category Clinomania เสพติดเตียง เสี่ยงซึมเศร้า

Writer : incwaran

: 7 กุมภาพันธ์ 2563

ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในแต่ละวันคือการลุกจากเตียง เลื่อนนาฬิกาปลุกกี่ครั้งก็ยังไม่อยากตื่น เพียงแค่นึกถึงการตื่นนอนในตอนเช้าก็เกิดความเครียดแล้ว แถมยังไม่อยากลุกไปไหนนอกจากอยู่บนเตียง ห่างกันเมื่อไหร่ก็อยากจะกลับไปหา ประหนึ่งว่ามีเตียงเป็นคู่ชีวิต เสี่ยงต่อการเป็น Clinomania ภาวะเสพติดเตียงนอน

ไม่ใช่เรื่องตลกหรือน่าภูมิใจที่สามารถอยู่บนเตียงได้เป็นวันๆ เพราะมันเป็นสัญญาณหนึ่งของการมีภาวะซึมเศร้า (depression) และอ่อนล้าเรื้อรัง (chronic fatigue disorder) ควรแก้ไขก่อนจะเป็นผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 ไปทำความรู้จักภาวะนี้กัน ว่ามีอาการยังไง

Clinomania หรือ Dysania มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก “clino-” หมายถึงเตียง ส่วน “-mania” หมายถึง การติดอยู่กับสิ่งนั้น Dr. Mark Salter จาก the Royal College of Psychiatrists อธิบายว่า มันคือความรู้สึก “ไม่อยากลุกจากเตียงในตอนเช้า” ซึ่งบางครั้งมีผลมาจากภาวะซึมเศร้าและอ่อนล้าเรื้อรัง

ภาวะนี้ไม่ใช่แค่รู้สึกง่วงมากกว่าคนปกติ แต่เป็นการมีปัญหากับการลุกจากเตียงในตอนเช้าแบบเรื้อรัง แถมยังอยากอยู่บนเตียงทั้งวัน ถ้าเพียงแค่ไม่อยากตื่นในตอนเช้า และไม่มีสัญญาณอื่นๆ อาจเป็นแค่การเหนื่อยล้าธรรมดา

นอนนานเป็นงานอดิเรก

ถ้าถามว่างานอดิเรกยามว่างคืออะไร แล้วตอบได้ทันทีว่า “นอน” ต้องแยกให้ออกว่าเราแค่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน เลยต้องนอนเวลาว่าง หรือไม่มีงานอดิเรกอื่นๆ นอกจากการนอนจริงๆ ลองหากิจกรรมที่สนใจ ไม่ให้ใช้ชีวิตอยู่บนเตียงมากเกินไป

เครียดทันทีที่นึกถึงการลุกจากเตียง 

คนทั่วไปจะโอดครวญเวลานาฬิกาปลุก ถึงจะกดเลื่อนไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องตื่นอยู่ดี แต่คนที่มีภาวะ Clinomania จะรู้สึกเครียดและกังวลเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องตื่นนอนในตอนเช้า 

ใช้ชีวิตบนเตียงได้ทั้งวัน 

ทำอะไรก็ได้ขอแค่ได้อยู่บนเตียง ไม่ว่าจะกินข้าว ทำงาน อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ถ้ากิจกรรมไหนต้องลุกออกไปจากเตียงก็จะไม่รู้สึกอยากทำ เรียกได้ว่าอยู่บนเตียงนานแค่ไหนก็ได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยรู้สึกว่าฉันอยู่บนเตียงนานเกินไปแล้ว

ไม่มีแรงเคลื่อนไหวในตอนเช้า

หากรู้สึกไม่มีแรงในตอนเช้าเพราะเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักอาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่การไม่มีแรงที่ได้รับผลกระทบจากจิตใจ อาจมีสาเหตุมาจากอาการซึมเศร้าได้ เช่น มีปัญหาการนอนหลับ รู้สึกเฉื่อยชาไปจนถึง ไม่มีแรงเคลื่อนไหวร่างกาย

รอคอยการกลับไปหาเตียง

ติดเตียงแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องลุกออกไปทำงานอยู่ดี แต่ระหว่างวันก็จะใช้ชีวิตแบบคิดถึงแต่การกลับบ้านไปหาเตียงนอน 

มีความสุขที่สุดตอนอยู่บนเตียง

ถ้าเตียงนุ่มๆ ผ้าห่มอุ่นๆ หมอนคู่ใจ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครไม่อยากลุกจากเตียงก็ไม่แปลก แต่ถ้าช่วงเวลาที่มีความสุขของแต่ละวันคือการได้อยู่บนเตียง ไม่ว่าจะมีกิจกรรมหรือสิ่งอื่นน่าสนใจแค่ไหนก็ไม่ทำให้มีความสุขได้เท่าการอยู่บนเตียง บอกเลยว่าเสี่ยงเป็น Clinomania แล้วนะ

ทำยังไงให้หายเสพติดเตียง

เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา

คนทั่วไปต้องการการนอนหลับ 6-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่คนที่มีอาการ Clinomania จะใช้เวลานานกว่านั้น ลองปรับเวลานอนให้สม่ำเสมอมากขี้น เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิม แรกๆ อาจจะฝืนหน่อยแต่ทำบ่อยๆ ร่างกายจะคุ้นชิน เมื่อถึงเวลาจะลุกจากเตียงได้ง่ายขึ้น

หากิจกรรมที่สนใจ

แม้จะรู้สึกว่าไม่มีอะไรผ่อนคลายไปกว่าการใช้เวลาบนเตียง แต่ลองลุกออกจากเตียงทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หรืออาจจะเป็นงานอดิเรกที่เคยทำบนเตียง แต่เปลี่ยนบรรยากาศ

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้สุขภาพดีแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายหลั่งเอนดอร์ฟิน สารเคมีที่กระตุ้นความรู้สึกแง่บวก การออกกำลังกายระหว่างวันจะทำให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากได้นอนหลับสนิท ตื่นเช้ามาก็จะมีแรงกาย แรงใจไปทำกิจกรรมมากขึ้น

ปรึกษาแพทย์

อาการเสพติดเตียง หากเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะซึมเศร้า depression และอ่อนล้าเรื้อรัง (chronic fatigue disorder) ดังนั้น ถ้าเริ่มมีสัญญาณที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพราะอาจไม่ใช่แค่อาการทางกาย แต่เป็นความเหนื่อยล้าทางใจ จะได้หาทางแก้ไขก่อนจะเป็นอะไรร้ายแรง

ที่มา theodyssey, bb


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save