category เจาะลึกโครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” ค่ายบ่มเพาะเยาวชนลงมือทำธุรกิจจริง เรียนรู้จากเหล่ากูรูที่มากประสบการณ์

Writer : bobbidi boo

: 8 พฤษภาคม 2566

หลายต่อหลายคนฝันอยากโลดแล่นในวงการธุรกิจ อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะวาดฝันไว้งดงามเพียงไหน โลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่ได้สวยหรู และราบรื่นเสมอไป

มีอุปสรรคมากมายที่ต้องฝ่าฟัน มีเรื่องมากมายที่ต้องรู้ แต่ครั้นจะรอให้เติบโต คงไม่มีเวลาให้เราได้ล้มลุกคลุกคลานขนาดนั้น

ด้วยเหตุนี้เองโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” รุ่นที่ 1 “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริงจึงเกิดขึ้นมาเติมเต็มความฝัน เป็นสนามจำลอง ให้น้องๆ มัธยมศึกษาตอนปลายได้ออกไอเดีย ลงมือทำ พร้อมเรียนรู้จากกูรูในด้านธุรกิจตัวจริงเสียงจริง

จากความตั้งใจของธนาคารกสิกรไทย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา สร้างโครงการดีๆ ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและเยาวชนเติบโตพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

โครงการดีๆ แบบนี้ Mango Zero ไม่รอช้าขอพาไปเจาะลึกรายละเอียดโครงการไปดูกันสิว่า ในค่ายครั้งที่ผ่านมากูรูผู้เชี่ยวชาญได้มอบบทเรียนอะไรให้น้องๆ กันบ้าง และทางด้านน้องๆ ล่ะรู้สึกอย่างไร

เชื่อเลยว่าจะเป็นประโยชน์ และแรงผลักดันให้กับทุกดวงใจที่มีความฝันและอยากไปให้ถึงอย่างแน่นอน!

“66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง”

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ณ จังหวัดน่าน

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ด้วยความเชื่อที่ว่าหากประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่ดีแล้ว จะส่งผลต่อความคิดของเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ

ทางมูลนิธิฯ จึงได้ริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” มีเป้าหมายหลักเพื่อบ่มเพาะเยาวชนในชั้นมัธยมปลายให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจ และลงมือทำจริงในทุกขั้นตอน ให้เกิดเป็นทักษะใหม่ๆ นำกลับไปดูแลท้องถิ่น พัฒนาชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียง

3 เรื่องหลักๆ ที่น้องๆ จะได้เรียนรู้ในแคมป์นี้ คือ ความรู้ในการทำธุรกิจ ทักษะในการทำธุรกิจ และโอกาสในการลองผิดลองถูก กลายเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการความคิด ติดตัวไปตลอดชีวิต และยังเป็นข้อมูลสำคัญที่จะมีส่วนช่วยให้น้องๆ สามารถตัดสินใจได้ว่าอยากจะเป็นนักธุรกิจ หรือประกอบอาชีพอะไรต่อไปในอนาคต

เส้นทางการเรียนรู้ สนุกสนานผ่าน 3 แคมป์ต่อเนื่อง

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ แบ่งการทำกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วงที่น้องๆ จะได้คิด ได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ จริงจัง ตลอดระยะเวลา 66 วัน ครบถ้วนความรู้ มากด้วยประสบการณ์ จัดเต็มทุกวินาทีในทุกค่าย

  • แคมป์กล้าเรียน ปูพื้นฐานความรู้ในการทำธุรกิจ รับฟังประสบการณ์ เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากกูรูผู้เชี่ยวชาญ
  • แคมป์กล้าลุย นำการเรียนรู้จากแคมป์ที่ 1 ไปต่อยอดเป็นการผลิตและทดลองขายจริง เพื่อเก็บรวบรวมความเห็นจากลูกค้าไปต่อยอดต่อไป
  • แคมป์กล้าก้าว รวมตัวรายงานผลประกอบการ นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ และรับฟังคำแนะนำ

กระบวนการวิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจ : วงจร OAEC

วิทยาศาสตร์กับธุรกิจ ฟังดูแล้วเหมือนจะแตกต่าง แต่กลับเกี่ยวข้องกันมากกว่าที่เราคิด! โดยเรื่องนี้น้องๆ ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของ “ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น” อาจารย์ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่ได้มีบทบาทเดียว แม้แต่ตัว ดร.พิมพ์ใจ นอกจากบทบาทของครูผู้ให้ความรู้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ยังเป็น “นวัตกร” ที่ต้องค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ มาสรรสร้างให้เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง

ดร.พิมพ์ใจ จึงเล็งเห็นว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์นั้น สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งในแง่ของการทำธุรกิจด้วย กระบวนการนั้นคือวงจรที่เรียกว่า OAEC

  • O – Observation การสังเกต ลงพื้นที่หาข้อมูล ระบุปัญหาต่างๆ
  • A – Ask รู้จักตั้งคำถาม ถามให้เป็น เพื่อนำมาต่อยอดต่อไป
  • E – Experiment การทดลอง ลงมือทำจริง ไม่ลองก็ไม่รู้
  • C – Conclusion การเก็บข้อมูลและสรุปผล อาจจะมีล้มเหลว ได้บ้างเสียบ้าง ก็นับเป็นประสบการณ์และข้อมูล

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” ที่จะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น และยิ่งทำให้ธุรกิจของรามีข้อได้เปรียบมากยิ่งขึ้น ลองคิดทบทวนดูว่าเราอยากจะทำอะไร สนุกกับมันไหม พร้อมรับความล้มเหลว ทำอะไรซ้ำๆ ลองใหม่ เพื่อแก้ไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ถ้าเราไม่ย่อท้อกับการนำผลลัพธ์ที่ได้เข้ากระบวนการ ก็จะเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

Fuck up Lesson : บทเรียนความห่วย

ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือทำ “คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้ง-ซีอีโอ Ookbee และผู้ร่วมก่อตั้ง Tuk Tuk 500 เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆ ด้วยเงินลงทุนไม่กี่ล้าน จนวันนี้บางธุรกิจก็ล้มหายตายจาก แต่บางธุรกิจก็เติบโตก้าวหน้า ขยายใหญ่ยิ่งขึ้น ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ และความล้มเหลวเป็นบทเรียนชั้นยอด

คุณณัฐวุฒิจึงได้แบ่งปัน “Fuck up Lesson” หรือบทเรียนความห่วย 7 ข้อ ซึ่งเป็นวิธีคิดของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ บทเรียนที่ความล้มเหลวต่างๆ ได้สอนมา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันขั้นต้นให้กับน้องๆ ที่อยากทำธุรกิจ

  • คนชนะต้องไม่โกง คนโกงท้ายที่สุดจะไม่ชนะ ยึดเข็มทิศศีลธรรมไว้ให้มั่น
  • การลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง คือ การลงทุนในตัวเอง
  • เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด
  • โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก โฟกัสแค่ช่วงระยะสั้นๆ
  • ไม่ต้องคิดเรื่องส่วนแบ่งตลาด คิดแค่ทำให้ดีกว่าเดิมในทุกวัน
  • “เรารู้ดีกว่าคนอื่น” สิ่งนี้ไม่มีอยู่จริง
  • เราจะเสียใจที่สุดกับการไม่ได้ลงมือทำ

ทำธุรกิจเจ๊งไม่มีใครว่า เท่ออกจะตายที่ได้ทำแล้ว ทุกอย่างมีขั้นมีตอน มีเวลาของมัน ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ถ้าเราได้ตั้งใจแล้วก็ถือว่าเป็นบทเรียน คนที่ไม่เคยเจ๊ง ไม่เคยล้มเหลวต่างหาก ที่เป็นคนที่ไม่เคยทำอะไร และคนที่ไม่เคยลิ้มรสชาติความพ่ายแพ้ก็คงไม่อาจเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จได้

เปลี่ยนไอเดียให้เป็นธุรกิจจริงด้วย 3 คำถาม

มีไอเดีย มีความฝัน มีสิ่งที่อยากทำ แต่จะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ? “คุณวรกันต์ ธนโชติวรพงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด และผู้พัฒนาโปรตีนจากพืชแบรนด์ MORE MEAT จะมาตอบน้องๆ ทุกคนเอง

คุณวรกันต์มองว่าเสน่ห์ของธุรกิจ คือความหลากหลายที่เราจะเดิน มีโอกาสที่เราจะโตได้หมด แค่ว่าจะเติบโตต่อไปแบบไหน ส่วนที่ยากที่สุดจึงจะเป็นการเริ่มต้น คุณวรกันต์จึงให้เคล็ดลับการเปลี่ยนไอเดียมากมายมาเป็นธุรกิจจริงๆ ด้วย 3 คำถาม ได้แก่

  • “ทำไมเรายังไม่ทำ” : ทุกคนมีความกังวลได้ แต่เราต้องก้าวข้ามผ่านมันไป เปลี่ยนแนวคิดตัวเอง เปิดรับความท้าทายกับอุปสรรค
  • “เราทำอะไรได้บ้าง” : ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง และเรามีอะไรที่เราทำไม่ได้ เราควรโฟกัส รับผิดชอบเป็นจุดหลักในส่วนที่เราทำได้ และหาพาร์ทเนอร์ หาทีมที่ดีมาเสริมในส่วนอื่นๆ แทน แบกรับภาระคนเดียวอาจตายได้ ยิ่งมีเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ยิ่งเยอะ ยิ่งใหญ่ สายป่านโอกาสต่อเนื่องทางธุรกิจก็จะไปได้ไกล
  • “เราทำแล้วใครได้ประโยชน์” : ทั้งในส่วนของธุรกิจและผู้บริโภค ถ้าทำแล้วมีคนได้ประโยชน์แค่คนเดียว คือ ตัวเรา มันจะจบลงที่ระยะสั้นๆ เท่านั้น

การทำธุรกิจเป็นปกติที่ผู้ประกอบการจะกลัวเจ๊งกันอยู่แล้ว การทำสิ่งที่แปลกแตกต่างมันก็คาบเกี่ยวอยู่แล้วว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง ยิ่งแปลกโอกาสเจ๊งยิ่งสูง แต่โอกาสจะไปต่อก็สูงเหมือนกัน ฉะนั้น มองว่าทำอย่างไรให้เจ๊งแบบมีคุณภาพ และเก็บข้อมูลมาต่อยอด หมั่นศึกษาบ่มเพาะความคิดในโครงการต่างๆ ก็จะทำให้เราตกตะกอนความรู้ และได้คำตอบที่เราหาอยู่

เพื่อธุรกิจ เพื่อตัวเรา เพื่อชุมชน

ไม่ใช่แค่การเติบโตของเรา และธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว ชุมชนและผู้คนรอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กัน “คุณมนูญ ทนะวัง และคุณจารุวรรณ จิณเสน” ได้มาแบ่งปันแนวคิดของ Cocoa Valley พื้นที่สำหรับคนรักโกโก้และช็อกโกแลตแห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน ปลูกด้วยความรัก และปรุงรสชาติหอมละมุนด้วยความใส่ใจ

การตลาดตามแบบฉบับ Cocoa Valley คือการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ และทำผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด ส่วนในด้านหัวใจสำคัญของแบรนด์นั้น คือการสร้างเรื่องราว เพื่อให้ลูกค้าบอกต่อสินค้าออกไป

Cocoa Valley ยังคิดย้อนกลับไปถึงภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยว่ามีอะไรบ้าง และสามารถช่วยชุมชน สร้างอาชีพได้บ้างหรือไม่ เพราะการทำธุรกิจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเราคนเดียว ยังต้องมีพนักงาน คนงาน คนจัดหาวัตถุดิบ คนทำ คนขาย พวกเขาจึงพยายามสร้าง Cocoa Valley ให้มีความเป็นครอบครัว ใส่ใจดูแลเหมือนพี่ เหมือนน้อง พยายามรับฟังไอเดีย และมุมมองพนักงาน ซึ่งบางทีก็จะสะท้อนมุมมองของลูกค้ากลับมาด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น และกลับกลายเป็นความสุขถ้วนหน้า

เปิดใจตัวแทนเยาวชนผู้มีความฝัน… 4 ต้นกล้าที่กำลังเติบโต

จากความคิด ความสนใจในด้านธุรกิจทำให้เหล่าเด็กมัธยมปลายที่มีความฝันมารวมตัวกัน หลังจากผ่านกิจกรรมสุดเข้มข้นไปถึงสองขั้นแล้ว มาฟังความรู้สึกของน้องๆ กันบ้างดีกว่า

คนแรก คือ ป้าง – ปกรณ์ ทองประเสริฐ จากโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง ป้างอยากจะใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ และมีความสนใจธุรกิจอยู่แล้ว ยิ่งได้มาที่แคมป์ก็รู้สึกว่าสนุก เพราะได้ออกไอเดียจริง แสดงออกจริง และได้รู้ถึงกระบวนการธุรกิจที่ต้องคิดเรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร ที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีม ป้างตั้งใจว่าเขาจะนำความรู้ไปใช้ทำธุรกิจไปพร้อมกับเป็น YouTuber สายเกม และยังเสริมเรื่องธุรกิจ สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมด้วย

ด้านออม หรือนารี แซ่โซ้ง จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา เป็นหนึ่งในคนที่อยากทำธุรกิจแต่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน พอเข้ามาก็เริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐาน รู้ว่าธุรกิจคืออะไร ผู้ประกอบการที่ดีเป็นอย่างไร สิ่งที่คิดจินตนากาารเป็นไปได้หรือไม่ ต้องมีทั้งการเป็นผู้ประกอบการที่ดีและมีทีมที่ดีเช่นกัน รู้จักแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน

จีโน่ หรือจิรศักดิ์ แดงต๊ะ จากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น บอกว่าการที่ได้ฟังมุมมองของนักธุรกิจตัวจริงเสียงจริง เป็นแรงบันดาลใจชั้นดี หลายท่านก็ไม่ได้เรียนเก่งมาก่อน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ขอแค่ขยัน ตั้งใจ ไม่ย่อท้อ ล้มก็ลุกขึ้นมาใหม่ ฉะนั้นแล้ว แม้ในแคมป์จะมีช่วงที่รู้สึกยากลำบากบ้าง แต่ก็รู้สึกสนุกและตื่นเต้น ตั้งใจว่าจะล้มเร็ว ลุกให้เร็ว และนำประสบการณ์ไปใช้ในอนาคต

เช่นเดียวกับนับหนึ่ง เพชรชรินทร์ คำพุฒ จากโรงเรียนสา อ.เวียงสา นับหนึ่งสนใจด้านธุรกิจอยู่แล้ว ชอบฟังเรื่องของธุรกิจ แต่ไม่เคยมีความคิดจะทำธุรกิจเลย เพราะมองว่าคนทำธุรกิจต้องมีทุน ร่ำรวยเท่านั้น หลังจากได้มาร่วมในค่ายนี้ รับฟังนักธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์มากมายก็ได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองฝันไม่ได้ไกลเกินเอื้อม ขอแค่ต้องพยายามมากสักหน่อย มองทุกอย่างอย่างมีลำดับขั้นตอน มีเหตุมีผล มองในแง่ความเป็นจริง และต้องยอมรับว่าธุรกิจไม่ได้มีหลักการตายตัวขนาดนั้น ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา

น้อยครั้งนักที่จะมีโครงการที่เปิดโอกาสในเยาวชนขนาดนี้ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการคิด การวางแผนธุรกิจ การคำนวณต้นทุน กำไร ราคา เพื่อให้เยาวชนได้คิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคต ลองก่อนที่จะรู้ ทำก่อนที่จะโต และในไม่ช้าต้นกล้าน้อยๆ ที่ถูกเพาะพันธุ์ลงแปลงวันนี้ก็จะแข็งแรงมั่นคง และสวยงาม พร้อมแผ่กิ่งก้านต่อยอดสร้างประโยชน์ไปอีกมากมาย

TAG : KBank
Writer Profile : bobbidi boo
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save