จะเถียงทั้งทีก็ให้มันถูก! มารู้จักกับการให้เหตุผลแบบผิดๆ กันเถอะ

Writer : Patta.pond

: 3 เมษายน 2562

ทุกวันนี้มีการโต้เถียงเกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน น้องเถียงพี่ เพื่อนเถียงเพื่อน เหตุผลไหนที่ฟังแล้วรู้สึกสมเหตุสมผลก็คุยแล้วจบกันไป แต่ถ้าฟังแล้วมันดูทะแม่งๆ ประเภทต้องคิดต่อในใจว่าแบบนี้ก็ได้หรอ ก็อาจเลยเถิดจนทะเลาะกันอย่างไม่จบไม่สิ้นได้ แต่ใครจะรู้ว่าอีกฝ่ายอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แค่ไม่รู้จริงๆ ว่าการเถียงแบบนี้มันผิด! 

เหตุผลที่ผิดหลักนั้นเรียกอีกอย่างว่า เหตุผลวิบัติ หรือ ตรรกะวิบัติ (fallacy) คือการยกเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนข้อสรุป (ที่คนส่วนใหญ่ชอบพูดกันว่า เหตุผลฟังไม่ขึ้น)  มาดูกันว่ามีเหตุผลประเภทไหนบ้างที่ไม่ควรใช้

การโจมตีตัวบุคคล (appeal to the person)

คือการที่โจมตีไปยังตัวบุคคลที่พูดหรือระบุเนื้อหาประเด็นนั้นๆ โดยไม่ได้สนใจในตัวประเด็นเลย

ตัวอย่าง a : เราควรหันมารักษ์โลกด้วยการงดใช้ถุงพลาสติก

b : แต่เมื่อวานก็เห็นซื้อขวดน้ำพลาสติกอยู่เลยนะ แบบนี้จะน่าเชื่อถือได้ยังไง

การที่ a ซื้อขวดน้ำพลาสติก ถึงแม้จะผิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความจริงเรื่องความสมควรในการรักษ์โลกด้วยการงดใช้พลาสติกผิดไป ดังนั้นการพูดแบบโจมตีไปที่ตัวบุคคลจึงไม่ถูกต้อง

การอ้างคนหมู่มาก (appeal to the majority)

ข้อนี้พวกเรามักเป็นกันโดยไม่รู้ตัว ก็คือการที่เราทำตามเพราะคนส่วนใหญ่ทำนั่นเอง (ในสุภาษิตไทยก็มีนะ คือคำว่า “พวกมากลากไป”)

ตัวอย่าง a: *ขับรถบนฟุตปาธ*

b: ทำไมถึงทำแบบนั้นล่ะ มันเป็นเรื่องที่ผิดนะ

a: ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ใครๆ ก็ทำกัน

ความจริงแล้วเป็นการให้เหตุผลที่ผิด เพราะการที่คนส่วนใหญ่ทำสิ่งนั้น ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ทำจะเปลี่ยนจากผิดเป็นถูกได้

การอ้างความภักดี (appeal to loyalty)

เป็นการโต้แย้งด้วยการอ้างถึงความชอบหรือความจงรักภักดี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประเด็นที่กำลังโต้แย้งกันอยู่

ตัวอย่าง a: น้ำเปล่าอร่อยที่สุด

b: จริงหรอ แต่เครื่องดื่มอื่นมีน้ำตาล น่าจะทำให้รสชาติกลมกล่อมกว่าหรือเปล่า

กลุ่มที่จงรักภักดีต่อ a : อย่าเถียง a สิ! สิ่งที่ a พูดถูกเสมอ ถ้าไม่จงรักภักดี a ก็ออกไปซะ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะไม่ว่า b จะจงรักภักดี a หรือไม่ ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ a หรือ b พูดนั้นถูกหรือผิด พูดง่ายๆ ก็คือ ความจงรักภักดีไม่ได้เป็นตัวแปรที่ทำให้เหตุผลนั้นๆ กลายเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิดได้นั่นเอง

การอ้างอำนาจ (appeal to force)

ก็คือการใช้อำนาจที่ตัวเองมี คุกคาม ข่มขู่ หรือบิดประเด็นเพื่อทำให้การโต้แย้งนั้นอ่อนลง

ตัวอย่าง ลูกน้อง : เราควรให้รางวัลพนักงานดีเด่นกับ b ไหมครับ เขาขยันทำงานมาก

หัวหน้า: ผมไม่ให้รางวัลเขาหรอก และถ้าคุณยังพูดอีก ผมจะหักเงินเดือนคุณด้วย

แบบนี้เป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้อง เพราะการข่มขู่ อาจจะทำให้รู้สึกหวาดกลัว แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความถูกผิดของประเด็นนั้นได้

การทวนคำถาม (begging the question)

คือการสรุปโดยเอาคำถามมาเป็นคำตอบ เป็นการให้เหตุผลแบบวนไปวนมา สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้เหตุผลที่แท้จริง (เป็นการอ่านแล้วแบบ เอ้า แล้วยังไงต่อ)

ตัวอย่าง a: หน้าที่ของลูกคือเชื่อฟังพ่อแม่ เพราะเป็นหน้าที่ของลูก

การพูดแค่ว่าเป็นหน้าที่ แต่ไม่ได้แจกแจงว่าเป็นหน้าที่อย่างไร สุดท้ายแล้วก็จะวกกลับไปที่ต้นประโยคอยู่ดี เป็นการให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้อง

การขอความเห็นใจ (appeal to pity)

อีกหนึ่งเหตุผลผิดยอดนิยม เพราะว่าเราคนเป็นคนไทยใจดี นั่นก็คือการยกประเด็นที่ทำให้ตัวเองดูน่าเห็นอกเห็นใจ จนสิ่งที่ตัวเองพูดกลายเป็นประเด็นที่ถูกได้

ตัวอย่าง a: ให้ผมได้รางวัลนี้เถอะครับ ผมอยู่ตัวคนเดียวและมีแมวที่ต้องเลี้ยงดู

การใช้ความน่าสงสารแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิด เพราะความน่าเห็นอกเห็นใจไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของเหตุผลนั้นได้

การอ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance)

คือการด่วนสรุปประเด็นเพราะยังไม่มีหลักฐานหรือพยานยืนยันที่แน่ชัด ก็เลยจบประเด็นมันซะเลย

ตัวอย่าง a: เอเลี่ยนไม่มีอยู่จริง เพราะไม่มีหลักฐานมายืนยัน

การให้เหตุผลแบบนี้ผิด เพราะไม่มีหลักฐานพิสูจน์แน่ชัดว่าตกลงแล้วเอเลี่ยนมีจริงหรือไม่ จึงยังไม่สามารถสรุปได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตรรกะวิบัติเท่านั้น จริงๆ แล้วการใช้เหตุผลที่ผิดยังมีอีกหลายข้อ หากเรียนรู้และนำไปใช้อย่างระมัดระวังและถูกต้อง ก็จะทำให้การให้เหตุผลของเรามีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าการโต้เถียงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์กันนะ <3

ที่มา wikipedia

TAG : fallacy , reason , why
Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save