงเป็นที่รู้จักของคนหลายๆ รุ่น ก่อนที่จะกลายเป็นโรงแรม 5 ดาว พื้นที่บริเวณแยกสีลมแห่งนี้เคยเป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งได้ขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และก่อตั้งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว แห่งแรกของกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2513 ภายใต้ชื่อ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” โดยได้เปิดทำการมาเป็นเวลาถึง 49 ปี ก่อนประกาศปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม 2562

ดุสิตธานี ชื่อจากเมืองจำลองสมัย ร.6

ถ้าใครพอจะจำกันได้ ในห้องเรียนสมัยมัธยมต้น เราจะได้ยินชื่อดุสิตธานีกันอยู่บ่อยๆ เพราะคำว่า “ดุสิตธานี” นั้นมาจากชื่อของเมืองจำลองในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งแปลว่า “เมืองสวรรค์” โดยตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเหล้าเจ้าอยู่หัว และไปสอดคล้องกับที่ตั้งของโรงแรม ที่อยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินีที่ประดิษฐานพระบรมรูปของพระองค์

นอกจากนี้ ในอีกความหมายหนึ่ง “ดุสิต” ยังเป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ 4 ตามคติไตรภูมิของศาสนาพุทธอีกด้วย

สถาปัตยกรรมทรงสูงแห่งแรกของไทย

ดุสิตธานีก่อตั้งขึ้นโดยถูกนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงสูงแห่งแรกของไทยในสมัยนั้น ความสูง 23 ชั้น มีห้องพักกว่า 500 ห้อง เป็นงานสถาปัตยกรรมยุคสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่ออกแบบโดย Yozo Shibata และคณะสถาปนิกญี่ปุ่น บริษัท KANKO KIKAKU SEKKEISHA (KKS) และที่โดดเด่นและเราน่าจะจำกันได้ดีเห็นจะเป็นเสาสีทองทรงแหลมบนยอดตึก ซึ่งตรงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั่นเอง

ห้องอาหารเบญจรงค์ จุดนัดพบของประวัติศาสตร์และศิลปะ

ห้องอาหารเบญจรงค์ เป็นหนึ่งจุดที่แขกของโรงแรมดุสิตธานีต้องไปเยือน ที่นี่เป็นอีกหนึ่งอีกลักษณ์ของโรงแรมเลยก็ว่าได้ ด้วยการตกแต่งแบบไทยๆ อย่างงานจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งเสาไม้ใหม่ที่ลงลวดลายโดย ‘ท่านกูฏ’- ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาตร์ของงานศิลปะในยุคนั้น

เก็บรักษาเพื่อรอการเปลี่ยนแปลง

ก่อนการปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม 2562 ทางโรงแรมได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อศึกษา บันทึก และเก็บรักษาอนุรักษ์ชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ เอาไว้ ทั้งยอดเสาปลายแหลมสีทองบนยอดตึก เปลือกอาคารทองเหลือง เสาหลักโรงแรมเพนต์ลายจิตรกรรมไทย ฝ้าเพดานไม้สักทอง เฟอร์นิเจอร์ และต้นไม้ในสวนน้ำตกขั้นบันได เพื่อนำออกมาติดตั้งอีกครั้งหลังจากปรับปรุงพื้นที่และเปิดโครงการใหม่อย่าง “ดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค” ในอีก 4 ปีข้างหน้า

อีกหนึ่งความทรงจำของคนกรุงเทพฯ

ไม่ใช่แค่สร้างความทรงจำต่อแขกที่มาพัก แต่ดุสิตธานีก็เป็นอีกหนึ่ง “ภาพจำ” ของคนที่ใช้ชีวิตในย่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนของโรงเรียนในย่านนั้น คนทำงานในห้างหรือออฟฟิศใกล้ๆ หรือแม้แต่คนที่สัญจรไปมา

“เราเรียนแถวนั้นมา 12 ปี ตั้งแต่ประถมจนมัธยม เราเคยนัดเจอแฟนที่นี่ เพื่อนที่เป็นติ่งเกาหลีเคยพาเข้าไปในโรงแรมเพื่อตามศิลปิน เราได้รู้จักวัฒนธรรมการตามศิลปินที่นี่ จนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ได้ฝึกงานแถวๆ นั้น และขับรถผ่านดุสิตธานีเกือบทุกวัน ย่านสีลม-สาทรเหมือนเป็นบริเวณที่เป็นคอมฟอร์ทโซนของเราไปแล้ว และดุสิตฯ เองก็เหมือนกัน พอมีข่าวว่าจะปิดโรงแรมก็อดเสียดายไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ตื่นเต้นที่จะได้เห็นมันอีกครั้ง” เพื่อนที่ใช้ชีวิตในย่านสีลมมามากกว่า 10 ปีเล่าให้เราฟัง

ที่มา : daily newsdusitwikipedia, a day bulletin, The Cloud

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save