category คนเรา "หมดไฟ" เกิดจากอะไร ? พร้อมแนะนำ 11 วิธี “จุดไฟ” ให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง !!

Writer : pearlkeira

: 8 กุมภาพันธ์ 2560

why-we-burn-out-cover

จากคนที่เคยเต็มไปด้วยพลัง มีไอเดียร้อยแปด ทำทุกอย่างเต็มที่ ต้องเอาให้สุดแม็กซ์! แต่ไปๆ มาๆ ทำไมฟันเฟืองมันเริ่มขับเคลื่อนได้ช้าลง เรี่ยวแรงและพลังที่เคยมีเกินหลอดค่อยๆ หายไป เหมือนนาฬิกาที่ถ่านเริ่มอ่อนแล้วเข็มค่อยๆ เดินช้าลง จากที่เคยได้ยิน “เด็กจบใหม่ไฟแรง” กลายเป็นทำงานไปซักพัก เริ่มไม่แน่ใจว่าเหยแก…ฉันมาทำอะไรที่นี่!! ความอยากตื่นไปทำงาน อยากขุดตัวเองออกไปทำนู่นนี่ก็เริ่มหดหายไปซะดื้อๆ แทนที่ด้วยความเบื่อหน่าย หมดอาลัยตาอยากกับชีวิตไปเสียแทน…

เอ๊ะ ถ้าอ่านแล้วมันดูคุ้นๆ หรือรู้สึกเริ่มอินว่า เห้ยย นี่มันเหมือนสิ่งที่ฉันกำลังรู้สึกเลยนี่! ขอให้เชิญชวนมาสำรวจตัวเองว่าเรากำลังสุ่มเสี่ยง หรือเริ่มเข้าข่ายอาการ “หมดไฟ” ในชีวิตหรือเปล่า

ทำไมเราถึง “หมดไฟ”

หลายๆ คน อาจจะเคยรู้สึก “หมดไฟ” ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต หรือแม้กระทั่งอาจจะกำลังเริ่มรู้สึกอยู่ ทำไมเราถึงมีอาการนี้เกิดขึ้น โดยมีทฤษฎีที่น่าสนใจอธิบายว่าอาการหมดไฟนี้ มีต้นเหตุเชื่อมโยงมาจาก “ความเครียด” นั่นเอง โดย สตีเฟน ฮอบฟอล (Stevan E. Hobfoll) นักจิตวิทยาอธิบายไว้ในงานวิจัยที่ชื่อว่า รูปแบบการป้องกันการสูญเสียทรัพยากร (Conservation of Resources Model)

burn-out2

ฟังดูอาจเข้าใจว่าเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรือพืชผล แต่จริงๆแล้วเป็นทฤษฎีที่อธิบายแนวคิดว่าด้วย การที่มนุษย์พยายามที่จะทำให้ได้มา หรือรักษาระดับทรัพยากรของเรา ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ เช่น บ้าน เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ ลักษณะนิสัยใดๆ เช่น ความภาคภูมิใจในตนเอง สถานะต่างๆ เช่น การแต่งงาน และ พลังงาน เช่น เวลา เงิน ความรู้ และเราจะเกิด “ความเครียด” ขึ้นเมื่อสูญเสียทรัพยากรเหล่านี้ไป

หากนำมายกตัวอย่างกับการทำงาน “อาการหมดไฟ” มักเกิดขึ้นเมื่อเราทำงานอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้พักเป็นเวลานานๆ เหมือนกับการใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เติม ถ้าให้นึกภาพตามธรรมชาติง่ายๆ ก็เหมือนเวลาเราเผาไฟไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีการเติมฟืน ทรัพยากรซึ่งคือไม้หรือฟืนก็จะค่อยๆหมดไป และในที่สุดไฟก็ค่อยๆ มอดดับไป

ตรงนี้ยังนำไปสู่ผลที่ตามมาอีกมากมายสำหรับผู้ที่เผชิญอาการหมดไฟ เช่น ความสามารถในการจัดการกับเรื่องต่างๆ แย่ลง ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำสิ่งใดๆ รู้สึกหมดพลังงานพลังใจ อยากออกจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดนั้น แถมเมื่อเหนื่อยล้ากายใจก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งไม่อยากทำอะไร กลายเป็นวงจรที่หลุดออกมาได้ยากซะอย่างนั้น

ตัวอย่างบริษัทในอิตาลี ที่ให้พนักงานพักกลางวัน 2 ชั่วโมง และมีวันหยุดรวมกันถึง 8 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ทำให้บริษัทเสียหายแต่อย่างไร เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้ทำงานตลอด เราต้องเวลาเติมพลังบ้าง ถึงจะทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

ตัวอย่างบริษัทในอิตาลี ที่ให้พนักงานพักกลางวัน 2 ชั่วโมง และมีวันหยุดรวมกันถึง 8 สัปดาห์ แต่ก็ไม่ทำให้บริษัทเสียหายแต่อย่างไร เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้ทำงานตลอด เราต้องเวลาเติมพลังบ้าง ถึงจะทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข

 

เมื่อมนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้ใช้ร่างกาย หรือความคิดแบบเต็มร้อยตลอดเวลา เรายังต้องการเวลาพักเติมพลังกันบ้าง วิธีทางแก้คือเราต้องหยุดวงจรอุบาทแห่งการหมดไฟนี้ให้ได้ แล้วชาร์ทแบต เติมไฟให้ตัวเองซะ

 

11 วิธีทำอย่างไร เพื่อ “จุดไฟ” อีกครั้ง

ignite

 

1.ให้เวลาตัวเองกับสิ่งที่ชอบ

เหนื่อยนักก็พักซะหน่อย ตึงไปก็ผ่อนซักบ้าง แล้วให้เวลาได้เติมพลังตัวเองกับสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง แฮงค์เอ้าท์กับเพื่อน ช็อปปิ้ง เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ทำอาหาร ท่องเที่ยว ไปทะเล ปืนเขา ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปท่องโลกกว้างอย่างเดียว ทิ้งทุกอย่างแล้วไปค้นหาตัวเองอย่างเดียว แต่ทำอะไรก็ได้ที่เราเอนจอย โดยปราศจากความกังวล ช่วงเวลาที่มีคุณภาพกับสิ่งที่เราชอบ จะช่วยให้เรามีแรงต่อสู้กับเรื่องหนักๆ อื่นๆ ในชีวิตต่อไป

จะเที่ยวพักผ่อน หรือใช้เวลาที่บ้านก็ได้ ให้เลือกกิจกรรมที่เหมาะที่ตัวเองชอบ

จะเที่ยวพักผ่อน หรือใช้เวลาที่บ้านก็ได้ ให้เลือกกิจกรรมที่เหมาะที่ตัวเองชอบ

 

2.ถอดปลั๊กตัวเองแล้วเลิกคอนเนคซะบ้าง

รู้กันอยู่แล้วว่าโลกออนไลน์มีข้อดีมากกกกมาย ช่วยให้โลกเราเชื่อมต่อ เป็นคลังความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด สื่อสารอะไรก็รวดเร็วแค่คลิกๆ แม้เราจะใช้กันอย่างระมัดระวัง แต่บางทีเราก็ยังเผลอโดนความเครียดจากการ Always on หรือ เชื่อมต่อโลกออนไลน์ ตลอดเวลาของเราทำร้ายตัวเองจนได้ กลับบ้านก็นอนไม่หลับ ขับรถก็ต้องคอยเช็คมือถือ เช็คอีเมลล์ หรือเห็นเพื่อนโพสเฟสบุ๊คชีวิตดีๆ ก็พลอยกดดันตัวเอง จนเครียดสะสมรู้สึกไม่แฮปปี้กับตัวเอง บางทีเราอาจต้องถอดปลั๊ก พักการเชื่อมต่อ แล้วใช้ชีวิตให้ช้าลงซักหน่อย เพื่อให้เราเดินได้อย่างมั่นคงขึ้น

switch-off-phone

3.เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ หรือเรียนรู้อะไรใหม่

บางทีการที่เราจมอยู่กับเรื่องจำเจเดิมๆ อาจทำให้ร่างกายและใจเหนื่อยล้า ถ้าเราได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ หรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย เพราะเราเริ่มใหม่จากศูนย์ด้วยความกระหายพร้อมจะเรียนรู้ ไม่กดดันตัวเอง หรือคาดหวังต่อตัวเองมากเกินไป แล้วยังอาจทำให้เราได้เจอสิ่งที่ชอบใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งการค้นพบตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

 

4.เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายิ่งนอย และหงุดหงิดไม่พอใจในสถานะของตัวเอง ก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ และไม่มั่นใจในตัวเอง เทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยแก้ไขสถานะที่ไม่มั่นคงนี้ก็คือ เพิ่มความรู้ให้ตัวเองซะสิ อาจจะอ่านหนังสือ อ่านบทความในเรื่องที่เราสนใจ หรือไปลงเรียนคอร์สเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนั้นๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

บรรยายดีๆจาก Ted ในหัวข้อเกี่ยวกับกุญแจสู่ความสำเร็จ คือความลุ่มหลง และความเพียรพยายาม (Grit: the power of passion and perseverance) หนึ่งในวิดีโอดังที่ช่วยเพิ่มความรู้ และแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก

 

5.ทำแบบทดสอบจิตวิทยา

อาจจะแปลกใจ ว่าเห้ย การทำแบบทดสอบจิตวิทยาจะช่วยให้เราเติมไฟตัวเองได้อย่างไร แต่หลายๆ แบบทดสอบเหล่านี้ มักจะช่วยให้เราได้ “รู้จัก” และ “เข้าใจ” ตัวเองมากขึ้น รู้จุดอ่อน จุดแข็ง อะไรไหนที่ชอบ ที่เหมาะกับเรา สภาพแวดล้อมใด งานใด คนลักษณะแบบใด สถานการณ์ไหนที่เราจะเกรงกลัว หรือสถานการณ์ไหนที่จะส่งเสริมเรา เมื่อเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ก็จัดการกับความเหนื่อยล้าหมดไฟในใจได้ดีขึ้นเช่นกัน

บุคลิก 16 แบบจากแบบทดสอบ MBTI ที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น - orange

บุคลิก 16 แบบจากแบบทดสอบ MBTI ที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น – orangedrink

 

6.ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน จะช่วยทำให้เราเห็นภาพ และไล่เรียงออกมาได้เป็นส่วนๆ ว่าต้องทำอะไร อย่างไร ให้เสร็จเมื่อไหร่ ตรงนี้จะช่วยลดอาการกังวล และเบื่อหน่ายลงไปได้ เพราะเราจะเห็นชัดเจนขึ้นว่ามันมีวันเสร็จสิ้น ไม่ใช่ลากยาวให้เหนื่อยแบบไร้จุดจบ รู้สึกอีกแค่นิดเดียว แล้วเราก็จะได้ไปพักแล้วนะ!

เป้าหมายตามหลัก Smart Goal คือต้องชัดเจน วัดผลได้ บรรลุผลได้จริง อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง มีกำหนดเวลา

เป้าหมายตามหลัก Smart Goal คือต้องชัดเจน วัดผลได้ บรรลุผลได้จริง อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง มีกำหนดเวลา

 

7.หาต้นแบบที่เราชื่นชม

การที่เรามีต้นแบบ หรือ Role Model ที่เรานับถือชื่นชมเป็นแบบอย่าง ช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจ อยากจะเป็นอยากจะเจ๋งให้ได้แบบเขา และมีพลังนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จแบบที่ตั้งใจ อาจจะเป็นคนระดับโลกที่ชำนาญในเรื่องที่เราสนใจ หรือคนใกล้ตัวที่เราพบเจอทุกวัน เช่น หัวหน้าที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน พ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวก็ได้ บุคคลต้นแบบเหล่านี้ ซึ่งเป็นคนจริงๆ จะช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจน ว่าเห้ย เขาก็คนเหมือนเรา เขาทำได้ สักวันนึง เราก็ต้องเป็นได้แบบนั้นบ้างเช่นกัน

steve_jobs_quotes_11

 

8.มีเช็คลิสของตัวเอง

ช่วงที่เราหมดไฟ มักจะเป็นเหมือนช่วง “ดำดิ่ง” ของชีวิต มองไปทางไหนก็มืดแปดด้าน หรือมองอีกแง่ก็คือ เราไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน จึงเกิดความเครียดขึ้นไปอีก วิธีการแก้ก็คือ มีเช็คลิสให้ตัวเอง คอยสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่า เราอยู่จุดไหนแล้ว เป้าหมายของเราคืออะไร ห่างไกลแค่ไหน ถ้าจริงๆ เราใกล้ถึงแล้ว ก็จะถือเป็นกำลังใจกับตัวเอง หรือถ้าเราเห็นว่าจะมีอะไรที่แก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้นได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำอะไรบางอย่าง แบบมีจุดหมายไม่ไร้ทิศทาง

ลิสสิ่งที่ต้องทำ ให้รู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหน แล้วจะช่วยคลายกังวลไปได้

ลิสสิ่งที่ต้องทำ ให้รู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหน แล้วจะช่วยคลายกังวลไปได้

 

9.นึกถึงผลลัพธ์มากกว่าอุปสรรค

เลิกคิดแง่ลบ เลิกกังวลถึงอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ว่าทำอะไร ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ล้มได้ก็ลุกได้ แทนที่จะมัวคิดกังวล ก็เปลี่ยนไปนึกไปถึงรสชาติของความสำเร็จที่เราจะได้ลิ้มรสแทน สิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้น หากเราทำสิ่งนี้ได้ เหมือนเด็กๆ ที่พ่อแม่มักจะมีทริคเล็กๆ ช่วยให้ลูกๆมีกำลังใจเวลาเรียน เช่น ถ้าสอบได้จะได้ไปเที่ยวทะเล ก็เหมือนกับชีวิตการทำงานของเรา ถ้าเราทำได้ เราจะภูมิใจกับผลงานของเราแน่นอน

top-view-result

ชีวิตก็เหมือนปีนเขา ให้นึกถึงบรรยากาศและความรู้สึกฟินบนยอดเมื่อถึงจุดสูงสุด ดีกว่าจะนั่งกลัวและจมอยู่กับอุปสรรค

 

10.ออกกำลังกาย

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แนะนำว่า การออกกำลังกาย สามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ รวมถึงถึงขั้นช่วยบรรเทาโรคซึมเศร้าได้เลยด้วย เพราะเมื่อเราออกกำลัง นอกจากเป็นการบริการกายแล้ว ยังได้เป็นการบริหารใจด้วย เอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุขจะหลั่งออกมา ช่วยให้จิตใจจะสงบขึ้นไม่ว้าวุ่น และได้เอาพลังความเครียดที่อั้นอยู่มาปลดปล่อยและโฟกัสกับการออกกำลังแทน สุดท้ายยังช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น มีแรงเติมไฟสู้กับวันใหม่ต่อไป

exercise-depression

 

11.นอนหลับให้เพียงพออย่างมีคุณภาพ

สุดท้ายที่สำคัญที่สุด และหลายคนที่รีบประสบความสำเร็จอาจลืมให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ ก็คือ การนอน เพราะการอดนอนหรือนอนหลับไม่เพียงพอไม่ใช่แค่จะทำให้ร่างกายเราเสื่อมถอยเท่านั้น แต่จิตใจเราก็ได้รับผลกระทบโดยตรง สมองไม่ปลอดโปร่ง คิดได้ช้า รู้สึกอึนๆ อารมณ์หงุดหงิดง่าย ไร้เรี่ยวแรงพลังใจ สะสมไปนานเข้าก็ยิ่งทำให้หมดไฟวนไปอยู่นั่น การนอนให้เต็มอิ่มอย่างมีคุณภาพ เวลานอนคือนอน หยุดคิดเรื่องงาน ให้สมองได้พัก หยุดไถมือถือ ให้ใจได้ห่างโลกที่หมุนเร็วๆบ้าง แล้วนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม ตื่นมาสดใสชาร์ทพลังตัวเองต่อไป

ไม่ใช่แค่หลับตา แต่การต้องชาร์ทพลังด้วยการหลับอย่างมีคุณภาพ และทำเป็นประจำ

ไม่ใช่แค่หลับตา แต่การต้องชาร์ทพลังด้วยการหลับอย่างมีคุณภาพ และทำเป็นประจำ

 

การพักเพื่อเติมไฟของเราก็มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป ขอให้เลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเองลองนำไปใช้กันดู สุดท้ายแล้วอย่าเพิ่งท้อและคิดว่าไฟที่มอด คือตอนจบที่ไม่อาจจุดขึ้นมาให้ลุกโชนได้อีกแล้ว ขอให้เชื่อในตัวเอง ยึดมั่นในความฝัน แล้วพลังจะสถิตอยู่กับท่าน!!


ขอพลังจงสถิตอยู่กับท่าน – deviantart

 

อ้างอิง – Productivityreport, forbes, wikihow, lifehack

Writer Profile : pearlkeira
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save