Soft Power ของไทย ที่ควรจะไปได้ไกลกว่าเดิม

Writer : incwaran

: 14 กันยายน 2564

Soft Power คือการเผยแพร่วัฒนธรรมและแนวคิดต่าง ๆ ให้เกิดการยอมรับ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยไม่ใช้การบังคับใด ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือการแฝงวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และการแต่งกายไว้ในซีรีส์ ที่เราดูแล้วก็อยากตามรอยบ้าง

แล้วถ้าพูดถึง Soft Power ของไทย นึกถึงอะไรกันบ้าง? หลายคนอาจจะนึกไม่ออกเท่าไหร่ จริง ๆ แล้วไทยมี Soft Power แฝงอยู่ในแทบทุกจะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านศิลปะและความบันเทิง เพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือผลักดันให้ไปต่อได้ไกลกว่านี้

เพราะการที่ผลงานจะไปได้ไกล นอกจากความตั้งใจของคนทำแล้ว ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

มาดูกันว่าไทยมี Soft Power อะไรที่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้กันบ้าง

ศิลปินไทย ใครว่าไม่ปัง

วงการเพลงไทยปังไม่ใคร ทั้งฝีมือของศิลปิน การสร้างสรรค์โปรดักชั่น และการโปรโมต ที่แฟนคลับชาวไทยพร้อมให้การสนับสนุนเสมอ 

เพลงไทยมีความหลากหลายมากกว่า ไอดอล เกิร์ลกรุ๊ป หรือบอยแบนด์ เพราะยังรวมถึงแนวเพลงอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการจะทำให้วงการเพลงไทยไปไกลระดับโลกทั้งมาตรฐานและชื่อเสียง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม เพราะเรามีวัตถุดิบที่ดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เงินทุนและงบประมาณจำนวนมาก 

หลายครั้งที่ศิลปินไทยโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ ก็เป็นเพราะความสามารถของตัวศิลปินเอง รวมถึงการสนับสนุนจากต้นสังกัด และภาคเอกชน 

ทั้งศิลปินที่ผลงานไปไกล ได้รับรางวัลและได้ไปโชว์ฝีมือในเวทีระดับโลก เช่น มิลลิ-ดนุภา ภูมิ-วิภูริศ The TOYS และ วิโอเลต วอเทียร์

ทางฝั่งศิลปินระดับตำนานอย่างพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ก็มีไอดอลกรุ๊ปญี่ปุ่น ‘Berryz Koubou’ ซื้อลิขสิทธิ์เพลง ‘เรามา SING’ เพื่อนำไปโคฟเวอร์ ในซิงเกิล ‘cha cha SING’

และศิลปินในยุคของ Kamikaze อย่างเนย-แจม เนโกะ จัมพ์ (Neko Jump) ก็เคยสร้างปรากฏการณ์เพลงไทยไปต่างแดน จากเพลง ‘ปู’ เพราะมีค่ายเพลงดังอย่าง ‘คิงส์ เรคคอร์ด’ จากญี่ปุ่น นำไปเป็นเพลงประกอบแอนิเมชัน สร้างความโด่งดังให้เนโกะ จัมพ์เป็นอย่างมาก จนมีอัลบั้มเต็มที่ญี่ปุ่น และทางค่ายคิงส์ เรคคอร์ดเองก็ได้พาตลาดเพลงไทยไปสู่ญี่ปุ่นด้วย 

ในขณะที่วงการเพลงต่างประเทศ อย่างฝั่งอเมริกา เกาหลี และจีนสามารถขยายอิทธิพลไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากความนิยมคอนเสิร์ตต่างประเทศในไทย ที่มีเปิดขายบัตรเมื่อไหร่ก็ Sold Out ภายในไม่ถึงชั่วโมง

ถ้าหากวงการเพลงไทย ได้รับการสนับสนุนให้โด่งดังได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ หรือขาดการผลักดัน ก็คงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรม ที่ทำให้ Soft Power ของไทยแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อยเลย

ภาพยนตร์ไทย ดัง(กว่า) เมื่อไปต่างแดน

(ภาพจาก festival-cannes)

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยได้ไปไกลถึงเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 

เช่น ฉลาดเกมส์โกง ภาพยนตร์ที่นำเสนอมุมมองสังคมและการศึกษาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างรายได้ในไทยไปกว่า 100 ล้านบาท แต่เมื่อทางค่าย GDH พาภาพยนตร์เรื่องนี้ไปต่างประเทศ ก็ทำรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ฉลาดเกมส์โกงกำลังจะได้รับการรีเมคในเวอร์ชั่น Hollywood โดยมี Erik Feig โปรดิวเซอร์ระดับท็อปเบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ระดับโลก มาร่วมคุมการสร้างด้วย

ล่าสุด “Memoria” ภาพยนตร์ฝีมือการกำกับของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2021 (Cannes Film Festival) ประเทศฝรั่งเศส และยังมีคิวฉายที่เทศกาลหนังอื่น ๆ อีก 

รวมถึงภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องของคุณเจ้ย ที่ทั้งตัวละครและสถานที่ถ่ายทำเต็มไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไทย ก็ไปโด่งดัง สร้างความประทับใจในเวทีระดับโลก ทั้ง 

  • รางวัล Un Certain Regard Prizes จากภาพยนตร์ สุดเสน่หา (2002)
  • รางวัล Jury Prize จากภาพยนตร์ สัตว์ประหลาด! (2004) 
  • รางวัล Palme d’Or จากภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010)

เพราะอะไรภาพยนตร์ผลงานคนไทยหลายเรื่องจึงเฉิดฉายส่องสว่างที่ต่างประเทศมากกว่าในไทย?

สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ด้านคนทำหนังอย่างนุชี่-อนุชา ผู้กำกับหนัง “มะลิลา” ได้เคยเป็นกระบอกเสียงและให้กำลังใจคนในวงการภาพยนตร์ ว่าตนเองรับรู้ถึงพลังการต่อสู้ สร้างสรรค์งานเพื่อขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทย และเชื่อว่าทุกคนต้องผ่านเส้นทางอันยากลำบากกว่าที่จะผลงานภาพยนตร์ออกสู่สายตาประชาชนได้ ในฐานะผู้กำกับหนังจึงอยากให้ภาครัฐและสังคมไทยหันมาสนับสนุนภาพยนตร์ไทยให้มากขึ้น

จะน่าเสียดายแค่ไหน ที่กว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของภาพยนตร์ไทยคุณภาพดี ก็ตอนที่ภาพยนตร์เหล่านั้นไปเปิดตัวที่ต่างประเทศแล้ว

และคงน่าเสียดายยิ่งกว่า ถ้าภาพยนตร์ดี ๆ จากฝีมือคนไทย ไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นทำ เพราะข้อจำกัดด้านเงินทุน

ละครและซีรีส์ไทย กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ในส่วนของซีรีส์ ถ้าพูดถึงเรื่องที่กระแสตอบรับดีสุด ๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องยกให้ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ฝีมือกำกับของ ‘นฤเบศ กูโน’ นำแสดงโดย ‘บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ ’ และ ‘พีพี – กฤษฏ์’ นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของสองตัวละคร โดยมีฉากหลังเป็นจังหวัดภูเก็ต

นอกจากตัวละครและเนื้อเรื่องที่ตราตึงใจคนดูจำนวนมากแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูเก็ต เนื่องจากมีแฟนซีรีส์เดินทางไปยังพื้นที่เพิ่มขึ้น จากการนำเสนอบรรยากาศที่สวยงาม ยืนยันจากเสียงของเจ้าของร้านในพื้นที่ว่าหลังซีรีส์ออกอากาศ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นมาจากช่วงวิกฤติโควิดหลายเท่าตัว

ย้อนกลับไปในปี 2561 ‘บุพเพสันนิวาส’ ละครไทยย้อนยุค ที่สอดแทรกสีสัน วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างน่าสนใจ โด่งดังมากจนเกิดกระแส ‘ออเจ้าฟีเวอร์’ แบรนด์ต่าง ๆ พากันทำการตลาดโดยเกาะกระแส ‘แม่การะเกด’ ตัวเอกของเรื่อง มีการแต่งกายด้วยชุดไทยในช่วงสงกรานต์ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ 

และสถานีโทรทัศน์ของประเทศอินโดนีเซียก็ได้ทำสัญญากับบริษัท เจเคเอ็น โกล บอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) นำละครบุพเพสันนิวาสไปออกอากาศที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย

ผลงานดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า Soft Power มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขนาดไหน 

แม้จะสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมก็เริ่มจางหายไปตามกระแส 

ถ้าหากพลังในผลงานวงการบันเทิงไทยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนในการสร้างขึ้น และผลักดันให้สามารถกระเพื่อมไปได้ไกลถึงต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ก็คงจะสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้คนไทยได้ไม่น้อยเลย

แอนิเมชันไทย ขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าเสียดาย

เคยดูแอนิเมชั่นไทยเรื่องอะไรกันบ้าง? 

แอนิเมชัน ใช้ต้นทุนและระยะเวลาการสร้างมากกว่าภาพยนตร์ทั่วไปหลายเท่า เนื่องจากต้องต้องใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ สร้างสรรค์องค์ประกอบในภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แม้แต่แอนิเมชันที่ทำได้รายได้ระดับต้น ๆ ของไทย อย่างก้านกล้วย ยักษ์ และคุณทองแดง ก็ยังขาดทุน

ในขณะที่แอนิเมชันต่างประเทศ ลงจอไทยเมื่อไหร่ ก็กวาดรายได้ถล่มทลาย (แถมยังมีให้ดูเยอะจนนับไม่ถ้วน) นั่นเป็นเพราะอะไร?

ถ้าหากเป็นเพราะเรื่องคุณภาพ ล่าสุด “9 ศาสตรา” 11 มกราคม 2561 แอนิเมชันไทยที่ได้ทีมนักวาดคนไทยที่ได้ร่วมทีมกับค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Sony และ Dreamwork มาร่วมสร้าง ลงทุนไปกว่า 200 ล้านบาท จนออกมาเป็นผลงานแอนิเมชันไทยที่คุณภาพสามารถไปไกลระดับโลกได้ไม่ยาก ทั้งเนื้อเรื่องและภาพ แม้จะทำรายได้หลายสิบล้านบาท รวมถึงขายลิขสิทธิ์ไปฉายที่ต่างประเทศ แต่ก็ยังเผชิญกับการขาดทุนอย่างน่าเสียดาย

สาเหตุหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องเงินทุน ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ด้านพื้นที่แสดงผลงานแอนิเมชันในไทยก็ยังไม่ได้มีให้มือใหม่และมืออาชีพได้โชว์ความสามารถมาก ดังนั้นการจะสร้างแอนิเมชันในไทย หมายความว่าต้องยอมจ่ายทั้งเงินทุน และความเสี่ยงกับผลลัพธ์

คงน่าเสียดาย ถ้าหากการสร้างแอนิเมชันไทยที่ควรได้ไปสู่สายตาาวโลก แต่ลงทุนลงแรงเท่าไหร่ ก็ยังคงขาดทุนต่อไปโดยไม่ได้รับการสนับสนุน

วงการเกมไทย กว่าจะแจ้งเกิดได้ต้องผ่านหลายด่าน

Home Sweet Home ฝีมือการพัฒนาของทีมงานคนไทย ในบริษัท YGGDRAZIL Group

นอกจากความน่ากลัวสไตล์เกมสยองขวัญ ผู้สร้างยังใส่ดีเทลความเป็นไทยไว้แบบจัดเต็มทั้งตัวละคร ฉาก และเสียง ที่ผู้สร้างทำการบ้านอย่างหนักด้วยการไปลงพื้นที่จริง เพื่อใช้อ้างอิงสิ่งที่จะใส่ในเกม

แต่ดีเทลบางอย่างก็ต้องเบรกไว้ก่อน หลังจากกระทรวงวัฒนธรรมปฏิเสธการนำภาพดนตรีไทย และท่ารำไทยมาใช้ในเกม เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องภาพลักษณ์ของศิลปะวัฒนธรรมไทย ผู้จัดทำจึงสร้างนางรำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยลดความน่ากลัว แต่ยังคงความสวยงามเอาไว้

ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ อย่างชฎา มีเงื่อนไขว่าห้ามวางบนพื้นและห้ามมีรอยเลือด เนื่องจากเป็นของศักดิ์สิทธิ์ 

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย แต่ในที่สุด Home Sweet Home ก็ได้รับการอนุมัติ หลังจากต้องผ่านทั้งด่านการทดลองเกม และด่านการขออนุญาต

เกม Home Sweet Home เปิดตัว EP.1 ในปี 2560 และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาด ได้รับความสนใจจากทั้งเกมเมอร์ไทยและต่างชาติ สำหรับ EP. 2 ผู้สร้างเปิดเผยว่าจะพัฒนาให้มีลูกเล่นแตกต่างจาก EP.1 

เป้าหมายของทีมผู้สร้างคือจะวางขายทั่วโลก รวมถึงพาเกมนี้ไปถึงการแข่งขัน tournament e-Sport เพื่อพิสูจน์ผลงานของคนไทย และสร้างรายได้ให้ประเทศ 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมของไทย ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ accelerator program แต่ด้วยจำนวนเงินที่จำกัด จึงยังเป็นโครงการระยะสั้น การพัฒนาเกมไทยไปสู่ตลาดโลกจึงยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก 

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือ อย่าให้ข้อจำกัดและความหวงแหนความเป็นไทยที่มากเกินไป กลายเป็นอุปสรรคในเส้นทางของเกมไทยสู่ตลาดโลก

ในฝั่งของต่างประเทศ ในหลาย ๆ ประเทศมีการเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับเกมและ อีสปอร์ต อย่างเป็นทางการ เช่น เกาหลี มีการสนับสนุนเกมเมอร์ให้เป็นนักกีฬา ด้วยการมีวิชาเกี่ยวกับการแข่งขันอีสปอร์ต เพื่อปั้นนักเรียนที่มีความสามารถเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต เนื่องจากช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยและสถาบันในจีน เปิดสอนหลักสูตร eSports อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันบุคลากรสู่อุตสาหกรรมอีสปอร์ต

ของไทยเองก็มีหลักสูตรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สามารถไปต่อยอดในสายอาชีพเกี่ยวกับเกมได้หลากหลาย

อุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตในประเทศ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงถึงหลักหมื่นล้าน ในปี 2562 ถ้าหากวงการนี้ได้รับการสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งนักกีฬาไทยไปอีสปอร์ตโลก หรือดึงดูดนักกีฬาเข้ามาในประเทศ ก็คงจะสร้างรายได้และทำให้การเล่นเกมเป็นมากกว่างานอดิเรกได้จริง ๆ

ที่มา

brandthink

brandthink2

thestandard

forbesthailand

marketeeronline

thematter

adaymagazine

prachachat

workpointtoday

voicetv

matichon.

brandbuffet

tgpl

voicetv

thairath

popcornfor2

ryt9

TAG : Soft power
Writer Profile : incwaran
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

TOMS x Blind Experience | STAND FOR INCLUSIVE SOCIETY


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save