นอนน้อยไป Vs. นอนมากไป แบบไหนอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ากัน

Writer : uss

: 5 สิงหาคม 2565

คุณเคยประสบปัญหากับการนอนหรือไม่ ? 😪

เมื่อการนอนของใครหลาย ๆ คนไม่เหมือนกัน บางคนนอนน้อยเกินไป เพราะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ที่มาลดเวลานอนให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นภาระหน้าที่การงาน หรือการที่เราติดนอนดึกแต่วันถัดไปต้องตื่นเช้า 

ซึ่งแน่นอนว่า การนอนไม่พอมีผลต่อร่างกายอย่างแน่นอน ถ้านอนน้อยเพียง 1 วันก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างมาก แต่ถ้าเรายังคงอดนอนต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลกระทบต่อร่างกายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในทางกลับกันบางคนนอนมากเกินไป มีอาการชอบและเสพติดการนอน ที่ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและไม่ได้ผิดปกติอะไร แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่! เพราะนอนมากไปก็ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเหมือนกัน

แล้วคราวนี้.. เราจะทำยังไงกันดีล่ะ ? เมื่อนอนน้อยไปก็อันตราย นอนมากไปก็ไม่ดี Mango Zero ด้วยความห่วงใยลูกเพจเลยอาสามาบอกผลเสียของการนอนแต่ละแบบ พร้อมแนะนำวิธีการนอนที่ดีต่อสุขภาพ

ปล. ก่อนจะไปอ่านกัน ทุกคนอย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองกันด้วยนะฮะ พักผ่อนให้เพียงพอและพอดี ร่างกายจะได้แข็งแรงอยู่กับเราไปนาน ๆ เลย :3  

นอนน้อยไป

คือ การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วันสะสมไปเรื่อย ๆ เรียกว่า “Lack of Sleep”

วิธีสังเกตว่าเรานอนน้อยไป

  • ตื่นนอนมาไม่สดชื่น
  • ในระหว่างวัน มีอาการง่วงหาวนอนอยู่เรื่อย ๆ
  • มีอาการเครียดและหงุดหงิดง่าย 

ผลเสียต่อร่างกายที่ควรระวัง

เกิดอาการ  “หลับใน”

เพราะการนอนน้อยส่งผลให้สมองส่วนธาลามัส หยุดทำงานช่วงสั้น ๆ แบบชั่วคราว  โดยจะทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว หรือที่เรารู้จักกันอย่าง “ภาวะหลับใน” ซึ่งจะเป็นอันตรายมากต่อกิจกรรมที่ใช้ความเร็วและความแม่นยำ เช่น ขับรถ

ผิวเสียลง

คนที่ไม่ได้นอนติดต่อกัน 2-3 คืน จะทำให้มีผิวเหี่ยวและตาบวม รวมถึงมีรอยย่น และรอยคล้ำรอบดวงตาด้วย สาเหตุมาจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไปจะทำลายคอลลาเจนที่ผิวหนัง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่น และเรียบเนียน

สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง

การนอนน้อยส่งผลให้ความต้องการ และความสนใจการร่วมเพศลดลง เนื่องจากฮอร์โมน “เทสโทสเทอโรน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชายต่ำลง โดยจากงานวิจัยระบุว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน มักจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ต่ำ

โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง 

การนอนน้อยสะสมจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังได้ โดยถ้าหากคุณมี 2 อาการเหล่านี้เกิน 1 เดือนเตรียมเข้าสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรังได้เลย ได้แก่ 

  • ก่อนนอนต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาที ถึงจะสามารถหลับ 
  • หลับ ๆ ตื่น ๆ กลางดึก จนทำให้หลับอีกครั้งไม่ได้ 

โรคเบาหวาน

 เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากการนอนน้อย จะส่งผลให้ร่างกายต้องผลิตน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น  ในขณะเดียวกันเมื่อคนเป็นเบาหวานพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ระดับกลูโคสและอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โรคมะเร็งลำไส้

ชาวนอนดึกตื่นเช้าควรระวัง เพราะนี่คืออีกหนึ่งโรคยอดฮิตสำหรับคนเจนนี้ ซึ่งเกิดจากการที่เราทานอาหารไม่ตรงเวลา และนอนน้อย จนส่งผลให้ระบบการทำงานของลำไส้ผิดปกติ ถึงขั้นอาจเป็นลำไส้อุดตัน และลุกลามกลายเป็นมะเร็งได้

นอนมากไป

คือ คนที่มีอาการของโรคนอนเกิน “Hypersomnia”  จะมีลักษณะที่ต้องการการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน มีภาวะตื่นยาก เมื่อตื่นแล้วก็รู้สึกว่าต้องการนอนต่อไปอีก

วิธีสังเกตว่าเรานอนมากไป

  • สมองทำงานช้า
  • จะมีอาการดูเฉื่อยชา , ไร้ชีวิตชีวา
  • ทานน้อยแต่กลับอ้วนง่าย
  • อยากจะงีบนอนวันละหลาย ๆ ครั้ง

ผลเสียต่อร่างกายที่ควรระวัง

ปวดหัวหลังตื่นนอน

คือ ภาวะสมองล้าหลังจาก 12 ชั่วโมงไปแล้ว ซึ่งอาจเกิดอาการลงแดงกาแฟนั่นเอง เพราะถ้าเราเคยดื่มกาแฟเป็นประจำช่วงเช้า นั้นอาจเป็นเพราะร่างกายของเราต้องการน้ำเนื่องจากภาวะขาดน้ำ และเป็นหนึ่งสาเหตุของการปวดหัวในตอนเช้า

ทำร้ายสมอง

เกิดภาวะสมองล้า คิดอะไรไม่ค่อยออก ส่งผลให้บุคลิกภาพกลายเป็นคนเฉื่อยช้า เซื่องซึม และอาจทำให้ขยับตัวน้อยลง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ 

อ้วนง่าย

เพราะการนอนมากเกินไปจะทำให้ระบบการเผาผลาญไขมันลดลง เกิดการสะสมของไขมัน และกระเพาะอาหารไม่ค่อยได้ทำงาน เลยส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนถึงแม้เราจะกินน้อยก็ตาม

อาการเจ็บปวดตามร่างกาย

ถ้าก่อนนอนหลับคุณรู้สึกปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะส่วนไหนก็ตาม การนอนเป็นเวลานานขึ้นก็จะทำให้อาการเจ็บปวดแย่ลง เพราะเรานอนท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน และไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อีกทั้งถ้านอนในที่นอนที่ไม่เหมาะสมก็ส่งผลให้เจ็บปวดร่างกายได้เหมือนกัน

กลายเป็นคนซึมเศร้า ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข

เมื่อเรานอนมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะขาดการติดต่อจากสังคมมากขึ้นตาม ๆ กัน ทำให้สารความสุขที่หลั่งในสมองอย่าง “เซโรโทนิน และเอนดอร์ฟิน” ก็ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า

เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว

คนที่หลับง่ายและนอนนาน ๆ จะไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนอย่างพอดีถึง 1.3%

ที่มา : Amsel , Poppad , Rajavithi , Rama 

Writer Profile : uss
ชอบฟังเพลงพอๆ กับชอบนอนหลับ :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save