ทำความรู้จักกับ Human-Centred Design การดีไซน์ที่นึกถึงหัวใจของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง


: 7 ตุลาคม 2563

ในปัจจุบันเทรนด์การออกแบบสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบที่ดีนั้น สำหรับผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้งานแล้ว ไม่เพียงแค่มองหาความสวยงามของดีไซน์เพียงอย่างเดียว

แต่ต้องมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ใช้งานด้วย มากกว่าความอลังการในด้านการออกแบบ ความสุขของผู้อาศัยหรือใช้งานนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

ซึ่งนี่ก็คือ หัวใจหลักสำคัญของแนวคิด Human-Centred Design ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในงานสถาปัตยกรรมมากมายในปัจจุบัน

วันนี้ Mangozero จะขอพาทุกคนมารู้จักกับแนวคิด Human-Centred Design หรือแนวคิดสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยนึกถึงหัวใจของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

Human-Centred Design คืออะไร ?

Human-Centered Design (HCD) นั้นเป็นแนวคิดในการออกแบบและสร้างสรรค์งานยุคใหม่ที่ยึดหัวใจของผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง

โดยเน้นแก้ปัญหาจากมุมมองและความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ สร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานที่ยอดเยี่ยมทั้งในด้านดีไซน์และฟังก์ชันใช้สอยที่ตอบรับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด

ยกอย่างเช่น หากคุณเป็นสถาปนิก ที่ต้องออกแบบสิ่งปลูกสร้าง นอกจากจะคำนึงถึงดีไซน์แล้ว แนวคิด Human-Centred Design นั้น จะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมและปัญหาของผู้อาศัยหรือใช้งานงานออกแบบชิ้นนั้นให้มากที่สุดด้วย

โดยสถาปนิกจะต้องรู้ว่างานออกแบบนั้น ใครเป็นผู้ใช้งานบ้าง แต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาอะไรมาบ้าง เพื่อนำมาออกแบบให้ทุกคนใช้งานงานออกแบบนั้นได้อย่างมีความสุข

ซึ่งแนวคิด Human-Centred Design นั้นสามารถนำไปบูรณาการใช้ได้กับทุกศาสตร์ ทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในงานสถาปัตยกรรม งานมัณฑนศิลป์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ทอัพหลายแห่งก็นำแนวคิดนี้มาใช้ในการสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้นด้วย

Human-Centred Design มีกระบวนการคิดอย่างไร ?

กระบวนการของ Human-Centered  Design นั้น เป็นการทำงานร่วมกับผู้ใช้อย่างใกล้ชิด โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาแก้ปัญหาให้ผู้ใช้เป็นอันดับแรก

ซึ่งทาง IDEO (ไอดีอีโอ) บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบชั้นนำของโลก ได้แบ่งกระบวนการคิดของ  Human-Centered Design ไว้เป็น 3 ระยะด้วยกัน

ได้แก่  ขั้นตอนการหาแรงบันดาลใจ (Inspiration Phase), ขั้นตอนการระดมความคิด (Ideation Phase) และ ขั้นตอนการผลิตผลงาน หรือ Solution นั้นขึ้นมาใช้จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขให้กับผู้ใช้งาน (Implementation Phase)

Inspiration Phase : ขั้นตอนการหาแรงบันดาลใจ

สมมุติว่าเราจะออกแบบอาคาร แนวคิดนี้ก็จะเริ่มตั้งแต่ศึกษาทำความเข้าใจตัวผู้ใช้งานจริง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น จากการเฝ้าสังเกตปัญหา หรือสัมภาษณ์ผู้ใช้งานในเชิงลึกไปถึงปัญหาการใช้งานจริง เพื่อหาปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจหรือทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้นในชีวิตประจำวัน

เช่น ผู้ใช้งานอาคารนี้ อยู่ในช่วงวัยไหนบ้าง มีพฤติกรรมเป็นอย่างไร มีความชอบและไม่ชอบอะไรร่วมกัน อะไรคืออุปสรรคในการใช้ชีวิตที่อาจทำให้ไม่มีความสุขเมื่อต้องใช้งานอาคารหลังนี้

โดยหัวใจสำคัญของขั้นนี้นั้น ผู้ออกแบบควรจะต้องมี Empathy หรือความคิดแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำความเข้าใจผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง

ลองคิดว่า “ถ้าเราเป็นเขา” เรารู้สึกอย่างไรและอยากแก้ปัญหานี้อย่างไร จะช่วยให้ผู้ออกแบบเข้าใจปัญหาและความต้องการของเขาได้มากขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ (Define) ความต้องการและปัญหาที่แท้จริง ค้นหาความเป็นไปได้ และออกแบบ Solutions ในการแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด

Ideation Phase : ขั้นตอนระดมความคิด

เมื่อเรารวบรวมความต้องการและปัญหาที่แท้จริง (Pain Point) ของผู้ใช้งานได้แล้ว ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาตกตะกอนสร้างสรรค์ไอเดียต่าง ๆ อาจมีการสร้างไอเดียให้ออกมาเป็นต้นแบบคร่าว ๆ (Rapid Prototype) ในรูปแบบของแบบร่างหรือโครงร่างอาคารจำลองขึ้นมา เพื่อให้ไอเดียของเราจับต้องได้มากขึ้น และนำไอเดียนั้นกลับไปคุยกับผู้ใช้ และเก็บ Feedback กลับมาปรับปรุงผลงาน เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นเรื่อย ๆ

Implementation Phase : ขั้นตอนการผลิตผลงาน

 

ในขั้นนี้จะเป็นการผลิตผลงาน (Solutions) ขึ้นมาใช้จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เราต้องการจะแก้ไขให้กับผู้ใช้งาน หลังจากที่เราปรับปรุงไอเดียในขั้นที่แล้วมาเรื่อย ๆ ขั้นนี้ไอเดียของเราจะเริ่มออกมาเป็นผลงานที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้จริงมากขึ้น ผู้ออกแบบอาจจะทำต้นแบบ (Live Prototype) ออกมาให้ผู้ใช้ทดลองใช้และประเมินผลอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง เพื่อพัฒนารูปแบบการออกแบบให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้นไปอีก

จากที่กล่าวมาโดยสรุปแล้วกระบวนการคิดของ Human-Centered Design  จึงมีกระบวนการที่คล้ายกับวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งมีคีย์เวิร์ดสำคัญ นั่นคือ การสร้าง, การวัดผลและการเรียนรู้ซ้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ผลงานการออกแบบที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุดนั่นเอง

ผู้ใช้งานจะได้อะไรจากการออกแบบแนวคิด Human-Centred Design ?

แน่นอนว่าแนวคิด Human-Centred Design ซึ่งเป็นแนวคิดเพื่อมนุษย์โดยแท้จริง ผู้ใช้งานย่อมได้รับประโยชน์จากผลงานนี้เต็มที่เพราะนอกจากจะได้ใช้งานออกแบบที่สวยงามแล้ว ก็ยังสามารถแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตของเขาได้อย่างตรงจุด

ยิ่งถ้าเรามีพื้นที่อยู่อาศัยที่ได้รับการออกแบบผ่านแนวคิดที่ดีเพื่อมนุษย์นั้น ไม่เพียงจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะยิ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ได้ยั่งยืน อาจนำไปสู่นวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ชีวิตของผู้คนได้ในระดับชุมชนและสังคมได้อีกด้วย

ทำไมนักออกแบบถึงต้องคำนึงถึงการออกแบบแนวคิดนี้ ?

เพื่อให้ความสามารถสร้างสรรค์งานที่สมบูรณ์แบบได้ในยุคปัจจุบัน การทำความเข้าใจกระบวนการคิดแบบ Human-Centred Design จะช่วยให้ผู้เรียนสถาปัตย์หรือมัณฑนศิลป์ ไปจนถึงนักออกแบบทุกคน สามารถพัฒนาผลงานไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แค่ออกแบบตกแต่งเพื่อความสวยงาม แต่สามารถทำงานออกแบบได้อย่างมีกระบวนการ โดยยึดหลักความต้องการของมนุษย์เป็นสำคัญ นำไปสู่ความพึงพอใจ ทั้งทางด้านกายภาพและคุณค่าทางจิตใจอีกด้วย

โครงการ Asia Young Designer Awards 2020 “FORWARD: Human-Centred Design”

สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แนวคิด Human-Centred Design นี้เพิ่มเติม Mangozero ก็มีงานประกวดที่น่าสนใจมาแนะนำกับโครงการ Asia Young Designer Awards 2020 “FORWARD: Human-Centred Design”

ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ฝึกฝนทักษะงานออกแบบ สำหรับนิสิตและนักศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและ การออกแบบตกแต่งภายใน จัดขึ้นโดยผู้ใหญ่ใจดีจาก บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

โดยคอนเซ็ปสำคัญในปีนี้ นั่นก็คือ “FORWARD: Human-Centred Design” เน้นความสำคัญของงานออกแบบเพื่อวิถีชีวิตมนุษย์ในยุค New Normal รวมถึงต้องสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

นอกจากความประสบการณ์ดี ๆ ที่หาในห้องเรียนไม่ได้แล้ว ก็ยังมีรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ มูลค่าสูงสุด 100,000 บาท พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้ชนะจากอีก 15 ประเทศ ที่งาน Asia Young Designer Summit 2021 ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศพันธมิตรในปีหน้า

ที่สำคัญ ผู้ที่ชนะในระดับเอเชีย ยังจะได้เข้าร่วมหลักสูตรพิเศษ “Design Discovery Program” ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง Harvard’s Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆเลยด้วย

นักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจสามารถสมัครพร้อมผลงานได้ที่ www.asiayoungdesignerawards-th.com  ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2563 และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม Facebook: Asia Young Designer Awards Thailand หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-462-5299 ต่อ 164

ที่มา : designkit, tcdc, ui_gradient

 

รวมภาพ S2O2018 สนุก ชีวิตดี กับ BLEND 285


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save