category คุยกับเฮียมิ้ง ร้านโชห่วยสู่ธุรกิจเซเว่นฯ รายแรก เซเว่นฯ เมื่อก่อนเป็นอย่างไร? ทำไมต้องเปิดติดกัน?


: 30 สิงหาคม 2560

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-featured

คุณเคยสงสัยไหมว่า 7-Eleven สาขาแรกที่บริหารโดยผู้ร่วมธุรกิจรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทแม่คือใคร การบริหารร้าน 7-Eleven แล้วจริงๆ ต้องรู้อะไรบ้าง รวมถึงผ่านมาแล้วกว่า 26 ปี ทุกวันนี้เขายังคงทำกิจการนี้อยู่หรือไม่?

ทีมงาน Mango Zero ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เฮียมิ้ง” หรือ คุณบุญมี บุญยิ่งสถิต เป็นผู้ร่วมธุรกิจของ 7-Eleven รายแรกของไทย เรียกว่าเป็นบุคคลในตำนานสำหรับเลยทีเดียว เรามาฟังเรื่องราวของการเริ่มต้นทำงานกับเซเว่นฯ การตัดสินใจเปิดสาขาอื่นๆ (จนปัจจุบันเปิดในละแวกเดียวกัน 5 สาขาแล้ว) พร้อมข้อคิดที่น่าสนใจ

สำหรับเรื่องราวของ “เฮียมิ้ง” เราขอแนะนำให้ลองดูคลิปที่เล่าเรื่องราวตลอด 26 ปีของการทำร้าน 7-Eleven ที่ส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นและทำให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน ในบทความนี้จะพาทุกท่านมานั่งคุยกับเฮียมิ้งเพิ่มเติมจากประเด็นในคลิปนี้ และคำถามที่หลายคนอยากทราบแบบสบายๆ กันครับ

สรุปข้อมูลที่น่าสนใจ

  • เฮียมิ้งเปิดร้านโชห่วยมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่ออยู่ที่ เพชรบุรีซอย 5 เมื่อกระแส Convenience Store เริ่มมา เฮียจึงสนใจที่จะปรับปรุงร้านให้เป็นระบบและทันสมัยมากขึ้น เมื่อเปิด 7-Eleven หน้าที่ที่เคยทำเปลี่ยนไป ทำงานเป็นระบบ มีพนักงานต้องดูแล ตอนแรกเหนื่อยเพราะต้องปรับตัว แต่ไม่นานก็ลงตัวขึ้นมาก
  • เมื่อมีลูกค้าหนาแน่นขึ้น ทาง 7-Eleven แนะเฮียให้เปิดสาขาที่สองในซอยเดียวกัน เฮียลังเลแต่ก็เปิด จากนั้นสาขาที่สองช่วยแบ่งลูกค้าทำให้งานสบายขึ้น และหลังจากนั้นไม่นานชุมชนหนาแน่นขึ้น และรายได้ดีขึ้น
  • ปัจจุบันมี 7-Eleven ที่เป็นของเฮียในย่านนั้นทั้งหมด 5 สาขา สำหรับเพชรบุรี 5 ที่เคยลังเลว่าจะเปิดสาขาที่สองใกล้กัน ตอนนี้ในซอยนั้นมีสาขาที่ 3 แล้ว ทุกอย่างลงตัว เฮียให้ลูกชายมาบริหารเต็มตัว

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-7

แรกเริ่มเดิมทีเฮียมิ้งก็ทำร้านโชห่วยมาก่อนใช่ไหมครับ

ใช่ครับ อยู่ที่เพชรบุรีซอย 5 เดิมทีเป็นร้านโชห่วยขายของทั่วไป ตอนแรกเลยเนี่ยเป็นร้านของคุณพ่อผมมาก่อน จากนั้นผมก็มาดูแล เน้นไปทางขายถูก ขายปริมาณเยอะๆ คล้ายๆ กับขายส่ง  พอขายถูกลูกค้าก็เยอะ ของเมื่อก่อนก็รับมาจากแม็คโคร หรือบางทีก็มีเซลล์มาติดต่อขายที่หน้าร้านก็มี บางครั้งเราไปเจอร้านโมเดิร์นเทรดที่ลดราคาสินค้าเยอะๆ เราก็ไปกว้านซื้อมาขายต่อ

สมัยนั้นเค้าจะมีงานที่เรียกว่าสินค้าป้ายแดง เราก็ซื้อมาเยอะๆ แล้วก็มาขายต่อ ผมอ่านตามสื่อหนังสือพิมพ์เจองานอีเวนท์ลดราคา เราก็เลยสนใจที่จะไปซื้อมาขาย แต่มันก็จะเสียเวลา ไป-กลับ ก็วันนึงแล้ว บางทีก็ต้องไปแย่งกับเค้า สินค้าพวกนี้เนี่ยเป็นสินค้าหวังเรียกลูกค้าเข้าห้าง ไม่ใช่ว่าคุณอยากได้เท่าไหร่ เค้ามีให้ เป็นของลดราคาที่มีจำนวนจำกัดหมดแล้วหมดเลย

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-4

สมัยเฮียมิ้งนี่ทำร้านโชห่วยมานานกี่ปีครับ

ร้านโชห่วยของผมเนี่ยเปิดอยู่สิบกว่าปีได้ครับ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเนี่ย 7-Eleven เพิ่งเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ตอนนั้นหลายคนน่าจะยังไม่รู้จักหรอก แต่ผมขยันอ่านขยันติดตามเรื่องของธุรกิจ แล้วเห็นว่ามี 7-Eleven มาเปิด

เมื่อ 30 ปีที่แล้วเนี่ยกระแสของ Convenience Store เริ่มมา ตรงข้ามซอยผมก็มี Convenience Store เจ้านึงมาเปิด ตอนนั้นคือยี่ห้อบิ๊กเซเว่นเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ทัน ก็มาเปิดอยู่ใกล้บริเวณร้านเรา และมีบ้างที่ลูกค้าเราหายไป

เราก็ไปเห็นรูปแบบของร้านเค้าจัดเรียงสินค้าสวยงาม เราก็ชอบ สมัยนั้นถ้าผมมีโอกาสไปเที่ยวแถวพัทยา เราจะเริ่มเห็นมินิมาร์ทตามที่พักตากอากาศ มันก็จะเป็นรูปแบบร้านมีเชลฟ์วางสินค้า ติดกระจก ติดเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องคิดเงิน อันนั้นคือรูปแบบของมินิมาร์ทเจ้าแรกๆ

พอมีบิ๊กเซเว่นมาเปิด เราก็เห็นว่าน่าจะปรับปรุงร้านเราที่เป็นโชห่วยให้มันเรียบร้อยดูดี เราเองก็เริ่มมีความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนร้านเราอยู่แล้วด้วย

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-27

แล้วเฮียมิ้งเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับ 7-Eleven อย่างไรครับ

คืองี้ครับ พอ 7-Eleven เข้ามาตั้งสาขาที่เมืองไทยแล้วเนี่ย เค้าก็ต้องเริ่มขยายธุรกิจ หาทำเล ช่วงนั้นก็มีประมาณ 20 สาขาเป็นของ 7-Eleven เอง ช่วงนั้นก็มีสาขานึงอยู่ซอยตรงข้ามผม คือซอยกิ่งเพชร

เราก็ไปดูรูปแบบร้านแล้วเปรียบเทียบกับบิ๊กเซเว่นกับเซเว่นฯ สมัยนั้นถ้าดูเทียบสินค้าบิ๊กเซเว่นมีเยอะกว่าเซเว่นฯ แต่เซเว่นฯ เนี่ยรูปแบบร้านใหญ่กว่าสวยกว่า สินค้าเน้นไปทางอาหารและเครื่องดื่ม ตอนนั้น Slurpee และพวกไส้กรอกดังมาก โดยเฉพาะไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่หาทานได้ยากมาก ราคาโคนละ 6 บาท

ซึ่งทาง 7-Eleven เค้าก็มีเจ้าหน้าที่ที่เค้าหาทำเลเปิดร้าน แต่ตอนนั้นเค้ามาแบบไม่ได้เปิดเผยตัวนะว่ามาหาทำเลให้เซเว่นฯ เค้าบอกว่ามีธุรกิจนึงวานให้เค้ามาหาทำเลหน่อย

คำแรกเลยเค้าถามว่า “เฮีย ทำร้านโชห่วยนี่เหนื่อยมั้ย” แน่นอนแหละเราเหนื่อย เพราะว่าเป็นธุรกิจไม่มีใครช่วย ทำกันเองในครอบครัว ไม่มีระบบบัญชีรองรับ เหนื่อยหน่ะมันเหนื่อยอยู่แล้ว

แล้วเค้าก็บอกว่า “เฮีย สนใจรับเงินก้อนนึงแล้วใช้ชีวิตสบายกว่านี้มั้ย” เราก็ เห้ย อยู่ดีๆ มีคนมาแหย่ มายื่นข้อเสนอให้เราสบายกว่านี้ นั่นก็คือการเปิดร้านเซเว่นฯ ที่ทำให้ร้านเป็นระบบมากขึ้น ผมและแฟนปรึกษากันแล้วก็สนใจ จึงตกลงร่วมธุรกิจกับ 7-Eleven

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-11

หลังจากที่ร้านเฮียกลายเป็น 7-Eleven แล้วเนี่ย ธุรกิจเป็นยังไงบ้างครับ มีการปรับตัวเยอะไหม

โอ้โห เราไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถดูแลร้านระดับนี้ได้ คือร้านมันใหญ่ รูปแบบร้านมันก็ทันสมัย สมัย 26 ปีที่แล้วเนี่ย 7-Eleven สาขานึงเหมือนห้างห้างหนึ่ง ตอนนั้นมันยังไม่ได้มีเยอะอย่างทุกวันนี้ ถ้าพูดถึงสมัยก่อน ถนนนึงนะอาจจะมีแค่สาขาเดียว หนึ่งชุมชนจะมีเซเว่นฯ เดียวประมาณนั้น อย่างถ้าพูดถึงเซเว่นฯ ประตูน้ำ เราจะนึกภาพสาขานั้นออก มันไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้

เริ่มแรกคือเราต้องไปอบรม ต้องทำตามระบบที่เค้าเซ็ตไว้ โห้ววววววววววว หน้าที่เราเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย มันต่างกันเยอะนะ อย่างเรื่องสินค้าเนี่ย เป็นหน้าที่ของ 7-Eleven เค้าจัดส่งให้เรา ก็คือตัดส่วนที่ต้องวิ่งไปซื้อเอง หรือแม้แต่การเลือกขายสินค้า กำหนดราคา จัดโปรโมชั่น ก็ไม่ใช่หน้าที่เรา

เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดซื้อ ข้างใน หน้าที่เราก็คือ ขายสินค้า บริหารร้าน บริหารพนักงานให้ได้ ตอนนั้นเรามีพนักงานอยู่ในความดูแลสิบกว่าคน และต้องทำงานตามระบบที่ 7-Eleven เค้าวางไว้ และให้ลูกค้าพึงพอใจกับร้านที่เราทำอยู่

แล้วตอนสมัยผมเนี่ย พนักงานล็อตแรกบริษัทหาให้หมด เค้าจะมีฝ่ายบุคคลรับสมัครพนักงานและอบรมเรียบร้อยแล้วค่อยส่งมาให้ผม ผมก็แค่มาบริหารงานต่อ ผมก็ต้องจัดการเวลาของพนักงานคือทำงานเป็นกะ ให้มันเข้าระบบของร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-23

ถ้าเทียบตอนเฮียเปิดร้านโชห่วยกับเป็น 7-Eleven แล้วเนี่ย เหนื่อยขึ้นหรือสบายขึ้นครับ

ใหม่ๆ เหนื่อยครับ เหนื่อย คือเราไม่เคยบริหารร้านซึ่งใช้พนักงานหลายคน ตัวสินค้าก็เยอะกว่าสมัยผมขาย มันมีเรื่องของโปรโมชั่น มันมีเรื่องของมาตรฐานร้าน อย่างการดูแลสินค้า ก็ต้องดูเรื่องสินค้าหมดอายุ สินค้าขายดีต้องมีครบบนเชลฟ์

เทียบกับของเก่าเราเนี่ย เราไม่มีสินค้าขาย เรารู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเป็น 7-Eleven เนี่ย เมื่อสินค้าบนเชลฟ์มันขาด ความรู้สึกมันดูฟันหลอไป ดูผ่านๆ แล้วมันดูผิดปกติ

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-19

ตั้งแต่เฮียเปิดสาขาแรก นานมั้ยครับถึงจะมีความคิดว่าจะเปิดสาขาสอง

จริงแล้วไม่มีความคิดที่จะเปิดสาขาที่สองครับ ไม่มีเลย ที่จริงแล้วพอตัดสินใจทำผมยังไม่รู้เลยว่าต้องทำไปกี่ปี

เป็นอย่างนี้ครับ คือ สาขาที่สองเนี่ย 7-Eleven เค้าจะไปหาทำเลที่น่าสนใจมา แล้วมาปรึกษาผม ซึ่งถ้าผมไม่เห็นด้วยบริษัทก็ยังไม่เปิด 7-Eleven เค้าก็ให้เกียรติผมนะ ถ้าไม่สบายใจไม่อยากเปิดก็ยังไม่เป็นไรก็ยังไม่เปิด แล้วสาขาที่สองที่เค้าแนะนำก็เป็นพื้นที่ใกล้กันมาก ถัดจากสาขาแรกไปอีก 8 คูหา

ตอน 7-Eleven ได้ทำเลเนี่ยผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเปิดได้มั้ย จะมาแย่งรายได้ของสาขา 1 ไปเท่าไหร่ ขณะกำลังสร้างเนี่ย ลูกค้าที่เดินผ่านบอก เห้ย มันเปิดได้เหรอ ซอยเดียวกันเปิดสองสาขาแบบนี้ ตอนนั้นผมก็คิดอยู่ 2-3 เดือนนะ ถึงจะเปิด พอเราตัดสินใจเปิด หลังจากนั้นก็ใช้เวลาเดือนนึงจนทำร้านเสร็จ

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-1

ที่เฮียบอกว่าตัดสินใจ 2-3 เดือนเฮียคิดเรื่องอะไรบ้างครับ

เราไม่แน่ใจว่าเปิดเป็น 7-Eleven แล้วจะโอเคมั้ย ไม่เหมือนกับสมัยนี้นะ คือ สมัยนี้หลายทำเลที่เค้าเคยเปิดแล้วมีผลประกอบการแล้ว เอามาคิด เอามาคำนวนเพื่อวางแผนได้ แต่เมื่อก่อนมันเป็นความเสี่ยง ทุกร้านมันมี Fixed Cost ถ้าขายได้ไม่เกิน Fixed Cost ก็คือขาดทุน ไม่มีใครมาการันตีว่าไพ่ที่หงายขึ้นมามันใช่มั้ย

 

แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้เฮียตัดสินใจตกลงทำครับ

ตอนที่ผมคิดจะลงทุนทำอย่างอื่นเพิ่มเนี่ย เคยมีความคิดว่าจะทำธุรกิจอย่างอื่น ผมก็ไปศึกษาธุรกิจซักอบรีด ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ แต่ตอนนั้นซักอบรีดกลุ่มเป้าหมายในเพชรบุรีซอย 5 ไม่มีเลย ถ้าเปิดไปก็ไม่คุ้มแน่นอน ก็เปิด 7-Eleven แล้วกัน เพราะเราก็คุ้นเคยกับธุรกิจนี้มาแล้ว

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-5

หลังจากเริ่มทำสาขาที่สอง มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างครับ

โอ้ว งานผมเบาขึ้นเยอะเลยเพราะมีคนมาช่วยขาย คือ มีอีกสาขานึงมาแบ่งลูกค้าผมไปก็ทำให้ทำงานง่ายขึ้นมาก และมันก็เป็นของเราไง ใหม่ๆ รายได้มันหายนะ เพราะเทียบกับ Fixed Cost ที่เราต้องจ่ายพนักงานก็เยอะขึ้น เม็ดเงินที่เราได้มันหายไป แต่ว่ารูปแบบบริหารมันก็สบายขึ้น เพราะว่ามีอีกสาขามาช่วยรองรับลูกค้า แต่พอเวลาผ่านไปสักสองปีมันเริ่มลงตัว ลูกค้าก็เยอะขึ้น ด้วยชุมชนที่มันหนาแน่นขึ้น

ปัจจุบันมีกี่สาขาแล้วครับ

ปัจจุบันมี 5 สาขาแล้วนะ ซอยที่ผมสงสัยว่ามันเปิดสองสาขาไม่ได้ มันกลายเป็นสามแล้วหล่ะตอนนี้

ตอนนั้นเฮียดูแลเองหมดใช่ไหมครับ

ใช่ๆ ทำเองสิบกว่าปี จนพอมีสาขาที่สามก็ยังดูแลกันเอง เป็นธุรกิจครอบครัว แต่พอเราก็อายุมากขึ้นลูกชายเรียนจบ เค้าก็ไปลองชีวิตตัวเองข้างนอกอยู่ระยะหนึ่ง ตอนหลังเราก็มอบหน้าที่ให้เค้าเยอะขึ้นๆ จนทุกวันนี้เค้าก็ดูแลเต็มตัวเลย 5 สาขา

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-26

พอมาถึงรุ่นลูกของเฮีย งานที่เฮียเคยทำ รุ่นลูกยังทำอยู่เปล่าครับ

ทุกวันนี้รูปแบบร้านเหมาะกับคนรุ่นใหม่นะ คือ 7-Eleven เค้านำระบบ IT เข้ามาใช้มากขึ้น ระบบการขายก็ผ่าน POS เป็นเครื่องคิดเงินซึ่งมันสามารถประมวลผลการขายได้ มีโปรโมชั่นมีอะไรก็คิดให้เสร็จตรงนั้นเลย

การสื่อสาร การบริหาร การจัดการมันทำงานง่ายขึ้นกว่ารุ่นของผม การประมวลข้อมูลก็ดีกว่าผมเยอะ แล้วมันก็เหมาะกับคนอย่างเค้า ล่าสุดเนี่ย สั่งสินค้าผ่าน Tablet ได้ สมัยผมทุกอย่างเป็น Manual จดลงกระดาษ ต่อมาก็มีใช้ผ่านอินเตอร์เน็ตบ้าง มีโมเด็มต่อกับเครื่อง แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-8

การจัดการหลายสาขามีความยากอย่างไรบ้างครับ

ความยากไม่ค่อยมีนะเพราะว่ารูปแบบของร้านแต่ละสาขามันเหมือนกันไง มันเป็นธุรกิจเดียวกัน งานมันก็เหมือนเดิมทุกสาขา แค่มีงานซ้ำแบบเดิมเพิ่มขึ้นมา บางครั้งถ้ามันมีปัญหาเกิดขึ้นที่สาขาหนึ่ง เราก็มีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหานั้นแล้ว อีกสาขานึงเราสบายๆ เลย เพราะยังไงมันก็เป็นรูปแบบเดียวกัน

 

เฮียคิดยังไงกับการที่ 7-Eleven แย่งร้านโชห่วย

อืมมมม… ทุกวันนี้ร้านโชห่วยในซอยยังอยู่นะ บางครั้งสินค้าที่เราไม่ได้ขายก็เป็นความต้องการของคนในชุมชน พวกสินค้าที่ใช้ทำครัวเนี่ย 7-Eleven อย่างอาหารสด น้ำตาลปิ๊บ กะปิ น้ำมันพืชขายเป็นปิ๊บๆ เราก็ไม่ได้ขาย มันขายคนละแบบ กลุ่มลูกค้า 7-Eleven โดยแท้ๆ เนี่ย จะเป็นกลุ่มคนทำงาน กลุ่มคนที่ซื้อทาน ไม่ได้ทำอาหารกินเอง

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-22

มีของอะไรที่หายไปจากเซเว่นฯ แล้วเสียดายบ้างไหมครับ

ทุกวันนี้นะ ผมนึกถึงไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ มันจะเป็นเครื่องทำเกลียวไอติมอยู่หลังแคชเชียร์ ซึ่งเรามีหน้าที่ทำให้ลูกค้า ด้วยที่ Cost มันสูงเพราะเครื่องมันแพง เมื่อก่อนขายโคนละ 6 บาท ไม่คุ้มต้นทุนครับ

 

สุดท้ายนี้… ถ้ามีใครกำลังสนใจเปิดสาขา 7-Eleven เฮียมีอะไรอยากฝากถึงบ้างไหม

คือ มองผ่านๆ ในมุมมองลูกค้ามันก็ดูง่ายนะ ลองมาทำใหม่ๆ มันไม่ง่าย แต่ถ้ามีใจรัก จับงานแล้วลงตัว มีใจบริการ รักที่จะบริหารงานบุคคล มันก็ไม่ยาก การทำร้านหรือการทำอะไรทุกอย่าง หน้างานมันก็ต้องมีปัญหาเกิดขึ้นมาตลอด

ถ้าเราผ่านมาจนเคยชินเราก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เหมือนชีวิตคนทำงานมันก็มีทุกอย่าง เปรียบเทียบคนทำงานใหม่ กับคนทำงานมาแล้ว 5-10 ปี ถ้าไปถามคนที่ผ่านมาสิบปี เค้าก็บอก เอ้ย ชิวๆ แต่ถ้าเราเพิ่งเข้าไปทำงานใหม่ๆ ถามว่าเป็นไง โห้ยยยย หันซ้ายหันขวาก็เจอปัญหาเต็มไปหมด ทำอะไรก็ไม่ถูก ความจริงก็เจอเหมือนกันนั่นแหละ แต่ประสบการณ์ต่างกัน

 

interview-uncle-ming-from-grocery-store-to-7-eleven-franchise-35

และนี่ก็คือบทสัมภาษณ์แบบนั่งคุยกันชิวๆ กับเฮียมิ้งชายผู้เป็นตำนานของ 7-Eleven ครับ

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน Mango Zero


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save