category รู้จัก “มาร์เบิร์ก” ไวรัสสายพันธุ์รุนแรงที่ทั่วโลกจับตาเฝ้าระวัง!

Writer : uss

: 19 กรกฏาคม 2565

ในช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 กำลังคลี่คลายลง ทั่วโลกกลับต้องเตรียมรับมือเฝ้าระวังกันอีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกานายืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก 2 รายแรก พร้อมระบุว่าผู้ป่วยทั้งสองเสียชีวิตแล้ว หลังจากมีผลตรวจเป็นบวกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

โดยขณะนี้ยังมีผู้สงสัยว่าป่วยติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กกว่า 98 ราย ที่กำลังถูกกักกันเพื่อดูอาการอยู่ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก หลังจากมีการพบผู้ป่วยรายแรกในกินี และเสียชีวิตเมื่อสิงหาปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม..องค์การอนามัยโลกไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเฝ้าจับตาการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กอย่างใกล้ชิด เพราะพบแนวโน้มว่า อาจเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในเร็ว ๆ นี้

เพื่อเป็นการรับมือและเฝ้าระวังอย่างถูกวิธี Mango Zero เลยอยากพาทุกคนมารู้จัก “มาร์เบิร์ก” ไวรัสสายพันธุ์รุนแรงที่หลายคนคุ้นหูว่ามีความสัมพันธ์กับโรคอีโบลา โดยไวรัสชนิดนี้จะเป็นอย่างไร และจะน่ากลัวแค่ไหน เรามาติดตามกันเลยยยยย~

จุดกำเนิดไวรัสมาร์เบิร์ก

เชื้อไวรัสมาร์เบิร์กถูกค้นพบครั้งแรกปี 1967 ที่เมืองมาร์เบิร์ก และแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี รวมถึงยังพบในกรุงเบลเกรดของเซอร์เบียอีกด้วย ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทั่วโลกได้รู้จักไวรัสตัวนี้ โดยการระบาดนั้นเกิดจากห้องปฏิบัติการที่มีการใช้ลิงเขียวแอฟริกันนำเข้าจากยูกันดาเข้ามาทดลอง 

ต่อมาหลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาด และพบผู้ป่วยติดเชื้อในอีกหลายประเทศ อาทิ แอฟริกาใต้ แองโกลา เคนยา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนที่มีประวัติเดินทางล่าสุดไปซิมบับเวและยูกันดา โดยในปี 2008 มีรายงานผู้ติดเชื้อ 2 ราย ที่มีประวัติการเดินทางไปยังถ้ำที่มีค้างคาวชนิด Rousettus Bat ในยูกันดาก่อนติดเชื้อ 

ตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา 

ไวรัสมาร์เบิร์กนั้นอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ จะเรียกว่า โรคไข้เลือดออกแอฟริกัน (African Hemorrhagic Fever) ก็ไม่ผิด เพราะมีอาการที่ทำให้เลือดออกภายในร่างกายไม่หยุดจนเสียชีวิต 

ตัวการแพร่เชื้อ

อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า การติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในมนุษย์เริ่มมาจาก… ผลของการสัมผัสกับเหมืองหรือถ้ำที่มีค้างคาว Rousettus Bat อาศัยอยู่รวมกลุ่มเป็นเวลานาน หรืออาจจะเกิดจากการล่าและรับประทานเนื้อสัตว์ป่า 

เมื่อติดเชื้อแล้วก็สามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นผ่านการสัมผัสของเหลวในร่างกายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น เลือด สารคัดหลั่ง ตลอดจนพื้นผิว และวัสดุที่ปนเปื้อน อย่างเช่น เครื่องนอน เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านี้ก็ทำให้เราติดเชื้อได้

อาการของโรค 

ไวรัสมาร์เบิร์กจะมีระยะฟักตัวแตกต่างกันไปตั้งแต่ 2 ถึง 21 วัน ซึ่งอาการป่วยจะเริ่มขึ้นอย่างกะทันหัน นั่นก็คือ มีไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงในวันที่ 3 เป็นต้นไปจะเริ่มมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาการท้องร่วงเป็นน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาการนี้อาจเป็นได้ยาวถึง 1 สัปดาห์ 

ซึ่งเปรียบได้ว่าผู้ป่วยระยะนี้มีลักษณะเหมือนผี ตาลึก ใบหน้าไร้อารมณ์ และความเฉื่อยอย่างสุดขีด และยังมีผื่นที่ไม่คันเกิดขึ้นระหว่าง 2 ถึง 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการ

หลังจากนั้นผู้ป่วยจำนวนมากจะมีอาการเลือดออกรุนแรงภายใน 7 วัน และมักจะเสียชีวิตเพราะมีเลือดออกมาจากหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น เลือดสดในอาเจียนและอุจจาระ เลือดออกจากจมูก เหงือก ช่องคลอด และจุดที่เจาะเลือดเพื่อนำเก็บไปเป็นตัวอย่างการรักษา 

ในช่วยระยะรุนแรงผู้ป่วยจะมีไข้สูงต่อเนื่อง และส่งปัญหาต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจส่งผลให้เกิดความสับสน หงุดหงิด ก้าวร้าว บางรายมีการอักเสบของลูกอัณฑะ (ช่วง 15 วัน) กรณีที่เสียชีวิต มักเสียชีวิตระหว่าง 8-9 วันหลังมีอาการ โดยมักจะมีการสูญเสียเลือดและช็อกอย่างรุนแรง

อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 24-88%

การระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นับได้กว่า 10 ครั้ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก อัตราการเสียชีวิตมีหลากหลายระดับ จาก 24% ไปจนถึง 88% และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส และการบริหารจัดการผู้ป่วยในแต่ละครั้ง

โดยในปี 2005 มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 รายในแองโกลา เป็นการระบาดที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนในประเทศอื่น ๆ ที่พบผู้ป่วยจากไวรัสมาร์เบิร์กเช่น คองโก, เคนยา, แอฟริกาใต้และยูกันดา

วิธีการรักษา

ณ ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่สามารถรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กได้ อย่างไรก็ตามแพทย์ทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคองตามอาการเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต นอกจากนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแนวทางการรักษาเพิ่มเติม อาทิ ใช้ผลิตภัณฑ์จากเลือด การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน และการรักษาด้วยยาจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอติดตามต่อไป 

ทั้งนี้พวกเราก็ต้องคอยเฝ้าระวัง และติดตามข่าวสารอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งที่พวกเราทำได้ง่าย ๆ ในตอนนี้คือ ควรหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีอยู่ทุกวัน ในขณะเดียวกันทางด้านองค์การอนามัยโลกก็กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้น ไปพร้อมกับการสืบสวนหาที่มาของเชื้อ เพื่อหาวิธีการรักษา และป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กในอนาคตข้างหน้า

ที่มา : World Health Organization , Pidst

Writer Profile : uss
ชอบฟังเพลงพอๆ กับชอบนอนหลับ :)
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save