category พาชมแนวคิดการพัฒนาท้องถิ่นในแบบญี่ปุ่น กับ 3 เยาวชนแห่งค่ายเพาเวอร์กรีน

Writer : cozekt

: 8 พฤษภาคม 2562

“เราเน้นส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยคัดเลือกน้องๆ ที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่น ส่งเสริมให้เขามีโอกาสได้ไปเปิดโลกทัศน์ ได้ไปเห็นว่าในระดับสากลเขาทำอะไร เขาเหมือน หรือต่างจากประเทศไทยของเราอย่างไร และอะไรจะเป็นบทเรียนที่เราน่าจะเอากลับมาปรับใช้ได้ หรืออะไรจะเป็นบทเรียนให้เราเห็นช่องว่าง ความผิดพลาดต่างๆ ที่เราต้องระมัดระวัง” คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวกับเรา

https://youtu.be/Xw_t4rJX4iM

การจัดกิจกรรมค่าย “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) ดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แล้ว โดยอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท บ้านปู ร่วมมือกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ได้พาน้องๆ เยาวชน ไปทัศนศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อต่อยอดความรู้ภายใต้แนวคิด “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”

เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่เยาวชนในการนำทักษะความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานเข้ากับวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกความรู้ทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวญี่ปุ่น เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับประเทศในอนาคต และทางแมงโก้ซีโร่ ก็ได้มีโอกาสติดตามน้องๆ ทั้ง 3 คน ที่ได้รับคัดเลือกไปยังทัศนศึกษาในครั้งนี้ด้วย

Sado Island – เกาะซาโดะ จังหวัดนีงาตะ

เกาะที่มีทั้งวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์ที่ชวนค้นหา และยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยน้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Chips) จากเศษไม้ภายในเกาะซาโดะ ที่นำเอาไม้ หรือวัสดุธรรมชาติที่เหลือจากการก่อสร้างมาบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังสามารถสร้างความสมดุลของระบบนิเวศภายในเกาะซาโดะได้อีกด้วย

ตลอดจนการได้ศึกษาถึงวิธีการอนุรักษ์นกโทกิ หรือนกช้อนหอยหงอนญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีเคยสูญพันธุ์จากญี่ปุ่นไปแล้ว ต่อมาได้มีความพยายามในการนำนกโทกิกลับมาอีกครั้งจนเกิดเป็นโครงการการผสมพันธุ์ของนกชนิดนี้ขึ้น และสามารถปล่อยนกโทกิกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ โดยทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือกันในหลายภาคส่วนตั้งแต่รัฐบาลตลอดจนชุมชนที่ช่วยกันลดสิ่งรบกวนต่างๆ เพื่ออนุรักษ์นกโทกิ รวมถึงชาวนาเองที่ลดการใช้สารเคมีในนาข้าว จากเดิมที่เคยใช้สารเคมีมากเกินไปจนทำให้นกโทกิสูญพันธุ์ จึงร่วมหาวิธีป้องกันการรบกวนนาข้าวจากนกโทกิอย่างจริงจัง โดยไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศอย่างที่เคยผ่านมา

“สังคมของคนในเกาะซาโดะจะออกแนวอิงกลุ่ม คือ ใครทำฉันก็ทำด้วย คราวนี้มันก็เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เกิดการอนุรักษ์ขึ้นมาแล้วก็ร่วมพัฒนาในเกาะซาโดะ” น้องออม เจณิชตา เจริญชัยดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดทรงธรรม กล่าว

“ก็คือเหมือนพอคนหนึ่งเริ่มตระหนักว่า นกมันสูญพันธุ์ไปแล้วนะ คนอื่นๆ ก็ตระหนักตาม แล้วเขาก็เลยเริ่มร่วมมือช่วยกันอนุรักษ์นกโทกิ แล้วมันก็เลยกลายเป็นว่าช่วยทำในสิ่งต่างๆ จนพัฒนาเกาะซาโดะจนเราเห็นในปัจจุบันนั่นเองค่ะ” น้องออมกล่าวเพิ่มเติม

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน 13” ซึ่งเดินทางไปกับเราด้วย ได้กล่าวชื่นชมถึงการอนุรักษ์นกโทกิ ที่เกิดจากการร่วมมือของชุมชนจนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างให้เราได้ศึกษา

นอกจากนี้เรายังได้เห็นถึงการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงความยากลำบากในการทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยเอโดะ ที่เหมืองทองซะโดคินซัง (Historic Site Sado Kinzan Gold Mine) เหมืองที่สามารถผลิตแร่ทองคำได้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และน้องๆ เยาวชนยังได้ร่วมร่อนหาทองคำที่พิพิธภัณฑ์ Sado Nishimikawa Gold Park เพื่อเรียนรู้วิธีการร่อนหาทองคำตามแบบฉบับญี่ปุ่น

และเรายังได้เห็นถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านชุคุเนะงิ (Shukunegi Village) ที่เสมือนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางทะเลในอดีต สัมผัสการนั่งเรือทาไรบุเนะ เรือประมงแบบดั้งเดิม และร่วมทำกิจกรรมกับชาวประมงในพื้นที่เลี้ยงหอยนางรม Akitsu Maru

Tokamachi – เมืองโทคามาจิ จังหวัดนีงาตะ

เมืองซึ่งเต็มไปด้วยงานอาร์ต เมื่อการพยายามใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวย คนในชุมชนจึงต้องหาวิธีการอยู่รอด จึงเกิดเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตของชุมชนผ่านงานเทศกาลศิลปะต่างๆ ให้เราได้ชมกัน

น้องบูม ธนัช กาญจนจินดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ให้เหตุผลว่า “เมืองโทคามาจิ ใช้วิธีการนำงานอาร์ตมาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง เพื่อให้เป็น Unseen ที่น่าสนใจ”

เช่นเดียวกันนั้น น้องแอ๊นท์ พัชชธร หนูปลอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ก็ได้ให้เหตุผลพร้อมนำเสนอแนวคิดว่า “ประเทศไทยก็มีศิลปะที่โดดเด่น และแตกต่างจากประเทศอื่นอยู่แล้ว ถ้าสมมติเราเปลี่ยนเป็นศิลปะของไทย แล้วเอาไปไว้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ มันก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ศิลปะของไทยก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกันค่ะ”

งานเทศกาลศิลปะถูกจัดวางไว้อย่างลงตัวทั่วเมืองโทคามาจิ รวมถึงการมีหอศิลปะอย่าง “คินาเร่” ซึ่งเป็นหอศิลปะร่วมสมัยเอจิโกะ-ซึมาริ ที่ให้น้องๆ เยาวชนเข้าไปศึกษาถึงแนวคิดสไตล์ญี่ปุ่นแบบร่วมสมัย ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมรายได้ในท้องถิ่นจากการใช้ศิลปะดึงดูดนักท่องเที่ยว และถือเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาท้องถิ่นจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งออนเซ็น ที่นำมาผสมสานเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างออนเซ็นมะสึโนะยามะ (Matsunoyama Onsen) 1 ใน 3 สุดยอดแหล่งออนเซ็นของญี่ปุ่นที่สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้

Tokyo – กรุงโตเกียว

นอกจากนี้เราได้เดินทางไปยัง teamLAB Borderless เพื่อชมงานศิลปะดิจิทัล ที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีผสมผสานเข้ากับงานศิลปะ สื่อออกมาเป็นเรื่องราวต่างๆ ให้น้องๆ เยาวชนได้ชื่นชม เปิดมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขอบเขต

วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่ร่วมมือช่วยกันพยายามอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิธีการพัฒนาชุมชนจากการประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ถือเป็นแบบอย่างในการศึกษา เรียนรู้ และนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราอย่างยิ่ง

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากกิจกรรมค่าย “เพาเวอร์กรีน” ได้ที่ PowerGreen Camp

BNK48: By The Way - EP. 1 ชมรายการย้อนหลัง [Full HD]


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save