21 โมเมนต์โลกบันเทิงที่ไม่อยากให้คุณลืม #M0_21unforgotten EP.5


: 31 ธันวาคม 2564

ปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยาวนานในความรู้สึก เมื่อทุกอย่างในโลกบันเทิงถูกฟรีซไว้ชั่วขณะจากสถานการณ์โควิด-19 เราผ่านการล็อคดาวน์ปิดประเทศกันมาหลายครั้ง

แต่ในขณะเดียวกันในขวบปีนี้ ก็มีเหตุการณ์ในโลกบันเทิงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี และบทเรียนที่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงหลายสิ่งที่ผ่านมา

Mango Zero จึงอยากจะใช้ช่วงเวลาตลอดสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ พาทุกคนแฟลชแบ็คย้อนเวลาไปทบทวนเหตุการณ์ตลอดทั้งปี

กับ 21 โมเมนต์โลกบันเทิงที่ไม่อยากให้คุณลืม แต่อยากให้จดจำในแง่มุมของบทเรียนที่จะพาผู้คนและอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเราก้าวต่อไป

ติดตาม Content Series พิเศษส่งท้ายปีจาก Mango Zero ใน Episode ที่ 5 ได้ที่นี่

รวมถึงสามารถติดตามอ่านครบทั้ง 5 Episode ได้ที่ EP.1 / EP.2 / EP.3 / EP.4 / EP.5

#18 COVID-19 และการจากไปของน้าค่อม

นับว่าเป็นโมเมนต์การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนบันเทิง กับการจากไปของ ‘น้าค่อม ชวนชื่น’ นักแสดงตลกชื่อดัง ผู้จากไปเพราะโรค Covid-19 ในวันที่ 30 เม.ย. 2021 หลังจากรักษานานถึง 19 วัน 

หลังจากการจากไปของน้าค่อมในครั้งนี้ ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงเรื่องการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาล โดยเฉพาะลูกสาวของน้าค่อม ที่ออกมาแชร์โพสของ นาตาลี เดวิส ไว้ว่า

ถ้าประเทศเรามีตัวเลือกวัคซีนให้ ปชช.มากกว่า… ถ้าประเทศเราเห็นแก่ความเป็นอยู่ของมนุษย์มากกว่านี้…หลายๆความสูญเสียคงไม่เกิด

ซึ่งก่อนหน้าที่น้าค่อมจะเสียชีวิต ก็มีอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากมายเกี่ยวกับ ‘กรณีที่บอล เชิญยิ้ม และแจ๊ส ชวนชื่น ที่อัดคลิปขอความช่วยเหลือในการรักษาน้าค่อม’ โดยประเด็นนี้ได้แบ่งความคิดของคนบนโลกอินเทอร์เน็ตออกเป็น 2 ฝั่ง 1.ฝั่งที่อยากให้ส่งทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือ 2.ฝั่งที่ต้องคำถามเรื่องสิทธิ์ของการรักษา

โดยฝั่งแรกมองว่าการส่งทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือน้าค่อม เป็นขอการแนะนำทีมแพทย์ประจำตัว และมีการชี้แจงว่า ไม่ได้ต้องการใช้อภิสิทธิ์อะไร เพียงแค่อยากจะหาวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาเท่านั้น

ส่วนฝั่งที่สองมองว่า การทำแบบนี้เป็นการลัดคิวโดยใช้อภิสิทธิ์ของการเป็นคนมีเชื่อเสียง ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังมีอีกหลายเคสที่ยังไม่ได้รับการรักษา และต้องเสียชีวิตในที่สุด หรือกว่าจะได้รับการรักษาก็ใช้เวลานานมาก

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ ก็กลายเป็นโมเมนต์ที่ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามต่อเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมที่แสดงออกมาในช่วงเวลาวิกฤต

 

#19 เปิดหมวก Festival กับการช่วยเหลือกันเองของนักดนตรี

อีกหนึ่งวงการที่สะบักสะบอมจากผลกระทบโควิด-19 สำหรับแวดวงนักดนตรี ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง คนกลางคืน และนักดนตรีในผับบาร์ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา 

กลุ่มคนที่มอบความสุขความบันเทิงให้แก่ผู้คน แม้ในยามวิกฤต พวกเขาเป็นวิชาชีพกลุ่มแรก ๆ ที่เป็นอันต้องหยุดงานตามมาตรการ เพื่อหวังว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น พวกเราจะได้กลับมาทำในสิ่งที่รัก แต่ก็กลับเป็นกลุ่มคนท้าย ๆ ที่รัฐจะมองเห็นถึงความยากลำบาก 

หลายคนวางเครื่องดนตรี ออกไปทำสิ่งอื่นให้พอเลี้ยงชีวิตไปต่อกันได้ แต่ได้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ก็ไม่ง่ายนักและไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี ทำมาค้าขึ้น ฟื้นตัวกันได้เร็วไว

ตลอดเส้นทางในปีนี้ เราได้เห็นทั้งข่าวการต่อสู้ การช่วยเหลือ และการสูญเสียของคนในแวดวงดนตรีมากมาย โดยเฉพาะข่าวการจากไปของคุณ ‘ประกายฟ้า’ นักร้องอิสระ ที่เธอก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องฝ่ามรสุมครั้งนี้ 

[ชมคลิป Prakaifa in our memories : https://youtu.be/VWwNgYKmL5Y]

 

เรื่องราวของประกายฟ้า จุดประกายให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักรู้ รวมถึงคนในวงการ ต่างก็ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง ผ่านโครงการ  ‘เปิดหมวกเฟสติวัล’ ที่ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย (MCAT) ในสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย (NEBA) ร่วมมือกันจัดขึ้น 

โดยรวบรวมนักร้อง-นักดนตรี ร้อยกว่ารายชื่อทั่วฟ้าเมืองไทย จัดคอนเสิร์ตเปิดหมวกออนไลน์ตลอด 14 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ช่วยเหลือนักดนตรีที่ขาดรายได้ในระหว่างสถานการณ์โควิด 19

ขณะเดียวกันในปีนี้ก็ได้มีการรวมตัวของ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย (สธก) ไม่ว่าจะเป็น ชมรมผู้ประกอบการผับ บาร์ รายย่อย, ชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย, ชมรมดีเจและโปรโมเตอร์กรุงเทพฯ, ชมรมผู้ทำคอนเสิร์ตและอีเวนต์, ชมรมคราฟท์เบียร์, ชมรมบาร์เทนเดอร์และค็อกเทลบาร์, ชมรมผู้สนับสนุนคนดนตรีโดยคนแฟชั่น 

รวมไปถึงกลุ่มศิลปินอาชีพ เช่น ตัวแทนจากวง Slot Machine, ตัวแทนจากวง Cocktail, ตัวแทนจากวง Tattoo Colour, Apartment Khunpa, Safeplanet, Polycat, เอ้-กุลจิรา ทองคง ฯลฯ ร่วมกันยื่นหนังสือ 8 ข้อเรียกร้องต่อรัฐสภา เพื่อหาข้อสรุปแนวทางในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ และยังคงเป็นตัวแทนส่งเสียงให้กับคนดนตรีตลอดปีที่ผ่านมา

นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ที่เราอยากบันทึกไว้ในปีนี้ ถึงเรื่องราวมากมายที่คนดนตรีจับมือเดินผ่านกันมา ท่ามกลางเสียงดนตรีที่คอยปลอบประโลมในยามยากลำบาก และคงเป็นปีที่ยากจะลืม

#ให้ดนตรีมีชีวิต #เปิดหมวกเฟสติวัล #LetTheMusicLive

ที่มา : The Standard, OpenHatFestival 

#20 Celebrity กับการเมือง จุดยืนที่เลือก และการถูกแบน

เป็นโมเมนต์ที่คงเดาออกไม่ยาก ถ้าเราจะพูดถึงวงการศิลปินหรือดารากับประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2021 นี้ เมื่อผู้คนเรียกร้องถึงกระบอกเสียงดี ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนในวงการนี้จะกล้าโผล่ออกมา ‘Call Out’ เราจึงบอกได้ว่าในวงการมายามีทั้งกลุ่มนึงที่ ‘ตื่นรู้’ และอีกกลุ่มนึงที่ยัง ‘หลับหูหลับตา’ ต่อไป

แน่นอนว่าการก้าวออกมามีราคาที่ต้องจ่าย ในขณะเดียวกันการเงียบ หรือนิ่งเฉยไปก็มีราคาที่เสียไปเช่นกัน ส่วนตัวอย่างของเซเลปที่ออกมา Call Out นั้นก็มักจะเป็นเจ้าประจำที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี

MILLI – I love you 2000 

ใครว่าออกมา Call Out แล้วจะพัง ให้ขยี้ตาอีกครั้งแล้วหันมาดูนักร้องสาวสุดปังอย่าง ‘มิลลิ’ ที่ได้ออกมาคอลเอาท์ชูสามนิ้วลงโซเชียล ทั้งการเมือง ทั้งวัคซีน จนโดนข้อกล่าวหา ม.393 ดูหมิ่นว่าด้วยการโฆษณา เดินสับขาเข้าโรงพัก เสียเงินไป 2000 บาท แต่ได้เห็นถึงความรัก แรงสนับสนุน กำลังใจจากแฟน ๆ ชาวไทยอย่างเต็มตา

ถึงแม้ว่าจะโดนข้อกล่าวหา มิลลิก็ยังคงยึดมั่นและยืนยันว่าจะแสดงความเห็นทางการเมืองต่อไป ตามเจตนารมณ์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศให้ก้าวไป โดยที่ไม่ต้องตั้งคำถามเหมือนในเพลงอนาคตคือ 

BNK48 กลัวที่ไหน พร้อมใจคอลเอาท์ 

อีกหนึ่งตัวแทนไอดอลไทย กับสาว ๆ ที่ยืนหนึ่งในใจชายไทยส่วนใหญ่อย่าง BNK48 ซึ่งได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงดัง ๆ ฟาดไม่ยั้ง ถึงการกระทำของรัฐบาล จนได้รับความชมเป็นจำนวนมาก เติมความรักแบบล้นหลามสมความกล้าหาญของพวกเธอ (ขออภัยที่ใส่รูปและคำพูดได้ไม่หมด สาวๆคอลเอาท์กันหลายคนม้ากกก)

“ตอนไฟไหม้ไม่มีแม้แต่อุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่ไม่มีความช่วยเหลือใดใด แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ทำร้ายประชาชนนี่พร้อมเสมอ ในจะวัคซีนที่ติดต่อช้าเป็นประเทศไทยท้ายๆ เรียงลำดับความสำคัญได้ชัดเจนมากเลยค่ะว่าจัดให้ประชาชนไว้อันดับที่เท่าไหร่” – เจนนิษฐ์ 

 “คนที่ออกไปในวันนี้ขอบคุณพวกคุณมากจริงๆค่ะ พวกคุณทั้งเข้มแข็งแล้วก็กล้าหาญ แล้วนี่คือสิ่งที่คนกลุ่มนี้ควรได้รับเหรอ แก๊สน้ำตากับวัคซีนเนี่ยพอจะดูออกมั้ยคะว่าควรเอาไปลงกับอะไรมากกว่า” – มิวสิค

“คุณมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชน แต่ทุกวันนี้นอกจากคุณไม่ปกป้องแล้ว คุณยังทำร้ายประชาชนนอกจากไม่รู้หน้าที่ตัวเอง แล้วยังไม่รู้จักความเป็นมนุษย์ด้วย” – เนย

ในทางกลับกันปีนี้ยังมีกระแส #แบนลูกหนัง หรือ #SITALA ลูกสาวของศรัณยู วงษ์กระจ่าง อดีตแกนนำฝั่งนกหวีดจนเกิดเป็นเหตุการณ์รัฐประหาร ดับหลายร้อยความฝันของผู้คนในชาติ แต่ตอนนี้เธอได้ไปตามฝันและกำลังจะได้เดบิวต์ในฐานะไอดอลเกาหลี

ซึ่งการที่เธอบอกว่ามีพ่อเป็นบุคคลต้นแบบนี้ ยิ่งสุมไฟในใจของแฟนคลับไทย เพราะเห็นได้ชัดว่าเมื่อก่อนเธอมีจุดยืนแบบไหนทางการเมือง โดยมีการเรียกร้องให้ถอดเธอออกจากวง และล่าสุดทางค่ายแม่ของ H1-KEY ก็ได้ปิดตัวลง ถึงแม้จะยังไม่มีผลกระทบอะไรกับวงที่จะเดบิวต์ต้นปี 2022 นี้ แต่แฟนๆชาวไทยส่วนใหญ่ก็ขอเมินหน้าหนี ไม่ขอสนับสนุนใดๆ

นี่จึงเป็นบทเรียนราคาแพง ที่มาเรียกเก็บย้อนหลัง สุดท้ายนี้จะปังหรือจะพัง เราเชื่อว่า Mindset ทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นคือเรื่องของทุกคน 

ที่มา ข่าวสด, คมชัดลึก, ไทยรัฐ

#21 คนดังกับการตื่นรู้เรื่องสิทธิในร่างกาย

 2021 เป็นอีกปีแห่งการตระหนักและพูดถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมกันอย่างเปิดกว้าง ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมือง และสังคม โดยอีกหนึ่งประเด็นที่คนดังในปีนี้ได้ออกมาพูดถึงกันอย่างหลากหลาย ก็คือ ‘การยอมรับสิทธิในร่างกายของตัวเองและผู้อื่น’

รวมถึงประเด็นข่าวอีกมากมายที่ทำให้ผู้คนในโซเชียลเองก็หันมาสนใจประเด็นนี้ เราจึงขอหยิบยกแคมเปญและ Hashtag สุดปังประจำปีนี้จากคนดังที่สร้างอิมแพ็คให้สังคมตระหนักรู้ในเรื่องนี้กันมากขึ้น

#DontTellMeHowToDress กับซินดี้และเขื่อน

นางแบบสาวมากความสามารถที่เรียกร้องในประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ‘ซินดี้-สิรินยา’ ที่เธอเคยโพสต์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิงในช่วงวันสงกรานต์ จนเกิดปรากฎการณ์ #DontTellMeHowToDress และ #TellMenToRespect เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิสตรี สิทธิการแต่งกายของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการรับมือคดีล่วงละเมิดทางเพศให้กับทุกคนผ่านแฮชแท็กดังนี้ 

และประเด็นนี้ก็เริ่มแพร่หลายและส่งต่อมายังคนรุ่นใหม่กับอดีตบอยแบนด์ไทยสุดปังอย่าง ‘เขื่อน-ดนัย’ หลังจากที่ตัวของเขื่อนเองนั้นก้าวข้ามผ่านเรื่องเพศได้สำเร็จและหันมาแต่งตัวตามที่ตนเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชุดว่ายน้ำบิกินี่มาใส่ หรือการสวมใส่กระโปรง จนสร้างความมั่นใจให้กับหลาย ๆ คนที่ไม่กล้าแต่งตัว จนทำให้ชาวโซเชียลเริ่มตื่นตัวในเรื่องของการแต่งกาย พร้อมเริ่มเข้าใจกันแล้วว่าเสื้อผ้าไม่มีเพศและเราอยากใส่อะไรก็ได้ถ้าเรามั่นใจ 

สร้าง Beauty Standard ใหม่ผ่านเสียงเพลง

การรณรงค์เรื่อง Beauty Standard ผ่านนักร้องสาวสุดแซ่บ ‘ซิลวี่-ภาวิดา’ ที่ได้นำเสนอแง่มุมใหม่ ๆ ในเรื่องของ ‘ร่างกาย’ ว่า ทุกคนดูดีได้ในแบบของตัวเองผ่านซิงเกิลแรกอย่าง XL และยิ่งตอกย้ำความเป็นตัวของตัวเองผ่านเพลงล่าสุดนี้อย่าง ‘QUEEN’ ที่ให้ทุกคนมั่นใจในความพิเศษ กล้าเป็นตัวเอง และตะโกนออกมาดังๆ ว่า 

 “Why be regular when you can be extra?”

Real Size Beauty หุ่นดีในแบบของคุณเอง

เธอคนนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนภาพจำใหม่ ๆ กับวงการนางงามสำหรับ ‘แอน-แอนชิลี’ Miss Universe Thailand 2021 พร้อมกับแคมเปญที่มาเปลี่ยนบทบาทของนางงามผ่านแฮชแท็กสุดปัง #RealSizeBeauty ที่จะมาป่าวประกาศว่าทุกคนสามารถมั่นใจและสวยในแบบของตัวเองได้ ไม่ว่าจะอ้วน ผอม สูง หรือเตี้ย จนทำให้ใครหลายคนรักในสิ่งที่ตัวเองเป็นและมั่นใจตนเองมากยิ่งขึ้น

เป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ที่อยากมาบันทึกไว้ว่าในปีนี้ประเทศไทยมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดี สามารถก้าวข้ามผ่านและมองเห็นสิทธิในร่างกายของตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น 

ที่มา: The Standard, Miss Universe Thailand

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save