คู่มือยื่นภาษีออนไลน์ ฉบับเฟิร์สจ็อบเบอร์

Writer : minn.una

: 7 กุมภาพันธ์ 2562

ช่วงต้นปีแบบนี้ก็เข้าสู่เทศกาลยื่นภาษีกันแล้ว สำหรับชาวเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่เพิ่งเรียนจบและเพิ่งเริ่มงานกันไปหมาดๆ ในปีที่แล้ว คงจะงงๆ เรื่องกับสิ่งที่เรียกว่า “ภาษี” กันอยู่ (เพราะเราก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน!) วันนี้เราเลยมาแชร์คู่มือการเสียภาษี ฉบับของเฟิร์สจ็อบเบอร์ เอาเป็นว่าให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเราต้นปีนี้เราต้องยื่นภาษีกันอย่างไร มีอะไรที่ลดหย่อนภาษีได้ไหม พร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย

ใครบ้างต้องยื่นภาษี?

ที่เราเคยเข้าใจกันมา คนที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษี ก็คือคนที่มีรายได้แล้วนั่นเอง แต่สำหรับคนที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็อาจจะไม่ต้องยื่นภาษี หรือบางคนที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษีก็มี ใครอยู่ในหมวดไหนก็ไปดูกัน

  • ถ้าเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท หรือรวมทั้งปีไม่เกิน 120,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี และไม่ต้องเสียภาษี
  • ถ้าเงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี 
  • ถ้าเงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษีด้วย 

นั่นแปลว่าใครที่อยู่ใน 2 หมวดหลัง ก็เตรียมตัวยื่นภาษีกันได้เลย ส่วนรายละเอียดที่มาว่าทำไมคนบางกลุ่มต้องยื่นภาษี บางกลุ่มไม่ต้องยื่น ตรงนี้จะรู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้​ ใครงงข้ามได้เลย แต่ถ้าใครอยากเข้าใจมากขึ้นเราก็จะเล่าให้ฟัง

  • จำไว้อย่างแรกเลยคือโดยปกติรัฐกำหนดให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายออกจากรายรับประจำได้ 50% (รวมไม่เกิน 100,000 บาท) และได้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้คนละ 60,000 บาท ดังนั้นคนที่มีรายได้ไม่ถึงปีละ 120,000 บาท ตรงนี้จะถูกหักลบจนหมดไป ไม่ต้องยื่นและเสียภาษีจ้า
  • คนที่ต้องจ่ายภาษี คือคนที่มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปี และนี่คือเหตุผลที่คนเงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ไม่ต้องเสียภาษี เพราะเมื่อถูกหักลบจากค่าใช้จ่าย สิทธิลดหย่อนส่วนตัวอย่างที่บอกไปข้อแรก และยังหักลบประกันสังคมได้อีก ก็จะได้รายได้สุทธิ 150,000 บาทพอดี ดังนั้นก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่แค่ต้องยื่นแบบภาษีไว้เป็นข้อมูลของประเทศเท่านั้นเอง

ยื่นภาษีออนไลน์กันเถอะ

ช่องทางยื่นภาษีที่ง่ายที่สุดในตอนนี้ก็คือการยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร นั่นก็คือ epit.rd.go.th/ สำหรับบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ สรรพากรก็ได้เปิดให้ยื่นแบบภาษีมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 9 เมษายน 2562 ใครที่เข้าเว็บแล้วก็งงว่าเอ๊ะ ยังไงต่อ เราได้พยายามสรุปมาให้เข้าใจง่ายที่สุด ไปดูกัน

  • กดปุ่มยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91)
  • ลงทะเบียนก่อน กรอกข้อมูล ตั้งรหัสผ่านให้เรียบร้อย ส่วนช่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไปอย่างเรา สามารถใส่เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักลงไปได้เลย
  • เมื่อลงทะเบียนและเข้าสู่ระบบเรียบร้อย จะมีหน้าเว็บทั้งหมด 6 หน้า เริ่มที่หน้าหลัก จะขึ้นข้อมูลของเรารวมไปถึงถ้ามีคู่สมรส ข้อมูลก็จะอยู่ที่หน้านี้ กรอกสถานภาพลงไปให้เรียบร้อย จะมีทั้งโสด สมรส หม้าย ตรงนี้ถ้าใครมีคู่สมรสจะต้องกรอกข้อมูลของอีกคนด้วยในช่องด้านขวามือ

  • หน้าต่อไปคือเลือกเงินได้/ลดหย่อนจะมีข้อความเยอะมาก ไม่ต้องตกใจ เราแค่ต้องติ๊กลงไปในแบบฟอร์มว่าเรามีรายได้มาจากทางไหนบ้าง และเรามีช่องทางลดหย่อนอะไรบ้าง โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ก็จะติ๊กที่ช่องแรกก่อนก็คือ รายได้ ค่าจ้าง โบนัส ส่วนถ้าเป็นชาวฟรีแลนซ์ก็จะอยู่ในช่องที่ 2 คือเงินที่ได้จากตำแหน่งงานที่ทำหรือรับทำงานให้นั่นเอง ส่วนนอกเหนือจาก 2 ช่องนี้ก็เป็นพวกเงินปันผล เงินจากการขายกองทุน ใครที่มีตรงนี้ด้วยก็ติ๊กไปด้วยนะ
  • ในหน้าเดียวกัน ถัดไปที่ฝั่งขวามือจะมีให้เราติ๊กช่องที่เรามีสิทธิลดหย่อนภาษี โดยช่องทางลดหย่อนภาษีก็เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน LTF หรือ RMF การอุปการะพ่อแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี การส่งเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ดอกเบี้ยบ้าน คอนโดและประกันสังคม เอาที่แน่ๆ ว่าต้องติ๊กถูกไปก่อนก็คือประกันสังคมนี่แหละ ส่วนช่องที่เหลือก็แล้วแต่คนเลยจ้า
  • ต่อมาก็คือมากรอกรายละเอียดของสิ่งที่เราติ๊กไปก่อนหน้านี้ให้ครบถ้วน ในหน้าบันทึกเงินได้โดยก่อนหน้าที่เราจะยื่นภาษีได้ เราต้องได้ใบหักภาษี ณ ที่จ่ายจากทางนายจ้างมาก่อน เรียกว่าใบ 50 ทวิ ระบุรายได้ของเรา และภาษีที่หักออกไป ณ ที่จ่าย ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2561 นำมากรอกลงไปในช่องได้เลย ส่วนเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้จ่าย ให้เลือกนายจ้างที่จ่ายให้เรารวมเป็นเงินมากที่สุดในปีที่ผ่านมา
  • บันทึกเงินได้ไปแล้วก็มาบันทึกลดหย่อนกันต่อ โดยจากที่เราติ๊กไปในตอนแรกนั่นแหละว่าเรามีอะไรที่นำไปลดหย่อนภาษีได้บ้าง ซึ่งก็กรอกจำนวนเงินลงไปได้เลย
  • ใกล้เสร็จแล้ว พอกรอกรายละเอียดทุกอย่างเรียบร้อย ระบบจะคำนวณและสรุปให้เราว่าต้องเสียภาษีเพิ่มเติม หรือมีภาษีที่ชำระไว้เกิน (ซึ่งขอคืนได้) หรือไม่ตรงนี้ถ้าอยากบริจาคให้พรรคการเมืองก็เลือกได้ แต่ถ้าไม่ก็กดต่อไปเพื่อยืนยันเลยจ้า

จ่ายภาษีเกิน ขอคืนได้

สำหรับคนที่เมื่อคำนวณภาษีออกมาแล้ว มีภาษีที่จ่ายเกินไป และไม่ได้จะบริจาคให้พรรคการเมือง ก็สามารถขอคืนได้ด้วยนะ โดยตอนนี้ทางสรรพากรจะให้เราลงทะเบียนพร้อมเพย์เอาไว้ และเมื่อยืนแบบเรียบร้อย ระบบจะแจ้งให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย เช่น เอกสารกองทุน ประกันสุขภาพ ทะเบียนสมรส แล้วก็รอรับเงินคืนทางบัญชีพร้อมเพย์ได้เลย สะดวกกว่าเมื่อก่อนที่ต้องรอรับเช็คทางไปรษณีย์เยอะเลย

จ่ายภาษีไม่ครบ ผ่อนชำระได้ 3 งวด

สำหรับคนที่ยื่นภาษีไปแล้วพบว่าตัวเองนั้นยังจ่ายภาษีไม่ครบ ก็แน่นอนว่าต้องมีการถูกเรียกเก็บย้อนหลังกันหน่อย ทางสรรพากรก็เปิดให้เราได้ผ่อนจ่ายได้ถึง 3 งวด ผ่านหลายช่องทาง เช่น โมบายแบงก์กิ้ง E-Payment บัตรเครดิต เคาน์เตอร์เซอร์วิส เลือกชำระได้ตามสะดวกเลยจ้า

แล้วเราลดหย่อนภาษีอย่างไรได้บ้าง?

อย่างที่บอกไปว่ามีหลายช่องทางที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่หลักๆ ที่คนนิยมกัน เพราะว่าสามารถลดหย่อนภาษีลงไปได้เยอะก็คือ

  • ประกันสังคม ที่เราจ่ายกันไปทุกเดือนๆ นี่แหละ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ถึง 9,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บางบริษัทก็มี บางบริษัทก็ไม่มี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นการหักเปอร์เซ็นต์ออกจากเงินเดือนที่เราได้รับ และบริษัทจะเก็บไว้ให้ แล้วแต่เงื่อนไขว่าบริษัทจะช่วยเก็บด้วยเมื่อเข้ากองทุนกี่ปีๆ ขึ้นไป ซึ่งการเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษี รวมกับกองทุน LTF หรือ RMF ได้สูงสุดถึง 500,000 บาท
  • ดอกเบี้ยบ้าน คอนโด คนที่ผ่อนบ้านและคอนโดจะสามารถรวมดอกเบี้ยมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 100,000 บาท
  • ประกันสุขภาพ เราสามารถนำเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท

ที่มา : กรมสรรพากร, itax

 

 

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save