‘ถ้าใจเราผอม เราก็จะผอม’ ประโยคนี้อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากสำหรับคนอยากหุ่นดี เพราะการออกกำลังกาย ไม่ใช่แค่เพื่อให้รูปร่างดี แต่เพื่อให้สุขภาพเราดีด้วย ซึ่งการออกกำลังกายควรไปด้วยกันกับการกินอาหารที่มีประโยชน์ การผอมไม่ใช่สิ่งที่ดี การรูปร่างดีไปพร้อมกับสุขภาพดีคือสิ่งที่ใครๆ ก็อยากได้ บางคนอาจจะรู้สึกว่า ยากกว่าการคุมอาหารก็การออกกำลังกายนี่แหละ แต่ละคนก็มีเหตุผลที่ไม่ออกกำลังกาย เหนื่อยง่ายบ้าง ไม่มีเวลาบ้าง สิ่งเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นข้ออ้างที่ขัดขวางการออกกำลังกาย มาดูวิธีกำจัดข้ออ้างเหล่านี้เพื่อให้เรามีรูปร่างและสุขภาพดีที่ไม่มีใครทำแทนได้นอกจากตัวเราเอง วางแผนการออกกำลังกาย ทำตารางการออกกำลังกายที่ชัดเจน ว่าเราจะออกกำลังกายบ่อยแค่ไหนในสัปดาห์ หรือนานแค่ไหนในหนึ่งวัน ถ้าเพิ่งเริ่มต้นไม่ควรออกกำลังกายหนักและหักโหม ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ปรับตารางไปตามที่ร่างกายเรารับได้ ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไงลองหาจากเว็บไซต์ออกกำลังกายหรือในยูทูปก็ยังได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องมีวินัยกับตัวเอง ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ เมื่อเราตั้งเป้าหมายในการทำอะไรสักอย่าง เราก็จะมีแรงจูงใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย แต่ต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ อย่ากดดันว่าเราจะต้องลดน้ำหนักให้ได้มากๆ จะต้องทำได้เหมือนคนอื่น เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าตั้งเป้าหมายยากเกินไปจะทำให้เราหมดกำลังใจในการออกกำลังกายได้ง่ายๆ ซื้อไอเทมออกกำลังกาย ก่อนจะเริ่มต้นออกกำลังกายก็ต้องมีอุปกรณ์ รองเท้าเอย อะไรเอย เลือกซื้อชุดออกกำลังกาย รองเท้าผ้าใบแบบที่ถูกใจไปเลย ถ้าแค่นี้ยังทำให้มีแรงดึงดูดใจให้ออกกำลังกายไม่พอ ลงทุนซื้อนาฬิกาออกกำลังกายแบบสมาร์ทวอชซักเรือน ซื้อมาราคาแพงก็คงไม่อยากวางทิ้งไว้ ต้องลุกไปออกกำลังกายบ่อยขึ้นแน่นอน ช้อปปิ้งไอเทมสำหรับออกกำลังกาย จะได้มีแรงบันดาลใจอีกนิด -> เสื้อผ้า รองเท้าออกกำลังกาย ดูรูปหุ่นในฝัน การดูรูปคนรูปร่างดีๆ มีกล้ามเนื้อที่ได้จากการออกกำลังกาย จะทำให้เรามีแรงจูงใจและเป้าหมายในการออกกำลังกายว่าใครก็สามารถรูปร่างดีได้ถ้ามีความตั้งใจ แต่ไม่ควรใช้เพื่อกดดันตัวเองว่าจะต้องหุ่นเหมือนใคร เพราะแต่ละคนมีร่างกายที่แตกต่างกัน เมื่อออกกำลังกายไประยะหนึ่งเราก็จะรูปร่างดีในแบบของตัวเอง บันทึกผลลัพธ์จากการออกกำลังกาย หลังออกกำลังกายทุกครั้งให้บันทึกไว้ว่าเราเผาผลาญได้เท่าไหร่ ระยะเวลานานแค่ไหน ถ้าหากเป็นการวิ่งก็สามารถบันทึกระยะทางได้ รวมถึงบันทึกผลลัพธ์ที่ได้จากการออกกำลังกาย ว่าร่างกายเราเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง จะด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดสัดส่วน คำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) ไปจนถึงตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody) สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำหรือต้องการควบคุมน้ำหนัก การบันทึกสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของตัวเอง และจะรู้สึกอยากออกกำลังกายให้ร่างกายพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หาเพื่อนออกกำลังกาย เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนออกกำลังกายหายาก แต่ถ้าหาเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยกันได้จะทำให้เรามีแรงจูงใจมากขึ้น มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าวันนี้จะออกกำลังกายอะไร นานแค่ไหน และบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันแบบไม่ล้มเลิกกลางคัน เหมือนที่บางทีเราแอบถอดใจตอนออกกำลังกายคนเดียว