7 ความจริงเรื่องลิขสิทธิ์และการก็อป ที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด

Writer : minn.una

: 21 มกราคม 2562

เกิดเป็นดราม่าให้เราได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ในกรณีการก็อปผลงานชาวบ้านไปใช่ในทางการค้า หรือไม่การค้าก็แล้วแต่ และนั่นก็คงทำให้หลายๆ คนเกิดความสงสัยกันอยู่บ้างแหละ ว่าแบบไหนที่เรียกว่าก็อป แบบไหนไม่เรียกก็อป แล้วถ้าเกิดว่าวันหนึ่งราเกิดถูกก็อปจะทำอย่างไรได้บ้าง

วันนี้เรามี 7 ความจริงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ หลายคนอาจเข้าใจผิดอยู่ หรือหลายคนก็คงจะหลงลืมกันไปแล้วมาฝากกัน เก็บไว้ใช้ได้ทั้งฝั่งผู้ผลิตงานและฝั่งผู้บริโภคเลยจ้า

ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที ไม่จำเป็นต้องจด

ความเข้าใจผิดอันดับต้นๆ ของชาวโลก (หรือแค่กับชาวไทยเรานี่แหละ) ในตอนนี้ก็คือ ฉันก็อปเธอได้ งานเธอไม่ได้จดลิขสิทธิ์นี่!! ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดมหัน์เลยแหละ เอาเป็นว่าทำความเข้าใจกันใหม่

ลิขสิทธิ์ หมายถึง ทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ได้กับการนำเสนองานสร้างสรรค์ใด ๆ โดยในหลายประเทศรวมถึงไทยบ้านเรา จะคุ้มครองผลงานทันที่ที่สร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ

ลิขสิทธิ์อยู่ในผลงานบางประเภทเท่านั้น

ลิขสิทธิ์จะอยู่ในผลงานประเภท

  • งานวรรณกรรม : หนังสือ บทความ บทกลอน
  • นาฏกรรม : ท่าเต้น ท่ารำ
  • ศิลปกรรม : ภาพวาด ภาพถ่าย
  • ดนตรีกรรม : เนื้อร้อง ทำนองเพลง
  • โสตทัศนวัสดุ : วีซีดีคาราโอเกะ
  • ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง : เทป ซีดีเพลง
  • งานแพร่เสียงแพร่ภาพ : รายการวิทยุโทรทัศน์
  • งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์และศิลปะ

แต่ไม่ใช่ว่าทุกผลงานจะมีลิขสิทธิ์คุ้มครองไม่ให้ถูกก็อปปี้ ในบางผลงานก็ไม่สามารถอ้างเรื่องลิขสิทธิ์ได้ คือ

  • ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
  • รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
  • ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
  • คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของราชการ
  • คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
  • ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

กลัวโดนก็อป ก็ขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้ได้

ตรงนี้หลายคนอาจยังไม่รู้ สำหรับผลงานบางประเภทที่ค่อนข้างมีความสำคัญ และถูกใช้ในการค้า เราสามารถยื่นเรื่องแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแจ้งว่าเราเป็นเจ้าของผลงานนั้นๆ ไว้ได้ เผื่อว่าถูกก็อปจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลเมื่อไหร่ จะได้มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักไปสู้คดีกันอีกที

ลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตรไม่เหมือนกัน

ด้วยความที่ชื่อก็ค่อนข้างคล้ายกันอยู่ ก็ทำให้เกิดความสับสนกันได้เล็กน้อย ความจริงแล้วลิขสิทธิ์กับสิทธิบัตร เป็นคนละอย่างกัน! โดยลิขสิทธิ์มีไว้คุ้มครองงานสร้างสรรค์อย่างที่ได้บอกไปแล้วข้างบน ส่วนสิทธิบัตรจะคุ้มครองงานประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืองานวิจัย ซึ่งจะต้องมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสามารถผลิตได้ในระบบอุตสาหกรรมด้วย

เอาง่ายๆ ก็คือลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นตั้งแต่สร้างผลงาน ส่วนสิทธิบัตรนั้นจะต้องผ่านการจดทะเบียน และการได้รับความคุ้มครองเมื่อถูกละเมิดก็จะต่างกันออกไปอีก

ละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษทั้งทางอาญาและแพ่ง

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ในกรณีที่มีการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่งานต่อสาธารณชน ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต หรือถ้าเป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซีดี ดีวีดี จะเพิ่มการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานเข้าไปด้วย จะต้องโทษ ดังนี้

  • กรณีทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • กรณีทำเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ในบางกรณีผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของผลงาน ยังสามารถเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีกด้วย

อย่านิ่งเฉยถ้าถูกก็อปงาน

ไม่ใช่แค่กับผู้นำผลงานไปใช้ แต่กับผู้ผลิตเองก็ไม่ควรละเลยกับการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน จริงอยู่ว่ากับผลงานบางชิ้นเราอาจวาดขึ้นมาเล่นๆ ไม่ได้ใช้อะไร ถูกก็อปครั้งหนึ่งก็รู้สึกเสียเวลากับการไปทวงสิทธิของตัวเอง เพราะประโยคที่ว่า “ไม่เป็นไร ปล่อยไป” นี่แหละที่ทำให้เหล่านักก็อปได้ใจ และคิดว่าที่ทำอยู่ไม่ผิด ดังนั้นสำหรับเหล่านักวาด หรือนักสร้างสรรค์ผลงานทั้งหลาย การละเลยเมื่อถูกก็อปผลงานไม่ใช่ทางออกที่ดี ทางที่ดีคือควรตักเตือนเพื่อไม่ให้ทำอีกหรือถ้ายังไม่ได้ผลก็แจ้งความพร้อมหลักฐานไว้ดีกว่า

ขออนุญาตและอ่านเงื่อนไขดีๆ ก่อนดาวน์โหลดมาใช้งาน 

สุดท้าย เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าคุกเข้าตะราง หากเราต้องการใช้ผลงานของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด เพลง หรือผลงานใดๆ ที่เข้าข่ายว่ามีลิขสิทธิ์คุ้มครอง ให้ขออนุญาตเจ้าของผลงาน รวมทั้งอ่านเงื่อนไขการใช้ด้วย

ในเบื้องต้น การนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ ทางที่ดีที่สุดคือต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานก่อน เพราะการที่เจ้าของผลงานไม่ได้ระบุว่าห้ามก็อป ก็ก็อปไม่ได้อยู่ดี!! นอกจากนี้บางผลงานเจ้าของก็อนุญาตให้นำไปใช้ได้โดยให้เครดิต บางผลงานเจ้าของก็ไม่ได้อนุญาตให้นำไปใช้ในทางการค้า หรือบางผลงานเจ้าของก็ไม่ได้อนุญาตในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม กับผลงานที่เปิดให้ดาวน์โหลดใช้กันแบบฟรีๆ อยู่แล้ว เช่น ฟอนท์ ภาพฟรีต่างๆ ก็จะมีเงื่อนไขอยู่อีกเหมือนกัน เช่น บางอย่างสามารถใช้ได้ในงานทั่วไป แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในทางการค้า ดังนั้นอย่าลืมอ่านกันให้ดีๆ ก่อนนำมาใช้ นอกจากปลอดภัยต่อตัวเองแล้ว ยังเป็นการให้เกียรติเจ้าของผลงานด้วยนะ!

ที่มา : IDG, กรมทรัพย์สินทางปัญญา

Writer Profile : minn.una
อดีตนักเรียนวารสารศาสตร์ รักการอ่าน (มากกว่าการเขียนนิดหน่อย) สนใจการเมืองและ K-POP ในเวลาเดียวกัน และเชื่อว่าตัวเองตลกขบขันอยู่ประมาณนึง
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post
7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310

7 ตำนานที่อยู่ในยุคเดียวกับ Nokia 3310


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save