category ถอดบทเรียน 66 วัน โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” ฝึกเยาวชนเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง


: 11 กรกฏาคม 2566

ในช่วงเวลาปิดเทอมที่เด็กนักเรียนจะได้ว่างเว้นจากการเรียน หลาย ๆ คน อาจใช้เวลาไปกับการพักผ่อน เล่นเกม ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมกับครอบครัวหรือกับเพื่อนได้เต็มที่ 

แต่สำหรับน้อง ๆ กลุ่มนึงในจังหวัดน่านนั้น พวกเขาเลือกที่จะยอมสละเวลาเที่ยวเล่นในช่วงปิดเทอมปีนี้ไป เพื่อมาฝึกฝนเรียนรู้การใช้ชีวิต การทำธุรกิจในค่าย “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์”แทน

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ ให้โอกาส ทักษะต่าง ๆ ในด้านธุรกิจแก่เยาวชน เพื่อนำกลับไปดูแลตัวเอง ท้องถิ่น พัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัดน่าน ภายใต้แนวคิด “66 วัน เรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

ในโครงการนี้ มีน้อง ๆ จังหวัดน่านเข้าร่วมกว่า 40 คน จาก 8 โรงเรียน โดยภายในแคมป์มีการแบ่งการทำกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง ตลอดระยะเวลา 66 วัน ได้แก่ 

  • แคมป์กล้าเรียน ปูพื้นฐานความรู้ในการทำธุรกิจ รับฟังประสบการณ์ เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากกูรูผู้เชี่ยวชาญ 
  • แคมป์กล้าลุย นำการเรียนรู้จากแคมป์ที่ 1 ไปต่อยอดเป็นการผลิตและทดลองขายจริง เพื่อเก็บรวบรวมความเห็นจากลูกค้าไปพัฒนาต่อไป 
  • แคมป์กล้าก้าว รวมตัวรายงานผลประกอบการ นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ และรับฟังคำแนะนำ

ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน กับ 3 แคมป์ที่ผ่านมา น้อง ๆ ทั้ง 8 โรงเรียนได้เผชิญหน้ากับบททดสอบและอุปสรรคมากมาย แม้จะเหน็ดเหนื่อย ยากเย็นแค่ไหน ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ฝ่าฝัน หาหนทางเอาชนะไปได้ด้วยความสามารถของพวกเขาเอง ซึ่งนอกเหนือจากตัวธุรกิจที่น้อง ๆ สามารถนำไปต่อยอดได้แล้ว สิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น คือความรู้ แนวคิด บทเรียนต่าง ๆ ที่มันจะติดตัวน้องแต่ละคนไปตลอดชีวิต 

ซึ่งข้อคิดที่น้องได้เรียนรู้จาก “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” จะเป็นอะไรบ้าง ตามมาดูกัน

กล้าล้มกล้าลุก

“ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือทำ” ประโยคนี้อาจจะตรงกับ สิ่งที่สาวน้อย 5 คนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เจอมามากที่สุด เพราะพวกเธอประสบปัญหากับไอเดียธุรกิจผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า ที่คิดกันขึ้นมาในช่วงแรกแล้วมีความเป็นไปได้น้อยที่จะนำมาทำเป็นธุรกิจในระยะเวลาจำกัด เรื่องนี้ได้สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับทั้ง 5 คน จนได้มีการประชุมระดมไอเดียใหม่ จนเกิดเป็นธุรกิจ คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites ที่ใช้ส่วนผสมของวัตถุดิบแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน ควบคู่ไปกับผ้าปักซึ่งเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นของชนเผ่ามาเป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการขาย จนในที่สุดธุรกิจคุกกี้นี้ก็เป็นรูปเป็นร่าง ออกมาเป็นสินค้าให้ชาวบ้านได้ลิ้มลอง   

แน่นอนว่าพวกเธอได้เจอกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการทำงาน แต่ไม่ว่าอะไรจะพบอุปสรรคอะไร สาวน้อย 5 คน มักคิดเสมอว่า “เมื่อล้มแล้วก็ต้องลุกให้เป็น”

ยอมรับ เปิดใจ ใช้ความสามัคคี

น้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ บางส่วนนั้นมาจากต่างที่ต่างทางกัน ระยะทางที่ห่างไกล การสื่อสารที่ยากลำบากทำให้เกิดปัญหากับการสร้างธุรกิจให้สำเร็จ ดังเช่น น้อง ๆ ทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม ที่การรวมตัวให้ครบทีมนั้นเกิดขึ้นได้น้อยครั้ง ทำให้พวกเขามีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน จึงต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากันอยู่พอสมควร 

แต่เมื่อ เปิดใจ พูดคุย ยอมรับฟัง ยอมรับความเป็นตัวตนของแต่ละคน และเรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม นั่นทำให้ทุกคนในทีมกลับมารวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้นในช่วงหลังและสร้างแบรนด์ แบรนด์ มองเดอพี ซึ่งเป็นธุรกิจกาแฟ ได้สำเร็จ

เช่นเดียวกับทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร กับไอเดียธุรกิจ สแน็คบ็อกซ์ แบรนด์ NALANA ที่มีการวางแผน แบ่งหน้าที่ ทำงานกันเป็นทีมตามความถนัดของแต่ละคนอย่างลงตัว เมื่อถามว่าสิ่งที่พวกเธอทำได้ดีที่สุดคืออะไร คำตอบที่ได้จากสาวน้อยทั้ง 5 คือ “การทำงานเป็นทีม เพราะเมื่อทีมแข็งแกร่งแล้ว การทำงานตามแผนจึงเป็นไปอย่างราบรื่น”

ใจสู้ชนะทุกสิ่ง

การจะทำอะไรให้สำเร็จนั้น เรื่องของจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาเราไปถึงเป้าหมาย  

แม้ว่าน้อง ๆ ทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี จะอยู่ไกลจากตัวเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำสินค้าไปขาย และการจ้างรถไปก็มีต้นทุนสูง แต่น้อง ๆ ทั้ง 5 คนไม่คิดยอมแพ้ จึงแก้ปัญหาด้วยการเจาะตลาดในพื้นที่ใกล้เคียงก่อน เช่น ตลาดใกล้บ้าน จากนั้นค่อย ๆ ขยับขยายออกไป และเมื่อถึงเวลาต้องออกไปขายในเมืองจริง ๆ น้อง ๆ ได้ประสานงานขอติดรถของโรงพยาบาลค่ายฯ ออกไปขายสินค้า โดยช่วยออกค่าน้ำมันให้ส่วนหนึ่ง สินค้าของน้อง ๆ จึงถึงมือลูกค้าได้สำเร็จ

ด้านทีมโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา ก็เช่นเดียวกัน ที่เจอกับปัญหาและอุปสรรคอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ไอเดียธุรกิจแรกที่ตั้งใจจะทำนั้นไม่สามารถไปต่อได้ ไม่มีรถที่จะใช้เดินทางเอาของไปขาย ด้วยความไม่ย่อท้อ พวกเขาจึงตัดสินใจใช้มอเตอร์ไซด์ซาเล๊งที่หยิบยืมมา ขี่เอา น้ำพริก ที่เป็นสินค้าขอองกลุ่มไปขายที่ตลาดกันเอง

วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ทีมที่สะท้อนประโยคนี้ได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ทีมโรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ไปได้ กับธุรกิจน้ำสลัดอะโวคาโค แบรนด์ KADO พัฒนาน้ำสลัดทำจากเนื้ออะโวคาโด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดน่าน เป็นอีกทีมที่มีการวางแผนที่ดีและทำตามแผนนั้นอย่างเป็นระบบ จากความตั้งใจแรกจะผลิตเป็นซอสอะโวคาโดขาย จึงนำสินค้าออกไปทดสอบตลาดก่อนเพื่อเก็บฟีดแบคของลูกค้า แต่เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะนำซอสไปกินกับอะไรดี จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการขายคู่กับสลัด และปรับตัวสินค้าหลักมาเป็นน้ำสลัดจากเนื้ออะโวคาโดที่ขายคู่กับชุดผักสลัด จนได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นกับกลุ่มลูกค้าผู้รักสุขภาพ

โดยพวกเขาบอกว่า “เมื่อมีแผน ทำตามแผน และตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำนั้นผลออกมาเป็นอย่างไร หากผลยังไม่ดี ไม่เป็นไปตามแผนก็จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขให้ตรงจุดได้รวดเร็ว และสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”

มิตรภาพเกิดขึ้นได้ทุกที่

เรียกได้ว่า เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ดีของน้อง ๆ ชาวจังหวัดน่านแต่ละทีม เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ทีมโรงเรียนสาที่สมาชิกภายในทีม เน้นความสนุกสนาน เฮฮา ไปกับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น การฝ่าฟันปัญหาด้วยกันแถมสนุกไปกับมัน นำพามาซึ่งมิตรภาพที่แน่นแฟ้นกลมเกลียว และยั่งยืนในอนาคต

ทีมโรงเรียนสา ซึ่งผุดไอเดียสร้างสรรค์เป็นธุรกิจข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย แก้ปัญหาข้าวหลามให้สามารถกินง่ายขึ้น พร้อมเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เป็นอีกทีมที่มักเจอความท้าทายอยู่บ่อยครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือช่วงเวลาออกไปขายสินค้ากันเองครั้งแรก เจอฝนตกหนักแต่ไม่มีร่มไปด้วย ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ จึงต้องกลับมาแก้ตัวใหม่ ซึ่งครั้งใหม่นั้นพวกเธอเตรียมพร้อมกันเต็มที่กับการขายสินค้า และอีกประสบการณ์ที่ทำได้ดีขึ้น คือการนำความคิดเห็นลูกค้ามาพัฒนาสินค้า ปรับปรุงแพคเกจให้ดูดี ติดฉลากบอกไส้ข้ามหลามให้ชัดเจน เพื่อให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด

ประสบการณ์การทำงานและฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันก่อให้เกิดการเรียนรู้และมิตรภาพที่เบ่งบาน สำหรับทั้ง 5 คน แล้ว สิ่งที่พวกเขาเห็นตรงกันนั้นคือ “ความเชื่อมั่นเพื่อน ๆ ในทีม คือหัวใจหลักที่ช่วยให้การแก้ไขปัญหาของกลุ่มเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว”

สาว ๆ จากทีมโรงเรียนปัว ก็เป็นอีกนึงทีมที่ได้มิตรภาพกลับบ้าน ด้วยความที่กลุ่มนี้มีเบื้องหลังการทำงานที่สนุกสนาน จากการแกะเม็ดมะมื่นด้วยกัน เพราะสินค้าของทีมนี้คือ เนยถั่วมะมื่น พวกเธอบอกว่า ภูมิใจที่สามารถนำวัตถุดิบท้องถิ่นจากที่คนไม่รู้จักมายกระดับให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผ่านกระบวนการทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์กันเองจนลงตัวสามารถนำมาให้ได้ทดลองชิมและผลิตออกมาจำหน่ายได้

น้อง ๆ ทีมโรงเรียนปัวยังบอกด้วยว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการแกะเม็ดมะมื่น แต่ก็มาช่วยกันแกะ แกะไปด้วยและเล่นเกมไปด้วยเป็นเกม fact about me เล่าความจริงเกี่ยวกับฉัน ที่ได้ทั้งเสียงฮา ได้รู้จักตัวเองและได้รู้จักเพื่อนในทีม เมื่อสนิทสนมกันก็ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น นั่นถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานกันในทีมเลย

ไม่ว่าในบทสรุป ธุรกิจที่พวกเขาทำมันจะมีกำไรหรือขาดทุน แต่นั้นมันก็ไม่สำคัญไปกว่าเรื่องราวระหว่างทางที่พวกเขาฝ่าฟันมา ที่มันเต็มไปด้วยบทเรียน อุปสรรค และประสบการณ์ที่น้อง ๆ ทั้ง 40 คนจะได้ติดตัวกลับไป รวมถึงมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีของเพื่อน ๆ ในทีมจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน 

ถึงแม้ 66 วัน ใน “เพาะพันธ์ปัญญาแคมป์” อาจไม่ใช่ระยะเวลาที่นานมาก แต่มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงน้อง ๆ จังหวัดน่านไปอย่างก้าวกระโดดทีเดียว 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save