ปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยาวนานในความรู้สึก เมื่อทุกอย่างในโลกบันเทิงถูกฟรีซไว้ชั่วขณะจากสถานการณ์โควิด-19 เราผ่านการล็อคดาวน์ปิดประเทศกันมาหลายครั้ง แต่ในขณะเดียวกันในขวบปีนี้ ก็มีเหตุการณ์ในโลกบันเทิงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี และบทเรียนที่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงหลายสิ่งที่ผ่านมา Mango Zero จึงอยากจะใช้ช่วงเวลาตลอดสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ พาทุกคนแฟลชแบ็คย้อนเวลาไปทบทวนเหตุการณ์ตลอดทั้งปี กับ 21 โมเมนต์โลกบันเทิงที่ไม่อยากให้คุณลืม แต่อยากให้จดจำในแง่มุมของบทเรียนที่จะพาผู้คนและอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเราก้าวต่อไป ติดตาม Content Series พิเศษส่งท้ายปีจาก Mango Zero ใน Episode ที่ 2 ได้ที่นี่ รวมถึงสามารถติดตามอ่านครบทั้ง 5 Episode ได้ที่ EP.1 / EP.2 / EP.3 / EP.4 / EP.5 #5 แนนโน๊ะ และความภูมิใจของซีรีส์ไทยใน Netfilx Original “สวัสดีค่ะ แนนโน๊ะนะคะ” คงไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับโมเมนต์ของซีรีส์ไทยดังไกลไปทั่วโลกอย่าง ‘เด็กใหม่ 2’ หรือแนนโน๊ะที่ได้กลับมาสานต่อความโหดกับบทลงโทษให้สาสมใจในช่วงกลางปี หลังจากที่กวาดความนิยมอย่างล้นหลามและทำคนดูลุกขึ้นมาเต้นหน้าเสาธงไปในปี 2561 ที่ผ่านมา การกลับมาครั้งนี้ แนนโน๊ะมาพร้อมวิธีการโปรโมทดีๆที่ทำให้ผู้คนพูดถึงและรอคอยกัน ตั้งแต่ยังไม่ทันออนแอร์ ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น ตัวละครใหม่ที่น่าสนใจ และการหยิบยก 8 เรื่องจริงในสังคมมา ‘ตั้งคำถาม’ สู่ ‘การสะท้อน’ มุมมองของคนผ่านกฏเกณฑ์ทางสังคม เช่น ท้องในวัยเรียน ประเพณีรับน้อง พ่อแม่รังแกฉัน หรือมิตรภาพกับชนชั้น จัดเต็มความมันส์จนติดอันดับบน Netflix ทั่วโลก โดยขึ้นอันดับ 1 ในไทย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม อันดับ 2 ในมาเลเซีย ตามมาด้วยอันดับ 3 ในสิงคโปร์, ฮ่องกง และไต้หวัน ไปจนถึง Top 10 ในประเทศการ์ตา, โบลิเวีย, บราซิลและเปรู นอกจากนี้ ยังมีกระแสความนิยมจากตลาดจีนผ่านแฮชแท็ก #禁忌女孩 ที่แปลว่าเด็กสาวต้องสาป รวมไปถึงญี่ปุ่น ก่อนที่แนนโน๊ะจะพาซีรีส์ไทย ไปคว้ารางวัล Best Asian TV Series ในเวทีใหญ่ Asia Contents Awards 2021 นับเป็นซีรีส์หยุดโลกเรื่องดังที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจของคนไทยใน Netflix อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ไทยจาก Original Netflix ปีนี้ยังมีหลายเรื่องที่จัดว่าดี และได้รับความนิยมจากคนดูทั่วเอเชียไม่แพ้กัน อย่าง Bangkok Breaking ซีรีส์ 6 ตอน ที่ส่งงานโปรดักชั่นแบบสมจริง บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของทีมกู้ภัยในกรุงเทพฯผ่านฝีมือนักแสดงมือดี ทั้งเวียร์ ศุกลวัฒน์ และ ออม สุชาร์ ไม่เพียงแค่ซีรีส์ที่ทำได้ดีขึ้นกว่ากรอบเดิม ๆ ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า Netflix จะผลักดันภาพยนตร์ออริจินัลให้มีความปังตามมาด้วย กับเรื่องล่าสุดอย่าง ‘ปริศนารูหลอน’ เรื่องราวของสองพี่น้อง ที่ได้พบเจอกับรูหลอนในบ้านตายาย โดยตัวภาพยนตร์พยายามจะถ่ายทอดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนต่างวัย ที่มีช่องว่างขนาดใหญ่อย่าง Baby Boomer และ Gen Z จากการปรับตัวของซีรีส์ในยุคสมัยนี้ ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกที่ว่า “อืมมม ดูแล้วสนุกดี” แต่กลับมอบแง่คิดดี ๆ หรือสะท้อนปัญหาสังคมผ่านการเสียดสีได้ดีเกินคาด ซีรีส์ไทยในปี 2021 นี้ จึงกลายเป็นความภูมิใจและแสงแห่งความหวัง ที่ในอนาคตประเทศของเราจะสามารถผลิตซีรีส์ดีๆ มีความน่าสนใจ คุณภาพเทียบอินเตอร์ได้ สามารถส่ง Soft Power ไปแข่งขันในตลาดสากล ที่มา Workpointtoday, The Standard Pop, Springnews #6 คำฮิตแห่งปี ‘Soft Power’ ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่ถูกผู้ใหญ่เมิน ในปี 2021 ถือได้ว่ามีคำหนึ่งคำที่กลายเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คน (รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราด้วย) รู้จักและพูดถึงคำนี้กันมากขึ้น ซึ่งก็คือคำว่า ‘Soft Power’ และใน 1 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีหลายโมเมนต์ที่จุดประกายคำนี้และทำให้หลาย ๆ คนรู้จักประเทศไทย และวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โมเมนต์ที่ลิซ่าเปิดตัวเพลงใหม่อย่าง LALISA หรืออนิเมชั่น Raya and the Last Dragon ที่นำเอาวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเชียงใต้เข้ากลายเป็น Setting ของสิ่งต่าง ๆ โมเมนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้คำว่า Soft Power ปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ แม้กระทั้งตัวนายกเองก็ออกมาพูดว่า จะผลักดันและยกระดับวัฒนธรรมให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ แต่ในขณะเดียวกันการออกมาแสดงความคิดเห็นของนายก (และผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศ) กับก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ในแง่ลบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ว่าทำไมถึงพึ่งมองเห็น Soft Power ของไทย หรือจริง ๆ แล้ว Soft Power ของไทยกลับยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลยก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น หนัง เกม ดนตรี ที่ประสบความสำเร็จจากภาคเอกชนล้วน ๆ เท่านั้น หรือบ้างครั้งก็ถูกทำให้รู้จักผ่านสื่อของต่างประเทศ และเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่รัฐบาลยอมลงทุนใรการสร้าง Soft Power จนสามารถเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจหลักได้แล้ว ประเทศไทยยังถูกมองว่า ‘หากินกับของเดิม’ ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยว และไม่ได้สร้างจุดขายใหม่ ๆ มาแข่งขันในตลาดโลกเลย ทำให้ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า Soft Power เป็นเพียงคำที่ถูกเอามาพูดถึงแบบผ่าน ๆ หรือรัฐบาลให้ความสนใจกับมันกันแน่ ? และโมเมนต์ต่าง ๆ นี้เองจึงเป็นบทเรียนในปี 2021 ว่าคงจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะมองเห็นถึงศักยาภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ให้สามารถแข่งขันและเป็นที่สนใจได้ในตลาดโลกเสียที #7 สร้างภาพจำใหม่กับผู้หญิงที่ถูกตีตราว่าสองใจผ่านละครพีเรียดฟอร์มยักษ์ “วันทอง” ‘วันทองสองใจ’ สำนวนสุภาษิตที่ใครต่อใครก็ต้องเคยได้ยินตั้งแต่สมัยเรียน ที่หมายถึงผู้หญิงที่มีจิตใจโลเล มากรัก มีที่มาจากวรรณคดีในตำนานอย่าง ‘ขุนช้างขุนแผน’ เมื่อครั้งที่พระพันวษาตรัสให้นางวันทองเลือกว่าจะอยู่กับขุนช้างหรือขุนแผน แต่นางกลับไม่เลือก ทำให้พระพันวษาพิโรธว่านางเป็นหญิงสองใจ จนนำไปสู่การประหารชีวิต เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางช่องวัน ได้มีการนำวรรณคดีพื้นบ้านอย่าง ขุนช้างขุนแผน มาดัดแปลงให้กลายเป็นละครที่นำมาเสนอในมุมมองรูปแบบใหม่ ผ่านตัวละครที่ถูกตีตราว่าเป็นหญิงสองใจอย่าง ‘วันทอง’ ซึ่งในเวอร์ชันนี้ได้คว้าตัวนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ใหม่-ดาวิกา มารับบท วันทอง, ป้อง-ณวัฒน์ มารับบท ขุนแผน และ ชาคริต แย้มนาม มารับบท ขุนช้าง อีกด้วย การนำเสนอละครวันทองในครั้งนี้ จะเป็นการเล่าผ่านมุมมองของสตรีที่ถูกเปรียบว่าเป็นหญิงสองใจอย่าง นางพิมพิลาลัย หรือ วันทอง โดยเปิดมาตอนแรกด้วยการไต่สวนของพระพันวษา ที่กำลังถามนางวันทองว่า “ระหว่างขุนช้างกับขุนแผน นางจะเลือกใคร” ซึ่งนางวันทองเองก็ตกอยู่ในภวังค์ ยากที่จะให้คำตอบ และเธอก็เริ่มที่จะเล่าเรื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าทำไมเธอถึงไม่เลือกใครสักคนเลย การตีความใหม่ในครั้งนี้จะทำให้เราได้เห็นการกระทำต่าง ๆ ของเธอ จนเธอเปรียบเสมือนสตรีที่มีความคิดร่วมสมัย ต่างจากสตรีในสมัยนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ที่เสียงของสตรีในยุคนั้นที่แทบจะไม่มีค่าอะไรเลยพอจะพูดอะไรก็กลัวจะมีภัยมาถึงตัว แต่วันทองในเวอร์ชันนี้กลายเป็นว่าเธอก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่เรียกร้องและยึดมั่นในความถูกต้องกับสิ่งที่ตนเองสมควรจะได้รับเท่านั้นเอง ทางผู้จัดเลยอยากนำเสนอละครเรื่องนี้พร้อมสร้างภาพจำใหม่ให้กับนางวันทอง จนเธอกลายเป็น Role Model ในเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ในร่างกายของตนเอง ที่จะมายืนหยัดว่า “เธอไม่ใช่หญิงสองใจ” และ “ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากรักผู้ชาย 2 คนในเวลาเดียวกัน” ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, Sanook #8 พี่เจ้ย / ร่างทรง / 4Kings ข่าวดีของคนทำหนังชาวไทย อีกหนึ่งวงการที่ประสบพบเจอกับผลกระทบฉายซ้ำวนไปตลอดทั้งปีสำหรับวงการภาพยนตร์ เรียกได้ว่า เมื่อใดมีประกาศล็อคดาวน์ เมื่อนั้นก็เตรียมตัวปิดม่านโรงฉายกันได้เลย แม้จะบอบช้ำกันมาทั้งปี แต่เราก็ยังพอได้ยินข่าวดีให้ได้มีความหวังกันบ้าง ‘Long Live The Cinema!’ ประเดิมด้วยข่าวความภาคภูมิใจในหมู่คนทำหนังบ้านเรา สำหรับ ‘เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ผู้กำกับชาวไทย ที่ได้คว้ารางวัล Jury prize ล่าสุดจากภาพยนตร์เรื่อง Memoria บนเวทีเทศกาลหนังเมืองคานส์ นับเป็นรางวัลที่ 4 ของพี่เจ้ยบนเวทีนี้ พี่เจ้ยก็ได้ใช้โอกาสช่วงเวลาที่ขึ้นรับรางวัลครั้งนี้ ส่งเสียง Call Out ถึงหน่วยงานรัฐบาลไทยและโคลอมเบีย ให้ตื่นขึ้นมาทำงานเพื่อประชาชนในช่วงเวลาวิกฤตโควิดแบบนี้ นับเป็นอีกหนึ่ง Scene ที่ทรงพลังและน่าจดจำในปีนี้ ‘ตำนานย่าบาหยันฝ่าโควิด’ อีกหนึ่งข่าวดีจากภาพยนตร์สยองขวัญแห่งปี เรื่อง ‘ร่างทรง’ ผลงานของผู้กำกับ ‘โต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล’ จับมือกับ’นา ฮง–จิน’ ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชาวเกาหลีใต้ มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์เรื่องแรกในชีวิต ‘ร่างทรง’ ว่าด้วยเรื่องราวการสืบทอดทายาทร่างทรงของครอบครัวหนึ่งในภาคอีสานของไทยที่พร้อมเขย่าขวัญคนทั่วโลก จากปรากฏการณ์ ขึ้นอันดับ 1 ภาพยนตร์ Box Office ในเกาหลีใต้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย กวาดรายได้ในสิงคโปร์และไต้หวัน รวมถึงได้เข้าฉายเทศกาลหนังในอีกหลายประเทศ และเมื่อได้เข้าฉายในไทย ก็กวาดรายได้ทั่วประเทศไปถึง 112.19 ล้านบาท ขึ้นแท่นหนังที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของปีทันที นอกจากนี้ร่างทรงยังได้รับเลือกจากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย ‘ม้ามืดส่งท้ายปี กับ 4 ราชาอาชีวะ’ ข่าวดีสุดท้ายกับความสำเร็จของ ‘4Kings’ ภาพยนตร์ที่โอบไหล่ผู้ชมไปรู้จักกับเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนอาชีวะยุค90 บอกเล่าผ่านประสบการณ์จริงของผู้กำกับ พุฒิ–พุฒิพงษ์ นาคทอง ด้วยเรื่องราวของมิตรภาพเด็กช่าง บรรยากาศยุค 90 และข้อคิดกินใจผู้ชม ส่งผลให้ 4Kings สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ 101 ล้านบาท ภายใน 11 วันที่เข้าฉาย และล่าสุด ‘เนติธร พรพิทักษ์สิทธิ์’ ผู้อำนวยการสร้าง ก็ได้วางแผนเตรียมพัฒนาบทในภาค 2 ให้คนดูได้ติดตามกันต่อ ที่มา : themomentum, komchadluek, thethaiger